นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคใบจุดยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีมาตั้งแต่ ก.ย.62 ล่าสุดพบการระบาดใน 8 จังหวัด นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา ตรัง กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี สร้างความเสียหายไปกว่า 500,000 ไร่ ขณะนี้ทำให้ผลผลิตลดลงไปแล้วประมาณ 5-6 หมื่นตัน แต่โรคนี้ยังคงระบาดไปในพืชชนิดอื่น เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง สับปะรด และลามไปสู่วัชพืชได้ด้วย

“ในอดีตโรคนี้เคยระบาดแต่ไม่หนักเท่านี้ เดิมทีได้คาดไว้ว่าจะไม่รุนแรงมาก เป็นแค่โรคธรรมดาเกิดเองหายได้เองเป็นปกติของธรรมชาติ แต่สถานการณ์ปัจจุบันยังลุกลามไม่หยุด แม้ว่าโรคนี้ยังไม่ทำให้ต้นยางตาย แต่เจริญเติบโตได้ช้า จากการทดสอบใช้สารเคมีควบคุมเชื้อรา ใบที่จะแตกใหม่ บางพื้นที่สกัดได้ใบไม่ร่วง แต่บางพื้นที่ยังร่วงอยู่เช่นเดิม”

สำหรับมาตรการช่วยเหลือ นายขจรจักษณ์ เผยว่า มาตรการแรก กยท. ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงไปช่วยเหลือเกษตรกร ส่วนหนึ่งได้จัดงบประมาณลงไปแล้ว โดยใช้สารเคมีควบคุม หากโรคยังไม่หยุดลุกลาม ต้องทำหนังสือถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ของบจากรัฐบาลว่าจะต้องสกัดโรคนี้ให้ได้ เพราะสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรในเรื่องของการขาดรายได้ เพราะไม่สามารถกรีดยางได้

...

ส่วนเรื่องสายพันธุ์ยางจะเกี่ยวข้องไหม ยังไม่ชัดเจน เพราะในการปลูกยางพื้นที่เดียวกัน บางสายพันธุ์จะต้านทานโรคใบร่วง แต่บางสายพันธุ์ไม่ต้านทาน มาตรการที่สอง กยท.จะแนะนำเจ้าของสวนให้ปลูกไว้หลายสายพันธุ์ ไม่ควรปลูกพันธุ์เดียวกันทั้งหมด เวลาเกิดโรคระบาดจะไม่เสียหายทั้งแปลง

และมาตรการสุดท้าย คาดว่าโรคนี้อาจจะระบาดไปสู่ภาคเหนือ ภาคอีสานได้ หากมีการนำต้นพันธุ์ที่ติดเชื้อไปปลูกในพื้นที่อื่น ขณะนี้กำลังประสานกรมวิชาการเกษตรจะใช้มาตรการตามกฎหมายออกมาควบคุมยางติดเชื้อโรคนี้ จะต้องไม่ให้ มีการเคลื่อนย้ายไปพื้นที่อื่นๆ และต้องเผาทำลายทิ้งไปส่วนต้นพันธุ์ที่กรมวิชาการได้ทำการตรวจแล้วว่าปลอดเชื้อ สามารถเคลื่อนย้ายไปปลูกที่อื่นได้.