การเลือกตั้งครั้งสำคัญ วันที่ 24 มีนาคมนี้ พรรคการเมืองส่วนใหญ่อาจ ไม่ได้หวังอะไรมาก ขอเพียงแต่ให้มีการเลือกตั้ง กลับคืนสู่ประชาธิปไตย พรรคส่วนใหญ่อาจมุ่งหวังจะมีส่วนร่วมรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งวางตัว เป็นกลาง ให้ ส.ส. 500 คน จากการเลือกตั้งเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี

แต่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อาจหวังมากกว่านั้น หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พูดผ่านสื่อมวลชนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะยุติการสืบทอดอำนาจ คสช.เท่านั้น แต่ จะต้องไปไกลกว่าเดิม คือยืนยันว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น ไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนอก ตามหลักการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็นคนนอก เพราะไม่ได้สมัคร ส.ส.

หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ กล่าวว่า หลักการนายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.มีมานานแล้ว ซึ่งเป็นความจริง เพราะมีตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2517 นาน 45 ปีมาแล้ว เป็นฉบับแรกที่ระบุชัด “นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็น ส.ส.” และสืบทอดหลักการนี้ โดยรัฐธรรมนูญทุกฉบับ (เว้นฉบับคณะรัฐประหาร) จนถึงฉบับ 2550 ที่ คสช.ฉีกทิ้ง

นายกฯมาจาก ส.ส. เพื่อให้หัวหน้ารัฐบาลมาจากเลือกตั้ง เป็นผู้แทนของประชาชนอย่างแท้จริง สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “รัฐบาลของประชาชน” เป็นหลักการที่รับมาจากอังกฤษ แม่บทของประชาธิปไตยระบบรัฐสภา แม้อังกฤษจะไม่มีรัฐธรรมนูญเขียนบังคับ แต่เป็นประเพณีการปกครองประชาธิปไตยที่ยึดหลักการนี้มาช้านาน

คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 พยายามหาทางไม่ให้นายกฯที่มาจากผู้นำ คสช. ถูกมองเป็น “นายกฯคนนอก” จึงให้ทุกพรรคเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นนายกฯได้พรรคละ 3 ชื่อ ไม่ถือว่าเป็นคนนอก แต่เป็น “คนใน” มีชื่ออยู่ในรายชื่อพรรค แต่ไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง ส่วนหลักการนายกฯต้องเป็น ส.ส. จะสำเร็จได้ก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญไทยมักแก้ยากแต่ฉีกทิ้งง่าย

...

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในเวทีเสวนาแห่งหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ระบุว่าการเมืองไทยตามรูปแบบที่รัฐธรรมนูญนี้วางไว้ ไม่ใช่แค่สืบทอดอำนาจ แต่เป็นการสร้างเงื่อนไข ให้ระบอบอำนาจนิยมดำรงอยู่ต่อไป ถ้า คสช.อยู่ในอำนาจต่อ การเมืองจะเป็น “เผด็จการครึ่งใบ” แบบเดียวกับรัสเซีย ตุรกี และกัมพูชา แต่ยังมีความหวังในประชาธิปไตยอยู่

อาจารย์เรียกร้องให้ฝ่ายเสรีนิยมหรือประชาธิปไตย ร่วมกันผลักดันให้เกิดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รื้อกฎหมายลูกที่ไม่ตอบสนองต่อการนำประเทศสู่อนาคต รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติ กอ.รมน.ซึ่งกลายเป็นหนึ่งกระทรวงที่ซ่อนอยู่ และถึงเวลาที่กองทัพไทยจะกลับสู่ทหารอาชีพ ไม่ใช่ทหารการเมือง อาจารย์ให้กำลังใจว่าสิ่งที่เหลืออยู่วันนี้คือ “กองทัพคุมมือเราในคูหาเลือกตั้งไม่ได้”.