กลุ่มผู้เลี้ยงปลากัดรายใหญ่เมืองนครปฐม เจอพิษโควิด-19 เล่นงานอ่วม ครวญมีออเดอร์จากต่างประเทศแต่ส่งออกไม่ได้ ทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว จำใจปล่อยทิ้งปลากัดนับแสนตัว วอนภาครัฐช่วยเหลือ ด้านปางช้างเจอผลกระทบนักท่องเที่ยวหดหาย ควาญช้างชาวปกาเกอะญอไร้เงินจ้างเหมารถสิบล้อมาบรรทุก ต้องอพยพช้างนับร้อยเชือกเดินเท้าเข้าป่าขึ้นดอยระยะทางร่วม 200 กิโลเมตร มุ่งหน้ากลับบ้านเกิด ฝืนอยู่ต่อไปต้องอดตายทั้งคนทั้งช้าง

ไวรัสมรณะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง ปลากัด หลังส่งออกไปต่างประเทศไม่ได้นานกว่า 2 เดือน เกิดปัญหาต้นทุนการผลิต จำใจปล่อยทิ้งปลากัดนับแสนตัว เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับ การเปิดเผยจาก น.ส.สิรินุช ฉิมพลี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านอ้อมพยศ หมู่ 7 ต.โพรงมะเดื่อ อ.เมืองนครปฐม ว่า ทางกลุ่มมีสมาชิก 8 ราย เพาะเลี้ยง ปลากัดมานานกว่า 10 ปี มีตลาดส่งออกไปต่างประเทศ ทั้งแถบเอเชีย เช่น สิงคโปร์ และฮ่องกง ในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และอเมริกา ปกติในทุก 1-2 สัปดาห์ จะแพ็กสินค้าส่งออกไปทางเครื่องบิน ส่งให้กับลูกค้าที่มีออเดอร์เข้ามาครั้งละ 50,000-100,000 ตัว

“หลังเกิดโรคโควิด-19 ระบาดขึ้นมา เครื่องบินหยุดบิน แม้จะมีออเดอร์มาจากต่างประเทศ ทางกลุ่ม ก็ส่งออกไปไม่ได้มานานกว่า 2 เดือนแล้ว สมาชิกที่เพาะเลี้ยงปลากัด ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าอาหาร ปลา ค่าน้ำ และค่าแรงงาน ตกวันละ 2,000 บาท ต่อปลากัด 100,000 ตัว เพราะปลากัดจะมีอายุมากขึ้น ถ้าเกิน 4 เดือน จะกินอาหารมากขึ้น ลำตัวมีขนาดใหญ่ หากยังเลี้ยงในขวดต่อไปจะหันกลับมากัดหางตัวเอง ตามธรรมชาติ ทำให้รูปร่างไม่สวยงาม และน่าสงสาร การปล่อยปลาลงบ่อคืนสู่ธรรมชาติให้ไปหากินเอง เป็นการลดภาระได้ในระดับหนึ่ง อยากเรียกร้องให้ภาครัฐ ช่วยหาแนวทางแก้ไข ไม่รู้ว่าภาวะแบบนี้จะเกิดไปอีกนานเท่าไหร่ ต้นทุนพวกเรามีไม่มากนัก จะปรับเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นยังมองลู่หาทางไม่เห็น ตอนนี้ปลากัดที่เพาะเลี้ยงไว้มีอีกมาก หากใคร สนใจช่วยเหลือจะรับซื้อปลากัดไปจำหน่าย ติดต่อได้ที่ ID Line sirinutbetta” น.ส.สิรินุชกล่าว

...

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อย่างรุนแรง รายได้เป็น “ศูนย์” ส่งผลให้ปางช้างหลายแห่งแบกรับภาระอาหารช้างไม่ไหว ต้องส่งช้าง กลับบ้านเกิดไปเผชิญความอดอยากอย่างน่าเวทนา เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบที่มูลนิธิ อนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ พบว่าเจ้าของช้างและควาญช้างกำลังเตรียมนำช้างกว่า 100 เชือก เดินเท้ากลับบ้านเกิดในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม และ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ รวมทั้ง จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากไม่มีเงินเป็นค่าใช้จ่ายเหมารถบรรทุกสิบล้อมาบรรทุกช้าง เพราะต้องเสียค่ารถบรรทุกขนช้างกลับ ตกคันละตั้งแต่หลัก 2-3 หมื่นบาท ไปจนถึง 1 แสนบาท ขึ้นอยู่กับระยะทาง

นางแสงเดือน ชัยเลิศ นักอนุรักษ์ช้าง เปิดเผยว่า ขณะนี้มีช้างเลี้ยงจากปางช้างต่างๆใน จ.เชียงใหม่ ประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลช้าง เนื่องจากปางช้างไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชม ช้างแต่ละเชือกต้องกินอาหารวันละ 400-500 กิโลกรัม ทำให้ขาดแคลนอาหารจนช้างหลายเชือกซูบผอม เมื่อปางช้างปิดตัวลง ช้างที่เช่ามาจากต่างจังหวัดทางภาคอีสาน เช่น สุรินทร์ ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ เจ้าของช้างได้ว่าจ้างรถบรรทุกสิบล้อมานำช้างกลับบ้าน มีราคาที่แพงมากกว่า 1 แสนบาทขึ้นไป แต่ช้างที่เดินทางมาจากอำเภอรอบนอกของ จ.เชียงใหม่ และใกล้เคียง เจ้าของช้างส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่มีเงินจ่ายค่ารถบรรทุก ต้องใช้วิธีเดินเท้าลัดเลาะเข้าป่าจาก อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ผ่านเส้นทางป่าลึกดอยสูง สองข้างทางแทบไม่มีอาหารช้างเลย เนื่องจากถูกไฟป่าเผาผลาญต้นไม้ใบหญ้าจนพืชล้มตายเกลี้ยง ประกอบกับอากาศร้อนจัด ส่งผลให้ขบวนคาราวานช้างอพยพเป็นไปอย่างทุลักทุเล

“ในขบวนช้างอพยพ มีทั้งช้างน้อยแรกเกิดวัย 4 เดือน ช้างชราวัยกว่า 60 ปี ต้องเดินทางไกลร่วม 200 กิโลเมตร ไร้น้ำและอาหารทางธรรมชาติ มูลนิธิต้องใช้วิธีส่งเจ้าหน้าที่ร่วมทางไปกับช้าง นำรถบรรทุกน้ำและอาหารช้าง เช่น หญ้า กล้วยและแตงโม ไปวางไว้เป็นระยะ ตามเส้นทางขบวนช้างอพยพที่จะต้องเดินผ่านป่า ระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร จนไปถึงหมู่บ้านที่มีลำน้ำลำห้วย และต้องเดินทางผ่านขึ้นดอยสูงกว่าจะไปถึงบ้านถิ่นเดิมของเจ้าของช้าง ที่เป็นชาวปกาเกอะญอ เส้นทางนี้ชาวช้างใช้มาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ เนื่องจากในอดีตช้างเหล่านี้จะถูกนำไปชักลากไม้ กระทั่งเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่วันนี้เมื่อโควิด-19 สร้างปัญหา ช้างไม่มีงานทำ จำเป็นต้องนำช้างกลับ คาราวานช้างจะเดินกลับไปหมู่บ้านใน ต.แม่สึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านติดกับ จ.แม่ฮ่องสอน ใช้เวลารอนแรม 5 วัน 5 คืน ขณะที่การช่วยเหลือของภาครัฐยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน” นางแสงเดือนกล่าว

นายธีระชัย เปรมชื่นธนาวัลย์ เจ้าของช้างชาวปกาเกอะญอ กล่าวว่า กระแสไวรัสโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวหดหาย ช้างและควาญตกงาน เจ้าของช้างจำเป็นต้องนำช้างกลับเพราะไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ อยู่ต่อไปมีแต่อดตายทั้งคนทั้งช้าง ขอไปตายเอาดาบหน้าดีกว่า เพราะช้างต้องกิน ควาญช้างต้องกิน ทุกอย่างต้องซื้อกิน แต่หากกลับบ้านยังมีนามีไร่ให้ทำกิน มีโอกาสรอดมากกว่า ช้างอพยพจะเดินทางกลับบ้านใน อ.แม่แจ่ม และ อ.แม่แตง มากที่สุด โดยเฉพาะช้างใน ต.แม่สึก มีประมาณ 100 เชือก และทยอยเดินทางกลับมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงปัจจุบัน