ปลาลูกเบร่เป็นชื่อท้องถิ่นของปลาซิวแก้ว พบอาศัยในเขตน้ำจืดของทะเลสาบสงขลา เป็นปลาในวงศ์ปลาหลังเขียว (Clupeidae) ว่ายน้ำรวดเร็ว ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง กินอาหารพวกแพลงก์ตอนหรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในน้ำ โดยการกรองอาหารด้วยซี่กรองที่อยู่ด้านหน้าของกระดูกเหงือก เป็นปลาที่มีคุณค่าทางอาหารสูง นิยมนำมาแปรรูป

มีการบริโภคกันมากในพื้นที่ภาคใต้รวมถึงส่งออกไปยังมาเลเซีย จนปัจจุบันจำนวนลดลงอย่างมากในธรรมชาติ

...

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเลี้ยงปลาลูกเบร่ในระบบปิด พร้อมกับถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชาวบ้านจนประสบความสำเร็จ ภายใต้แนวคิด “เขา ป่า นา เล” โมเดล เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตระดับท้องถิ่น-กลุ่มเมืองรอง ผ่านการพัฒนานวัตกรรมที่ตรงกับบริบทเมือง

“เดิมแล้วปลาลูกเบร่ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างนัก มีแต่ผู้อาศัยใน จ.พัทลุง และจังหวัดใกล้เคียงอย่างนครศรีธรรมราชและสงขลาเท่านั้น ที่บริโภค กระทั่งเกิดการค้าขายออนไลน์ ฐานผู้บริโภคจึงขยายเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศรวมถึงต่างประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซียที่เป็นตลาดหลัก เมื่อมีความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นทำให้ต้องจับปลาลูกเบร่มากขึ้น จนเกิดเป็นวิกฤติการประมงเกินขนาด วิสาหกิจชุมชนจึงหารือกับ ม.ทักษิณถึงวิธีการเพิ่มจำนวนหรือจำกัดปริมาณการจับ และอนุรักษ์ปลาลูกเบร่ จึงเป็นที่มาของการเพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่ในระบบปิด”

นายสุชาติ บุญญปรีดากุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ต.ลำปํา อำเภอเมือง จ.พัทลุง ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านชายคลองปากประ บอกถึงที่มาของการเลี้ยงปลาลูกเบร่ในระบบปิด

เนื่องจากปลาชนิดนี้ตื่นตกใจและช็อกได้ง่าย จึงเป็นอุปสรรคต่อการนำปลาธรรมชาติมาเลี้ยงในระบบปิด

ฉะนั้นระหว่างการลำเลียงต้องผสมสารละลายน้ำมันกานพลู 0.4-0.5 ml ต่อน้ำ 5 ลิตร จากนั้นจึงลำเลียงปลามายังถังเลี้ยงที่ผสมเกลือให้เป็นนํ้ากร่อยความเค็ม 2-2.5 ppt เพื่อให้ปลาไม่เครียดและมีอัตราการรอดสูง ส่วนอาหารก็ให้ตัวอ่อนอาร์ทีเมีย หรือแพลงก์ตอนพืช กลุ่มคลอเรลลา รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปบดเป็นผงละเอียด ในปริมาณเล็กน้อยวันละ 2 ครั้ง

...

ทั้งนี้ การเลี้ยงปลาลูกเบร่ในระบบปิด ประกอบไปด้วยอุปกรณ์...ถังเลี้ยงปลาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.2 เมตร น้ำลึก 1 เมตร ปริมาตรน้ำ 3,000 ลิตร เชื่อมต่อกับถังให้อากาศ มีปั๊มน้ำส่งน้ำไปยังถังกรองที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำในถังเลี้ยง น้ำจะไหลผ่านวัสดุกรองสังเคราะห์ที่มีกลุ่มจุลินทรีย์ช่วยบำบัดน้ำ น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วไหลกลับลงไปในถังเลี้ยงปลา ทำให้สามารถบำบัดของเสียในถังเลี้ยงและหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่อย่างต่อเนื่องโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำในระหว่างการเลี้ยง

นี่ถือเป็นครั้งแรกที่สามารถเลี้ยงปลาลูกเบร่ในระบบปิดได้ โดยในอนาคตทีมวิจัยวางเป้าหมายว่าจะเพาะขยายพันธุ์ปลาชนิดนี้ให้ได้ ขณะที่ปัจจุบันชาวบ้านมีการต่อยอดยกระดับกระบวนการแปรรูปปลาลูกเบร่อบแห้งแบบเดิม เป็นโรงอบแห้งปลาลูกเบร่แบบไฮบริด โดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และพลังงานความร้อนจากไฟฟ้า เพื่อให้สามารถอบปลาลูกเบร่ได้ทุกเวลาและฤดูกาลอีกด้วย.

กรวัฒน์ วีนิล