เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ว่า ยืนยันจะเริ่มเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 ภายในกลางเดือน ก.ย.นี้ อย่างแน่นอน ในอัตรา 14-44 บาท รวมถึงส่วนต่อขยายเส้นทางอื่นในอัตราเดียวกัน ซึ่งเป็นอัตราที่เหมาะสม ประกอบกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ได้เสนอสูตรคำนวณในการจัดเก็บค่าโดยสารเนื่องจากเป็นมาตรฐานสากล ถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสม แม้จะถูกด่าก็ยอมรับ เพราะต้องเก็บจริงๆ กทม. มีภาระจ่ายค่าจ้างเดินรถปีละ 6,000 ล้านบาท
ขั้นตอนจากนี้ กทม.เตรียมออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว อัตราสูงสุดไม่เกิน 59 บาท รายละเอียดดังนี้ ค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 1 สายสีลม ช่วงสถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ และสถานีวงเวียนใหญ่-บางหว้า สายสุขุมวิท สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง ราคา 14-44 บาท จากเดิมเก็บราคา 15 บาทตลอดสาย ส่วนต่อขยายที่ 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ราคา 14-44 บาท จากเดิมไม่ได้จัดเก็บ และเส้นทางหลักสัมปทาน สายสุขุมวิท หมอชิต-อ่อนนุช สายสีลม สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ราคา 16-44 บาท
ทางด้านการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า ตามที่มีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งใหม่ เมื่อวันที่ 24 พ.ค.65 ซึ่งต่อมา บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลเพิกถอนหรือยกเลิกประกาศเชิญชวนฉบับเดือน พ.ค.65 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) รวมทั้งประกาศกับมติที่เกี่ยวข้องด้วย และขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ห้ามการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่นั้น
...
เมื่อวันที่ 8 ส.ค.65 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ BTSC ร้องขอ โดยตุลาการศาลปกครองกลางมีความเห็นสรุปว่า ประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน พ.ค.65 มีเอกชนผู้ซื้อเอกสารทั้งในและต่างประเทศรวม 14 ราย ซึ่งเห็นได้ว่ามีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นกว่าประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน ก.ค.63 ที่มีเอกชนผู้ซื้อเอกสาร 10 ราย และการเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ไม่อาจมีเอกชนรายหนึ่งรายใดเพียงรายเดียวที่จะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวน แต่จะต้องมีเอกชนหลายรายร่วมกันเพื่อเข้าร่วม ประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว จึงไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกัน BTSC มิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ.