(ภาพ) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง ปล่อยเต่าลงทะเลคืนสู่ธรรมชาติ.
“ป่าชายเลน” นับว่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศวิทยามิใช่น้อย นอกจากเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำแล้วยังช่วยยับยั้งการกัดเซาะของน้ำทะเลด้วย
แต่เป็นที่น่าเสียใจว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาป่าชายเลนถูกกลุ่มนายทุนบุกรุกยึดครอง ทำลายระบบนิเวศวิทยาจนมีสภาพเสื่อมโทรม
ทำให้ผู้คนในสังคมเกิดการตื่นตัว หันมาให้ความสนใจเอาจริงเอาจังกับปัญหาดังกล่าวมากขึ้น เกิดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนปลูกป่าชายเลนขึ้น เพื่อทดแทนป่าที่ถูกทำลาย
...
โครงการล่าสุด นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าพื้นที่โครงการป่าชายเลนจังหวัดระยอง “มหัศจรรย์ป่าชายเลนทุ่งโปรงทอง ปากน้ำประแส” เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2563 ที่บริเวณอนุสรณ์เรือรบหลวงประแส ต.ปากน้ำกระแส อ.แกลง จ.ระยอง
มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม และประธาน วพน.รุ่น 15 นายจรัญ วิวัฒน์เจษฎาวุฒิ กรรมการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)/ประธาน วพน.รุ่น 14
นายปริญญา โพธิสัตย์ รอง ผวจ.ระยอง นายไชยรัตน์ เอื้อตระกูล นายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำประแส นายภุชง สกฤษฎีชัยกุล ผอ.สนง.ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ดร.กนกวรรณ เบญจาทิกุล รองประธานสภา อบจ.ระยอง ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผช.กก.
ผจก.ใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพ–ลักษณ์องค์กร บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (พีทีที จีซี)
นอกจากนี้มี น.ส.เชาวนี พันธุ์พฤกษ์ ผู้จัดการฝ่าย หน่วยงานบริหารกิจการเพื่อสังคมฯ พีทีทีจีซี รวมทั้งผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง ด้านวิทยาการพลังงาน (วพน.) ของสถาบันวิทยาการพลังงาน รุ่น 14-15 ส่วนราชการ ชาวบ้านและนักเรียน ในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง
ในงานมีการจัดบูธกิจกรรมการนำขยะทะเลมาใช้ประโยชน์ของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ การปลูกป่าชายเลน เยี่ยมชมทัศนียภาพป่าชายเลนทุ่งโปรงทอง ปากน้ำประแส
...
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ดำเนินโครงการป่าในเมืองจังหวัดระยองมหัศจรรย์ป่าชายเลน ทุ่งโปรงทอง ปากน้ำประแส ในพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำประแส ต.ปากน้ำกระแส อ.แกลง จ.ระยอง เนื้อที่ 1,000 ไร่
เพื่อให้ป่าในเมืองแห่งนี้ได้รับการพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ อีกทั้งยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และเป็นที่อยู่อาศัยที่หลบภัยของสัตว์น้ำต่างๆ
ในปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนบางส่วนมีสภาพเสื่อมโทรม ไม่สมบูรณ์ ปริมาณสัตว์น้ำเศรษฐกิจมีจำนวนลดลง จึงได้จัดกิจกรรมฟื้นฟูป่าชายเลน และเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำเศรษฐกิจให้แก่พี่น้องประชาชนในบริเวณพื้นที่โครงการ
...
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด ร่วมมือร่วมใจกันในการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในชุมชน โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและเพิ่มปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำในป่าชายเลน
เป็นการรณรงค์เสริมสร้างจิตสำนึกรักหวงแหนให้กับผู้ร่วมกิจกรรมและชุมชนในพื้นที่เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแก่ชุมชน ส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
...
“กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงานรุ่นที่ 15 ภาคราชการ ท้องถิ่น เอกชน และประชาชนในพื้นที่ปากน้ำประแส ช่วยกันปลูกป่าชายเลนจำนวน 700 ต้น ปล่อยพันธุ์เต่าทะเลคืนสู่ธรรมชาติ 49 ตัว และปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปูทะเลคืนสู่ธรรมชาติ จำนวน 1,999 ตัว” นายโสภณ กล่าว
ด้าน นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม/ประธาน วพน.รุ่น 15 กล่าวว่า ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมได้เสื่อมโทรมลงไปมากพอสมควร กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการช่วยสร้างให้สังคมมีส่วนร่วมระหว่างคนในพื้นที่กับคนในส่วนกลาง สร้างสิ่งแวดล้อมในการปลูกป่า
“เป็นกิจกรรมอันหนึ่งที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงพลังงาน โดยนำคณะศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงานรุ่นที่ 15 มาทำกิจกรรมร่วมกันในการปลูกป่า ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ สะท้อนเรื่องสิ่งแวดล้อมดีขึ้นต้องให้ความร่วมมือกันและเป็นกิจกรรมต้องทำต่อเนื่องถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก” นายชัยวัฒน์ กล่าว
ส่วน นายวีรวัฒน์ ยมจินดา ผู้เข้าอบรม วพน.15 และประธานชมรมรักสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง ย้ำว่าอยากจะให้ป่าชายเลนทุ่งโปรงทองเป็นโมเดลตัวอย่างของประเทศในการรักษาสิ่งแวดล้อมและความร่วมมือร่วมใจของประชาชน อยากชวนนักท่องเที่ยวมาที่นี่กันมากๆ
นี่คือหนึ่งตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการฟื้นฟูป่าชายเลน.
นพดล แสงวิลัย