โรงเรียนเอกชนฮึดสู้ หลังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีคำสั่งหยุดจัดการเรียนการสอนผ่านโครงการ “จุฑารัตน์วิทยา... พาขึ้นฝั่ง” โดยระบุไม่เป็นไปตามหลักสูตรที่ได้รับอนุญาต ทั้งที่ทำตามข้อกฎหมายแห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มี นร.จบการศึกษาไปแล้วร่วม 4 พันคน ลั่นฟ้อง “สช.-ศธจ.ปทุมธานี” ต่อศาลปกครอง สั่งระงับโครงการโดยมิชอบ ตั้งแต่ปลายปีกลาย ตามด้วยฟ้องมาตรา 157 โดยเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มอบหมายให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ปทุมธานี ตรวจสอบโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งพบมีการจัดการเรียนการสอนผ่านโครงการโครงการหนึ่งที่ไม่เป็นไปตามหลักสูตรที่ได้รับอนุญาต โดยผู้เรียนใช้เวลาเรียนเพียง 2-6 เดือน ก็สำเร็จการศึกษา ขณะนี้มีผู้เข้ามาเรียนและสำเร็จการศึกษาไปแล้วกว่า 4,000 ราย และกำลังจะจบการศึกษาในปีการศึกษา 2561 อีกกว่า 1,000 ราย โดย ศธจ.ปทุมธานีได้แจ้งให้โรงเรียนหยุดจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรที่ไม่ถูกต้องทันที และแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรหนองเสือ จ.ปทุมธานี กรณีโรงเรียนจัดทำเอกสารหลักฐานการศึกษาอันเป็นเท็จนั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ม.ค. นายเมธชนนท์ ประจวบลาภ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการด้านกฎหมายโรงเรียนจุฑารัตน์วิทยา กล่าวยอมรับว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของโรงเรียนจุฑารัตน์วิทยา แต่ สช. และ ศธจ.ปทุมธานีอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน และอาจจะไม่ได้ศึกษาข้อกฎหมายให้ดีก่อน ซึ่งข้อเท็จจริงโรงเรียนจุฑารัตน์วิทยาเป็นโรงเรียนเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งประเภทสามัญศึกษาและอนุญาตให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้จัดทำโครงการ “จุฑารัตน์วิทยา...พาขึ้นฝั่ง” สำหรับนักเรียนที่ลาออกกลางคัน ถูกไล่ออก หรือเรียนไม่จบการศึกษาเนื่องจากมีผลการเรียนติด 0, ร, มส., มผ. จากสถานศึกษาแห่งเดิม ย้ายมาเรียนโดยการเทียบโอนหน่วยกิตและมาสอบ เพื่อประเมินผลการเรียนตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่กำหนดให้สถานศึกษาสามารถกำหนดเครื่องมือการวัดผลประเมินผลได้ยืดหยุ่นตามบริบทของผู้เรียน นอกจากนี้ นักเรียนรายใดที่มีประสบการณ์ทำงาน ก็สามารถเทียบโอนเป็นหน่วยกิตการศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบได้ตามแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนด ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่กำหนดให้มีการเทียบโอนผลการเรียนระหว่างในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัยได้อีกด้วย
...
นายเมธชนนท์กล่าวว่า สำหรับการที่โรงเรียนจัดทำบัญชีรายชื่อทะเบียนนักเรียนแยกออกไว้ 2 เล่มนั้น เป็นกรณีที่ต้องทำให้เกิดความชัดเจนว่านักเรียนกลุ่มใดขอรับเงินอุดหนุนตามโครงการเรียนฟรี 15 ปี จากรัฐบาลและนักเรียนกลุ่มใดไม่รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โรงเรียนจุฑารัตน์วิทยาขอยืนยันว่าการดำเนินการจัดการศึกษาดังกล่าว เป็นไปตามหลักและเงื่อนไขของข้อกฎหมายที่โรงเรียนได้รับอนุญาตเอาไว้เมื่อตอนจัดตั้งโรงเรียน โดยเฉพาะการจัดการศึกษาตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่เปิดโอกาสให้ทุกสถานศึกษาสามารถดำเนินการได้ และการจัดการศึกษาในลักษณะเช่นนี้ โรงเรียนหนองชุมแสงวิทยา จังหวัดเพชรบุรี ก็เคยขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ และเคยมีความเห็นไปยังคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2558 แล้ว ว่าสถานศึกษาทุกแห่งสามารถจัดการศึกษาโดยการเปิดเทียบโอนผลการเรียนในลักษณะเช่นนี้ได้
นายเมธชนนท์กล่าวอีกว่า ดังนั้น เมื่อโรงเรียนจุฑารัตน์วิทยาได้รับการอนุญาตให้จัดการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ย่อมมีสิทธิที่จะนำแนวทางหรือวิธีการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรมาบังคับใช้เช่นเดียวกัน แต่ทาง ศธจ.กลับมีหนังสือสั่งระงับไม่ให้โรงเรียนรับเด็กตามโครงการนี้ ทางโรงเรียนจึงได้ฟ้องศาลปกครองกลาง กรณีที่ ศธจ.ปทุมธานี สั่งระงับโครงการโดยมิชอบ ซึ่งศาลปกครองกลางรับเรื่องที่โรงเรียนฟ้องคดีต่อศาลไว้พิจารณาตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2561 และจะฟ้อง มาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอีกคดีหนึ่ง และเมื่อเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ทางโรงเรียนจึงระงับการรับเด็กเข้าเรียนตามโครงการดังกล่าวไปก่อน โดยที่ผ่านมารับเด็กไปแล้วประมาณ 4,000 คน จบการศึกษาแล้วประมาณ 3,900 คน