นางวราภรณ์ เอื้ออารีย์ รอง ผอ.สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม. เปิดเผยว่า หากเทียบผังเมืองกรุงเทพมหานคร ปี 2556 กับผังเมืองรวม กทม.ปรับปรุงครั้งที่ 4 ฉบับรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชน ปี 2562 ซึ่งผ่านประชาพิจารณ์ไปแล้ว 1 ครั้ง ปัจจุบันพบว่าพื้นที่เขียวลายมีจำนวนลดลง หมายถึงพื้นที่รับน้ำของกรุงเทพฯถูกเปลี่ยนเป็นสีเขียว และเป็นพื้นที่ชนบทเกษตรกรรมบ้านเรือน และสีเหลือง คือ ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (บ้านราคาแพง) มากขึ้น จากผังการศึกษาดังกล่าวเพื่อกำหนดผังเมืองใหม่ ระบุว่าโซนตะวันออกบริเวณนอกแนวกั้นน้ำเขตลาดกระบัง พื้นที่รับน้ำหายไป 2 ใน 3 ส่วน แทนที่ด้วยที่อยู่อาศัย (สีเขียว) และโครงการขุดคลองกว้าง 25 เมตร ตลอดแนวจดคลองประเวศ โดยมีแผนใช้งบประมาณเฉพาะค่าขุดและบังคับทิศทางน้ำในคลองจำนวน 25,000 ล้านบาท และค่าเวนคืนพื้นที่อีกไร่ละ 12 ล้านบาท รวมถึงโซนใต้ บริเวณเขตบางขุนเทียน พื้นที่รับน้ำลดลงแทนที่ด้วยที่อยู่อาศัย (สีเหลือง) และโครงการอุโมงค์ส่งน้ำขนาด 5 เมตร และโซนตะวันตก บริเวณเขตทวีวัฒนา พื้นที่รับน้ำลดลง แทนที่ด้วยที่อยู่อาศัย (สีเขียว) และโครงการอุโมงค์ส่งน้ำขนาด 5 เมตร
นางวราภรณ์กล่าวว่า จากแผนการศึกษาผังเมืองดังกล่าว จึงเป็นที่มาให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. สั่งทบทวนครั้งใหญ่ เพราะเกรงว่าหากแผนถูกประกาศออกไป แต่ยังไม่มีโครงการสร้างคลอง ระบบระบายน้ำ และสาธารณูปโภครองรับล่วงหน้า แม้จะมีผลดีต่อภาคเอกชน เนื่องจากราคาที่ดินขยับขึ้นตามการปรับเปลี่ยนสีของผัง ทำให้ความเจริญและการลงทุนไหลเข้าพื้นที่มากขึ้น แต่จะมีปัจจัยเสี่ยงในการเพิ่มพื้นที่อุทกภัยมากขึ้น เพราะพื้นที่รองรับน้ำถูกปรับเป็นที่อยู่อาศัย ทั้งที่ยังไม่มีการก่อสร้างระบบระบายน้ำรองรับ อาจทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมให้ กทม.ต้องแก้ปัญหาเพิ่มต่อไป.
...