รัฐบาลประสานเสียงผลักดันกฎหมายไซเบอร์ ขจัดภัยคุกคามต่อโครงสร้างทางไซเบอร์ของประเทศ “ประยุทธ์” อ้างทั่วโลกต้องการกฎหมายกลางป้องกันถูกโจมตีระบบ ระบุไม่ล้ำเส้นละเมิดสิทธิมนุษยชนแน่นอน คำรามอย่าทำผิดกติกา ไม่เช่นนั้นเป็นคดีแล้วจะเดือดร้อน “ประจิน” อ้อมแอ้มรื้อปมร้อน การันตีไม่ลักไก่ลัดขั้นตอนเข้า สนช.โดยไม่ผ่าน ครม. “ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์” เผยเข้า ครม.เร็ววันนี้ เร่งเข้า สนช. ภายในเดือน พ.ย.61 ปชป.ค้านผุดองค์กรใหม่คุมดิจิทัล แนะ สนช.ต้องยึดหลักนิติธรรม วิปฝ่ายนิติบัญญัติพร้อมกลั่นกรองให้รอบคอบ ไม่กระทบต่อสิทธิภาพประชาชน

ท่ามกลางสังคมจับตากระทรวงดีอี เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ โดยถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นกฎหมายไซเบอร์ติดหนวด ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ค่อนข้างกว้างขวาง โดยเฉพาะอำนาจของเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) สามารถเข้าตรวจสอบสถานที่ เข้าถึงทรัพย์สินสารสนเทศ ยึดคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ใดๆโดยไม่ต้องขอหมายจากศาล และไม่มีมาตรการตรวจสอบการใช้อำนาจของเลขาธิการ กปช. กำหนดโทษหนักฝ่าฝืนจำคุก 3 ปี ปรับ 3 แสนบาท ล่าสุดนายกรัฐมนตรีระบุว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายดังกล่าว

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. เวลา 13.15 น. ที่ทำเนียบ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เตรียมปรับปรุงเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคง ปลอดภัยไซเบอร์ หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อผลักดันเข้าสู่การพิจารณา สนช.ให้ทันภายในเดือน ต.ค.นี้ว่า เรื่อง พ.ร.บ.ไซเบอร์ไม่อยากจะบอกว่าเป็นเพราะรัฐบาลนี้ ทั้งโลกกำลังหารือเพื่อดูแลเรื่องนี้อยู่ เนื่องจากภัยไซเบอร์มันมีเยอะแยะ อยู่ใกล้ๆกันระหว่างเส้นละเมิดสิทธิมนุษยชนกับการทำความผิดกฎหมาย วันนี้เราก็โดนหลายเรื่องด้วย ทั้งๆที่บางทีไม่ใช่ข้อเท็จจริง บางทีเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ก็ต้องถูกลงโทษ กลายเป็นว่าไปปิดกั้น ละเมิดสิทธิของเขา แต่ต้องไปย้อนดูถ้าคนทำผิดกฎหมาย ถูกควบคุมตัวและถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย ไม่ให้ความเป็นธรรมก็เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน

...

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เวลาไปต่างประเทศก็พยายามอธิบายตลอด เนื้อหากฎหมายอาจจะแตกต่างจากต่างประเทศบ้าง ต้องไปแยกแยะให้ออกว่ากลุ่มประเทศทั้งหมดมีกี่กลุ่มประเทศ มีมหาอำนาจ หมู่เกาะ สาธารณรัฐ สหภาพ มีหมดทุกประเทศ มีการปกครองที่แตกต่างไป ฉะนั้นการปกครองที่แตกต่างกัน จะมีกฎหมายเกี่ยวเนื่องตรงกลางอย่างไร เพราะแต่ละประเทศมีการใช้โซเชียล-ออนไลน์ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วย ถ้ามันไม่ใช่ข้อเท็จจริงแล้วโจมตีตรงนี้เศรษฐกิจธุรกิจก็ไปกันหมด ดังนั้นจำเป็นต้องมีกฎหมายกลางออกมา ที่แสดงให้เห็นว่าไม่ไปละเมิดใคร ต้องระมัดระวัง อย่าไปมองอย่างเดียวว่ารัฐบาลต้องการปิดกั้น อยากให้มองว่าไปต่างประเทศทุกประเทศพูดเรื่องนี้หมด หารือเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ออกมาให้ได้ ไม่เช่นนั้นวันหน้ามันจะมีอันตรายในการใช้ระบบดิจิตอลต่างๆในการทำงาน เมื่อถามว่าเนื้อหากฎหมายฉบับนี้หนักกว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า “มันก็ไม่หนักสักอัน ถ้าคุณไม่ได้ทำความผิด วันนี้หลายคนนิสัยคนไทยก็ปล่อยๆไปเถอะ ขี้เกียจไปยุ่งกับเขา ขี้เกียจไปขึ้นศาล มันเลยได้ใจกันไปใหญ่ เขียนกันไปใหญ่ ผมว่าก็ขึ้นอยู่กับความอดทน เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล มันขึ้นกับว่าจะอดทนได้แค่ไหน แต่อย่าลืมกฎหมายคือกฎหมาย ถ้าเมื่อไหร่มีปัญหาขึ้นมามากๆแล้วเป็นคดีท่านจะเดือดร้อน ไม่ได้ขู่ใคร ผมเองก็ต้องระมัดระวังในการใช้กฎหมายของผม”

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ยุติธรรม ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวหลังการประชุม ครม.ว่า ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ยังไม่ได้เสนอเข้าที่ประชุม ครม. อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว กระทรวงดีอีจะนำไปพิจารณาดูว่ามีสิ่งใดที่ต้องทบทวนปรับแก้บ้าง จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม. ถ้า ครม.มีมติเห็นชอบจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป ยืนยันว่าไม่มีลักไก่ลัดขั้นตอนตามที่มีกระแสข่าว เมื่อถามว่ามีบางฝ่ายเสนอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนเนื้อหา พล.อ.อ.ประจินตอบว่า แต่ตอนนี้เทคโนโลยีมาถึงตัวเราทุกคนแล้ว

ขณะที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ หลักการคือ เมื่อพบว่ามีใครทำผิดแล้วสามารถตรวจจับได้ เพราะถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย จะให้ไปนั่งเฝ้าคงเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ กฎหมายสำคัญๆ รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน คาดนำเสนอเข้าสู่ ครม.อย่างช้าต้นเดือน พ.ย.นี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์จะเข้า ครม.เร็วๆนี้ เพราะเป็นกฎหมายสำคัญและต้องเร่งนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ภายในเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายที่ สนช.จะผลักดันกฎหมายที่สำคัญให้แล้วเสร็จ ส่วนจุดที่เป็นปัญหาและสังคมกังวลคือ กรณีภาวะฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่สามารถไปฐานข้อมูลซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยได้นั้น กฎหมายดังกล่าวอาจมีลักษณะเป็นดาบ 2 คม เพราะข้อมูลเหล่านี้ไปเร็วมาเร็ว ถ้าจะป้องกันอะไรได้ก็ต้องทำ ถ้ารอทำตามขั้นตอนอาจไม่ทัน แต่ต้องระมัดระวัง สร้างสมดุลให้ดีระหว่างเจตนารมณ์ของกฎหมายกับการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการป้องกันการจู่โจมทางไซเบอร์ (Cyber Attack) และต้องควบคุมไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกต้องด้วย

ด้านนายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงดีอีเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์เข้าสู่ ครม. เตรียมส่งให้ สนช.พิจารณา โดยถูกวิพากษ์วิจารณ์มีเนื้อหาหมิ่นเหม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนว่าเห็นด้วยในหลักการจำเป็นต้องมีกฎหมายดังกล่าว เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีในโลกไซเบอร์ก้าวหน้าไปมาก จำเป็นต้องมีกฎหมายมาควบคุม แต่เนื้อหาสาระในกฎหมายต้องมีความชัดเจนว่าจะต้องใช้บังคับเฉพาะเรื่องกระทบความมั่นคงต่อสถาบันและราชอาณาจักรจริงๆ ต้องไม่มีเนื้อหาไปละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน เชื่อว่าเมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่ในชั้น ครม. และคณะกรรมการกฤษฎีกา คงจะมีการปรับปรุงเนื้อหาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความสบายใจ จะไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือหากร่างกฎหมายมาถึงชั้น สนช. ยืนยันได้ว่า สนช.จะกลั่นกรองกฎหมาย เพื่อให้เกิดความสบายใจ ไม่ให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน จะต้องใช้อำนาจอย่างระมัดระวัง รู้สึกไม่สบายใจที่บอกว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มุ่งหวังผลจะใช้ควบคุมการเลือกตั้ง ทำไม่ได้ ผิดรัฐธรรมนูญเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนแน่นอน

ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสปท. และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีกระทรวงดีอีเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภัยไซเบอร์ ให้มีผลบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้ง จนถูกเสียงวิจารณ์ว่าเป็นกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐล้นฟ้าในการล้วงลึกข้อความโพสต์ แชต บุกค้นไม่ต้องมีหมายศาลว่า เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงอิทธิพลของการสื่อสารยุคใหม่ได้ กฎหมายฉบับนี้จำเป็นสำหรับโลกยุคไซเบอร์ เพื่อสร้างมาตรฐานในลักษณะส่งเสริม กรองอันตรายจากโลกไซเบอร์ แต่หลักกฎหมายอาญามีข้อยกเว้นให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้ ในกรณีฉุกเฉิน จำเป็น แต่มีเงื่อนไขการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ไม่ไปตัดสิทธิของประชาชนในการร้องทุกข์กล่าวโทษ หากการกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้าเงื่อนไขการยกเว้นกฎหมาย ร่างกฎหมายดังกล่าวจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างความมั่นคงของชาติ กับสิทธิเสรีภาพของประชาชน และอยู่บนหลักนิติรัฐ ธรรมาภิบาลและประชาธิปไตย ดังนั้น สนช. จะต้องรับฟังความเห็นต่างและนำหลักการนี้ไปประกอบการพิจารณา โดยต้องไม่ออกกฎหมายเพื่อกลุ่มใด แต่ต้องทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ

ทางด้านนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ว่า ขณะนี้เรามีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) อยู่แล้ว ถ้าจะเพิ่มเติมในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ควรไปใช้โครงสร้างของ กสทช. ไม่ควรให้ไปอยู่ในมือของรัฐบาล การทำโครงสร้างสำนักงานดูเรื่องไซเบอร์ในร่างกฎหมายนี้ เป็นการวางอำนาจที่ทับซ้อน กสทช. อำนาจเหล่านี้ควรอยู่ในซีกองค์กรอิสระมากกว่าไปสร้างองค์กรใหม่ ที่จะมามีอำนาจตรวจยึด ตรวจค้น ภัยคุกคามไซเบอร์ต่างๆนั้น ยังระบุไว้ว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่ถือเป็นส่วนราชการ และยังเปิดช่องไปร่วมทุนกับเอกชนได้ด้วย แถมไม่ต้องนำรายได้ที่ได้ส่งเข้าแผ่นดินอีกต่างหาก เท่านี้ก็มองออกแล้วว่า ร่างกฎหมายที่ให้มีองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้รัฐบาล ในอนาคตจะเป็นองค์กรที่แย่ ใครนั่งเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) คงมีหน้าที่เดินไปหาสปอนเซอร์มาจัดงานตีกอล์ฟ ไม่จำเป็นเลย