16 ปี ของความเพียรอย่างไม่หยุดยั้ง ในที่สุดย่อมเกิดสิ่งดีงามขึ้นมาได้ดั่งใจหวัง....!
วันนี้จะพาไปดู วัดหนองบัว บ้านหนองเสี้ยว อ.สอง จ.แพร่หลังจากใช้แนวคิดนี้ พร้อมลงทุนลงแรงความร่วมมือกับชาวบ้านและศิษยานุศิษย์ จนเกิดเป็น ศาลาไม้ตะเคียนทองขนาดใหญ่ อย่างงดงาม
พระครูอุดมปทุมกิจ เจ้าอาวาสวัดหนองบัว เจริญพรว่า เป็นเพราะเมืองแพร่ได้ชื่อเป็นเมืองไม้สัก นำไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือเครื่องประดับอื่นๆก็เคยเห็นมาแล้ว แต่สำหรับศาลาปฏิบัติธรรมไม้ตะเคียนทอง ยังไม่เคยเห็น
ยิ่งเป็นไม้ตะเคียนทองขนาดใหญ่ มักไม่ค่อยมีใครกล้าตัด เพราะเชื่อว่ามีวิญญาณสิงสู่อยู่ จึงมักถูกทิ้งไว้ตามริมตลิ่งลำน้ำยม เมื่อฝนตกน้ำจึงเซาะดินพาต้นตะเคียนทองไหลลงไปจมอยู่ใต้น้ำ บางต้นมีอายุนานนับร้อยปี
ดังนั้น ช่วงหน้าแล้งจึงชักชวนชาวบ้านพกข้าวห่อออกตระเวนหาไม้ตะเคียน–ทองจมอยู่ใต้คุ้งน้ำยม ตั้งแต่เขต อ.เมืองแพร่ ถึง อ.สอง ระยะทางกว่า 100 กม. บางครั้งพบส่วนกิ่งหรือโคนไม้โผล่พ้นน้ำ ยังต้องสังเกตให้ดีว่าใช่หรือไม่
จนเมื่อแน่ใจเป็นไม้ตะเคียนทอง จึงว่าจ้างรถชักลากไม้ขึ้นจากน้ำไปเก็บไว้ที่วัด เพื่อสร้างเป็นศาลาปฏิบัติธรรมจากไม้ตะเคียนทอง ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน หรือประมาณ 16 ปี งานจึงสำเร็จลุล่วง
ท่านเจ้าอาวาสวัดย้ำว่า สำหรับโครงสร้างของศาลา ประกอบด้วยเสาไม้ตะเคียนทอง 16 ต้น มีตั้งแต่ขนาดกลางถึงขนาดยักษ์ ราวๆ 4 คนโอบ ส่วนประกอบอื่นๆก็เช่นกัน ใช้ไม้ตะเคียนทองทั้งหมด
ที่น่าทึ่งไปกว่านั้น ภายในศาลามีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 3 องค์ แกะสลักจากไม้ตะเคียนทองและไม้ขนุน อายุ 100 กว่าปี ซึ่งชาวบ้านนำมาถวายวัดไว้ใช้ตามวัตถุประสงค์
นายไพบูลย์ ช่างทองเก่ง ผญบ.หมู่ 4 เล่าว่า นับเป็นโชคดีที่มีเจ้าอาวาสวัดผุดแนวคิดใช้ประโยชน์จากไม้ตะเคียนทอง ทำให้ไม่ถูกทำลายหายไปอย่างไร้ค่า แถมเยาวชนรุ่นหลังยังมีโอกาสได้เห็นอีกต่อไป
...
ที่สำคัญหากใครไปเมืองแพร่ในอนาคตอาจเป็นอีกหนึ่งจุดหมายตาห้ามพลาดไปชมก็ได้ใครจะรู้...!
มณี ม่วงทอง