“คนบ้านเราค่อนข้างมีปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมีมากเกินจำเป็น มีปัญหาหนี้สินจากการทำการเกษตรที่ต้องลงทุนเรื่องปัจจัยการผลิตทั้งปุ๋ยเคมีและสารเคมี ปี 2556 ขณะเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านใหม่ๆ เลยเกิดแนวคิดหาแนวทางลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมี จึงได้ไปเรียนรู้แนวทางการทำเกษตรตามแนวอินทรีย์ในโครงการพระราชดำริต่างๆ หลายที่ ปี 2559 เริ่มทำเกษตรในพื้นที่ของตัวเองก่อน เริ่มจากการบำรุงดิน ฟื้นชีวิตให้กับดินตามองค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้มา ใช้เวลา 1 ปี ในการฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรม ดินแน่นแข็ง ขาดธาตุอาหาร จนได้ดิน ที่มีความอุดมสมบูรณ์พร้อมที่จะปลูกพืชได้ จากนั้นเริ่มถ่ายทอดแนวคิดและวิธีการให้กับชาวบ้าน มาจนวันนี้”
ผู้ใหญ่ไพฑูลย์ อินหา ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ บ้านวังร่อง ต.ห้วยไร่ อ.วังร่อง จ.เพชรบูรณ์ เล่าถึงที่มาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ก่อน รวมตัวกันเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ผักอินทรีย์ตำบลห้วยไร่
ปี 2561 เริ่มมีการรวมตัวของชาวบ้านที่มีแนวคิดเดียวกัน สมาชิกเริ่มต้นเพียงไม่กี่คน ขยายกลุ่มไปเรื่อยๆ จนปี 2563 จัดตั้งกลุ่มจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน มีสมาชิกทั้งหมด 83 ครัวเรือน แต่ละเดือนทางกลุ่มจะมีการประชุมเพื่อวางแผนการผลิตผักของสมาชิกให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีการอบรม ให้คำแนะนำ ปรึกษาแก้ปัญหาร่วมกันเพื่อให้สมาชิกเดินไปสู่ความสำเร็จด้วยกัน
...
ส่วนด้านการทำตลาด ช่วงแรกผลผลิตจะนำไปขายในตลาดชุมชน ตลาดในพื้นที่ก่อน ซึ่ง อ.หล่มสัก มีตลาดค้าส่งผักในพื้นที่อยู่แล้ว โดยสมาชิกจะนำผลผลิตมารวมที่กลุ่ม แล้วนำผลผลิตขายรวมกันเพื่อให้ผักแต่ละชนิดมีปริมาณมากพอ มีคุณภาพเดียวกัน เพราะเกษตรกรแต่ละรายจะปลูกผักในพื้นที่ไม่มาก ใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก บางคนมีพื้นที่ปลูกไม่ถึงไร่ ปี 2564 จึงนำผลผลิตของกลุ่มไปเสนอเลมอน ฟาร์ม นำเสนอวิธีการ กระบวนการผลิตของกลุ่ม และทางเลมอน ฟาร์ม ได้เข้ามาแนะนำวิธีการผลิต เพิ่มเติมจนทำให้แปลงผักสมาชิกได้มาตรฐาน PGS (ระบบการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม) ของเลมอน ฟาร์ม
หลังจากใช้เวลาปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่เลมอน ฟาร์ม กำหนด ปี 2564 ผักของกลุ่มได้เริ่มต้นส่งให้กับเลมอน ฟาร์ม ช่วงแรกส่งเพียงอาทิตย์ละครั้ง ต่อมาเมื่อทุกอย่างลงตัวมากขึ้น ปี 2565 จึงเพิ่มเป็นอาทิตย์ละ 2 ครั้ง จนปัจจุบันส่งอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ในวันจันทร์ พฤหัสฯ และเสาร์ โดยแต่ละรอบจะส่งผักกว่า 50 ชนิด อาทิ ผักสลัด กวางตุ้ง กวางตุ้งฮ่องเต้ กะเพรา โหระพา สะระแหน่ แตงกวา ถั่วฝักยาว รวมประมาณ 400-500 กก. แต่ละเดือนสามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มกว่า 4-5 แสนบาท และเร็วๆนี้ ทางกลุ่มจะได้เปิดร้านที่ จ.พิษณุโลก ในแบรนด์ ไทหล่ม ปันสุข ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงระหว่างการตกแต่งร้าน
ส่วนของวิธีการผลิตผักของกลุ่ม ผู้ใหญ่ ให้ข้อมูลว่า เราเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีมาใช้ชีวภัณฑ์แทน โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงดินให้สมบูรณ์อันดับแรก เน้นปรับปรุงดินด้วยการบ่มดินด้วยฟาง การเติมปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักลงไปในดินเพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดิน การรดดินด้วยจุลินทรีย์ ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน จึงจะสามารถปลูกผักได้
โดยในระยะปรับเปลี่ยน จะให้ปลูกผักสลัดก่อน เพราะเป็นผักที่ปลูกและดูแลง่าย ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน หลังจากนั้นก็จะแนะนำให้เกษตรกรทำปุ๋ยหมัก เลี้ยงไส้เดือนเพื่อทำปุ๋ยมูลไส้เดือน ทำน้ำส้มควันไม้ผสมสมุนไพรสูตรเฉพาะของกลุ่ม โดยน้ำส้มควันไม้ของที่นี่จะเผาจากไม้ยูคาลิปตัสเท่านั้น แล้วนำมาเข้าสู่กระบวนการกลั่น ผสม สมุนไพรอีกหลายชนิดเข้าไป เช่น บอระเพ็ด ข่าแก่ ทำให้น้ำส้มควันไม้ของที่นี่มีประสิทธิภาพกำจัดแมลงได้ค่อนข้างดี นอกจากนี้ยังมีการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น ไตรโคเดอร์มา เมตาไรเซียม ไส้เดือนฝอยกำจัดโรคและแมลงแทนการใช้สารเคมี
...
นอกจากนี้ กลุ่มยังมีเครือข่ายเลี้ยงไก่เนื้อเพื่อซื้อขี้ไก่แกลบ มีเครือข่ายฟาร์มเลี้ยงหมู เพื่อซื้อขี้หมูในราคาถูกอีกด้วย ส่วนเมล็ดพันธุ์จะสั่งซื้อจากศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นหลัก และต่อไปผักบางชนิดก็จะผลิต เมล็ดพันธุ์เอง โดยเฉพาะผักสลัดที่มีปริมาณการปลูกมากที่สุด สนใจติดต่อได้ที่ 08–8780–8548.
กรวัฒน์ วีนิล