กรณีหมอปลาพร้อมผู้สื่อข่าวหลายสำนัก วางแผนเข้าไปถ่ายคลิปจับผิดพฤติกรรม “หลวงปู่แสง” พระเกจิสายป่าชื่อดัง แห่งที่พักสงฆ์ดงสว่างธรรม ต.โคกนาโก อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร
กลายเป็นกระแสสังคมในวงกว้าง?!
จากตอนแรกจะไปจับผิดพระทำผิดวินัยสงฆ์ แต่เจอกระแสตีกลับ เนื่องจากพบข้อเท็จว่า นอกจากจะสูงอายุถึง 98 ปีแล้ว หลวงปู่แสงยังป่วยสารพัดโรค โดยเฉพาะอัลไซเมอร์!
สังคมจึงตั้งคำถามว่า การเข้าไปหลอกล่อถ่ายคลิปหลักฐาน ถูกต้องหรือไม่?
กลายเป็นคดีอาญาที่ต้องดำเนินการกันต่อไป
วันนี้ขอเอาความเห็นของนักกฎหมายรุ่นใหญ่มาแจกแจงความแตกต่างของการ “ล่อซื้อ “และ “ล่อให้กระทำความผิด”?
ว่าที่ พ.ต.ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ อดีตเลขาธิการสภาทนายความ อธิบายถึงความแตกต่างของการ “ล่อซื้อ” กับ “ล่อให้กระทำความผิด” ที่เราได้ยินกันจนคุ้นหู
การล่อซื้อคือ กรณีเจ้าพนักงานวางแผนเพื่อล่อซื้อของผิดกฎหมาย จากผู้กระทำความผิดที่ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว?
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เป็นเพียงการกระทำเท่าที่จำเป็นและสมควรในการแสวงหาพยานหลักฐาน เพื่อให้ทราบรายละเอียดแห่งความผิด และเพื่อให้ได้โอกาสจับกุมจำเลยพร้อมด้วยพยานหลักฐาน
วิธีนี้เป็นเพียงวิธีการแสวงหาพยานหลักฐานอย่างหนึ่ง พยานหลักฐานที่ได้มาจึงไม่ใช่การได้มาโดยฝ่าฝืนกฎหมาย หรือศีลธรรม
มิได้เป็นการใส่ร้ายป้ายสี หรือยัดเยียดความผิดให้ จึงเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ และได้มาโดยชอบ ใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 226
วิธีการนี้ที่ใช้บ่อยคือ การล่อซื้อยาเสพติด คดีค้าประเวณี และคดีขายสลากกินแบ่งเกินราคา ฯลฯ
แต่ยังมีอีกคำหนึ่งที่ใกล้เคียงกัน แต่ให้ผลทางกฎหมายแตกต่างกันคือ การล่อให้กระทำความผิด?
...
สหบาท