นับวัน “มรดกทางวัฒนธรรม” กำลังถูกทำลายด้วย “กลุ่มคนมือบอน” มากขึ้น จากพฤติกรรมการขีดเขียนจารึกข้อความลงบนพื้นผิวโบราณสถานสำคัญของชาติ ที่มีให้เห็นอยู่บ่อยๆมากมาย สร้างความเสื่อมเสียทำลายคุณค่าความเก่าแก่ และความงดงามของสถานที่สำคัญนี้ไปแบบไม่รู้ตัว

กรณีล่าสุด “อุทยานแห่งชาติภูลังกา จ.บึงกาฬ” ออกประกาศ “สั่งเปิดถ้ำนาคา” หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีการสั่งปิดแบบไม่มีกำหนด เมื่อมีภาพอันเป็นหลักฐานจากการสัมผัส ปักธูป โรยแป้งส่องเลข รวมทั้งยังมีการขูดขัด ขูดหิน ขีดเขียนข้อความไม่เหมาะสมหลายจุดตามเส้นทางเดินของถ้ำนาคา จนเกิดความเสียหายอย่างมาก

เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก...ก่อนหน้านี้ “คนมือบอน” ก็ใช้สีสเปรย์ไปพ่นใส่ก้อนหินขนาดใหญ่ ที่จุดชมวิวเฉวง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี อีกทั้งยังมีการขีดเขียนโขดหิน ริมสระมรกต จ.กระบี่ การขีดเขียนทำลายผนังถ้ำพันปี จ.ตรัง และการขีดเขียนถ้ำจอมพล จ.ราชบุรี

...

และยังไม่หมดเท่านี้...“ทีมสกู๊ปหน้า 1” ออกสำรวจตามพื้นที่ในกรุงเทพฯ สังเกตตามตู้โทรศัพท์ ป้ายรถเมล์ สะพานลอย และห้องน้ำสาธารณะ ห้องปั๊มน้ำมัน ก็ถูกขีดเขียนด้วยปากกาเคมีใช้เขียนประจานบุคคลอื่น หรือใช้สีสเปรย์ฉีดสีเขียนคำบอก “วันสถาปนาของเด็กอาชีวะ” เพื่อประกาศศักดาตัวตนเอง

อีกทั้งยังมีภาพวาด “กราฟฟิตี้” ตามตึกร้าง ผนัง กำแพง ก็ถูกนำมาใช้เป็น “เครื่องมือ” กล่าวหา ต่อว่า ประท้วงขับไล่บุคคลทางการเมือง สะท้อนถึงการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่ชัดเจน กลายเป็นการสร้างความเดือดร้อน และไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยให้กับสังคม

แต่หากมองเชิงลึก “การขีดเขียนของคนมือบอน” ก็อาจเป็นการระบายความเครียดสะสมรูปแบบหนึ่ง ที่ยังมีโอกาสจะกระทำการรุนแรงกว่านั้นได้ ถ้าหากอยู่ในสถานที่ “ลับตาคน” ที่จะไม่ใช่แค่การทำลายสาธารณสมบัติเท่านั้น แต่อาจจะก่อความรุนแรงถึงการทำร้ายคนภายในครอบครัวก็ได้

พฤติกรรมขีดเขียนบนกำแพงสาธารณะนี้ ชลาลัย แต้ศิลปสาธิต อาจารย์สาขาจิตวิทยาคลินิก คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่า การวาดภาพขีดเขียนบนกำแพงที่เป็นทรัพย์สินของคนอื่น หรือสาธารณะ ถูกจัดอยู่ใน “กลุ่มแวนเดิลลิสซึม” (vandalism) พฤติกรรมเจตนาทำลายทรัพย์สาธารณสมบัติ หรือทรัพย์สินส่วนบุคคล

โดยเป็นพฤติกรรมแสดงออกในลักษณะหมิ่นเหม่เกี่ยวเนื่องต่อการกระทำผิดกฎหมาย เช่น “ภาพวาดกราฟฟิตี้” ที่มีพ่นสีลงบนกำแพง ก็ถือว่า เป็นการทำลายทรัพย์สินส่วนบุคคลแบบหนึ่งเช่นกัน แต่ด้วยเหตุ “เจ้าของสถานที่” อาจเลือกไม่แจ้งความดำเนินคดีเท่านั้นเอง

ตามหลักจิตวิทยา...“แวนเดิลลิสซึม” มีความหมายถึง “พฤติกรรมก้าวร้าว” ที่มีระดับความรุนแรงแตกต่างกันมากมาย มีตั้งแต่การขีดเขียนมือบอน ยกระดับเป็นการบุกรุกสถานที่ หรือการทำลายข้าวของ และลุกลามรุนแรงถึงการเผาสถานที่ ทำให้พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการทำลายทรัพย์สินทั้งสิ้น

แต่ว่า “พฤติกรรมมือบอนขีดเขียน” อาจมีระดับความก้าวร้าวน้อยที่สุด และผู้ก่อเหตุมักเป็น “เพศชาย”...“อายุน้อย” จากปัจจัยแรงกระตุ้นการแสดงออกของอารมณ์โกรธต่อพฤติกรรมก้าวร้าวได้ดี

หากย้อนอดีต “นักจิตวิทยา” ที่เคยมีการศึกษา “ผู้มือบอนชอบขีดเขียน” ส่วนใหญ่ก็จะมีการเจาะลึกมุ่งทำวิจัยเกี่ยวกับ “พฤติกรรมก้าวร้าว” ที่มีในตัวของทุกคนอยู่แล้ว และมักโฟกัสในเรื่อง “การควบคุมหักห้ามใจ” ที่เป็นสาเหตุเริ่มต้นของการขีดเขียนมือบอนขึ้น โดยเฉพาะในปี 1980... “ยุคกราฟฟิตี้” ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

...

ทำให้มีผลงานวิจัยออกมาค่อนข้างมาก ที่มีข้อสรุปเกิดจากปัจจัย “สิ่งแวดล้อม” ถ้าหากเป็นสถานที่สำคัญมากเพียงใด “คนมือบอนจะหยุดห้ามใจได้น้อย” ทำให้มีโอกาสเจอข้อความการขีดเขียนง่ายมากขึ้น เช่น อุทยานแห่งชาติ หรือโบราณสถานสำคัญ เพราะเป็นสถานที่ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ ก็ย่อมมีโอกาสถูกจับน้อย

ถ้าหากเจาะลึกลงไป “ข้อความ” ที่มีการขีดเขียนบนผนังแหล่งท่องเที่ยว มักมีรูปแบบการ “ประทับแลนด์มาร์ก” ด้วยการสลักชื่อตัวเอง เขียนข้อความบางอย่าง หรือการสลักกราฟฟิตี้บนผนังสถานที่สำคัญไว้ ลักษณะผู้กระทำไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน มีจุดประสงค์การสื่อสารเรื่องราวบางอย่างออกมาให้เกิดการรับรู้ร่วมกัน

แต่ยุคนี้ต่างให้ “คุณค่าพฤติกรรมมือบอน” แตกต่างกันออกไป ในบางครั้งก็มองเป็นสิ่งสวยงามเปลี่ยนกำแพงธรรมดาให้ดูมีชีวิตชีวาที่เป็นความน่าสนใจน่าตื่นเต้นของสังคม เช่น “เขียนกราฟฟิตี้” เสือดำลงผนังกำแพง เพื่อเรียกร้องขอความยุติธรรมให้กับเสือดำ กลับยอมรับกันอย่างแพร่หลาย กลายเป็นแฟชั่นตามมา...

แต่ในส่วน “การขีดเขียนข้อความ” กลับถูกมองว่า “เป็นเรื่องความสกปรกเลอะเทอะ” ทั้งที่ลักษณะ 2 ประเภทนี้ก็เป็น “แวนเดิลลิสซึม” หรือ “พฤติกรรมก้าวร้าว” ที่เป็นการกระทำผิดกฎหมายเช่นกัน

ประการต่อมา...“การขีดเขียนชื่อสถาบันการศึกษา” ตามสะพานลอย ป้ายรถเมล์ หรือตู้โทรศัพท์ ในเรื่องนี้อาจเป็นการ “ประกาศศักดาสถาบัน” เพื่อสะท้อนเครื่องหมายแสดงถึงความภาคภูมิใจ เช่นเดียวกับ “การขีดเขียนในห้องน้ำ” ที่มีสารพัดข้อความมากมาย ส่วนใหญ่จะเป็นข้อความสื่อสารออกในลักษณะก้าวร้าวรุนแรง

...

เพราะเป็นพื้นที่ “ลับตาคน” ทำให้ผู้กระทำรู้สึกมั่นใจว่า ไม่มีใครสามารถจับกุมดำเนินคดีได้ ส่วน “ข้อความ” ก็มักเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยเหตุการณ์การเมือง ที่มีลักษณะสื่อออกมาในการปลดปล่อยพลังงานความเครียด หรือความต้องการของตัวเอง สะท้อนเชิงพฤติกรรมก้าวร้าวอ่อนๆ ในการฝ่าฝืนกฎระเบียบสังคม

ประเด็นข้อระวัง...“คนมือบอนนับเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวอ่อนๆ” ถ้าฝ่าฝืนกฎหมายกันบ่อยครั้ง และไม่เคยถูกลงโทษ อาจติดเป็น “นิสัย” มีความรู้สึกดีในการกระทำผิดนั้น ทำให้ชะล่าใจกลายเป็น “ยกระดับความก้าวร้าว” นำไปสู่การฝ่าฝืนกฎหมายรุนแรงขึ้นก็ได้ แต่เรื่องนี้คงไม่เกิดกับบุคคลมือบอนทุกคนเสมอไป...

ถามว่า...พฤติกรรมมือบอนมีสาเหตุเกิดจากการเลี้ยงดูในครอบครัวหรือไม่ ในเรื่องนี้ก็มีโอกาสเกิดจากจิตใต้สำนึกพฤติกรรมความก้าวร้าวของแต่ละคนที่ไม่สามารถหักห้ามใจให้ขีดเขียนมากกว่าเกี่ยวกับการเลี้ยงดูของครอบครัว เพราะบางเรื่องมีการกระทำผิดขึ้น ทั้งที่ “ครอบครัว” ไม่ได้สอนทำด้วยซ้ำ แต่ก็ยังมีการกระความผิดขึ้นได้

...

และก็ยังไม่ถือว่า “เป็นผู้ป่วยทางจิต” เพราะเกี่ยวเนื่องกับลักษณะพฤติกรรมการกระทำไม่พึงประสงค์เหมาะสมเท่านั้น เช่น การเขียนชื่อ คำกลอน สะท้อนการสื่อสารออกมาจากใจ ที่เป็นรูปแบบทางความคิดตามปกติธรรมดาทั่วไป แต่ก็สามารถตรวจสอบอาการป่วยเบื้องต้นได้จาก “ข้อความ” ถูกขีดเขียนบนผนังได้

ในรูปแบบ “ข้อความ” มีลักษณะถูกถ่ายทอดค่อนข้างมีความสับสน เช่น “มีชายคนหนึ่ง” เดินเขียนแผนที่บนผนังสะพานลอย ตู้โทรศัพท์ ถนนพระราม 9 จนถูกมองกันเป็นเรื่องรหัสลับ หรืองานอาร์ต แต่หากดูเชิงลึกแล้วข้อความนี้กลับมีลักษณะสับสนมึนงงในตัวอักษร และสิ่งนี้ก็สะท้อนระบบความคิดที่มีรูปแบบผิดปกติไป

ตอกย้ำว่า “ข้อความ” ถ่ายทอดออกมาด้วยการขีดเขียนผ่านผนัง ถือว่า เป็นการสื่อสารถึงความคิดของผู้ที่เขียนเช่นกัน แต่เพียงข้อความเท่านี้ก็ไม่สามารถสรุปได้เลยว่า “บุคคลใด” มีอาการทางจิตเวชได้หรือไม่ เพราะการจะสรุปว่า “บุคคลใดป่วย” ต้องมีกระบวนการตรวจประเมินหลายด้านมากมาย

ดังนั้น...“การหักห้ามใจความก้าวร้าวต่อพฤติกรรมมือบอน” ต้องเริ่มจากการปลูกจิตสำนึกของเยาวชน โดยมีครอบครัว และสังคม เป็นผู้มีส่วนร่วมสนับสนุนช่วยกัน เพื่อให้เกิดการรับรู้ว่าการกระทำขีดเขียนที่ไม่ใช่ทรัพย์สินตัวเอง ทั้งสถานที่ในประเทศ และต่างประเทศ ถือว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม และผิดกฎหมาย

สิ่งสำคัญต้องมีการจัดรูปแบบแหล่งท่องเที่ยวใหม่ โดยเฉพาะสถานที่ที่มีความยิ่งใหญ่ อาจมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่ในการเดินตรวจตรา ติดกล้องวงจรปิดให้ทั่วถึง ในการป้องกันคนมือบอนจ้องทำการขีดเขียน เพื่อปิดโอกาสก่อเหตุให้ได้น้อยลง หรือมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงบทลงโทษของการกระทำนั้นชัดเจน

เมื่อ “คนมือบอน” ควบคุมพฤติกรรมตัวเองไม่ได้ ก็มีความจำเป็นต้องใช้วิธีจัดระบบมาตรการกันอย่างเข้มงวด เพื่อปกป้องโบราณสถานมรดกชาติ ให้คงสภาพคุณค่าทางประวัติศาสตร์ดังเดิม.