“บิ๊กตู่” ฝาก ผอ.ศปม.ขอบคุณตำรวจ ร่วมปฏิบัติหน้าที่ช่วงโควิด-19 อย่างดีไม่มีร้องเรียน “บิ๊กกบ” รับหลายฝ่ายดูรายละเอียดมาตรการโครงการ travel bubble ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าออกประเทศโดยไม่มีการกักตัวอยู่ เพื่อฟื้นการท่องเที่ยว เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่น่ากระทบ เชื่อมีกฎหมายอื่นดูแล ตำรวจสรุปคดีช่วงเคอร์ฟิวมีฝ่าฝืนกว่า 4 หมื่นคดี เด้งรับนายกฯสั่งปราบแว้นเฉียบขาด เตือนไปถึงผู้ปกครอง ถ้าลูกหลานถูกจับโดนดำเนินคดีด้วย พร้อมวาง 3 แนวปฏิบัติหลังมาตรการผ่อนปรน เน้นสายตรวจตื่นตัว เฝ้าระวังรับแจ้งเหตุคดีประสงค์ต่อชีวิตและทรัพย์สิน หวั่นซ้ำเติมประชาชน กรมควบคุมโรค สุ่มตรวจกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศแล้วกว่า 8 หมื่นคนจากเป้าหมาย 1 แสนคนยังไม่พบผู้ติดเชื้อ “ศักดิ์สยาม” แจ้งข่าวดี 1 ก.ค.เริ่มผ่อนปรนใครมาเป็นครอบครัว-คู่ ขึ้นรถไฟฟ้านั่งด้วยกันได้ ส่วนเงินเยียวยาผู้ประกอบการขนส่งทางบก-รถไฟ-รถเมล์-รถ บขส.ที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 วงเงิน 7,697 ล้านบาท เกษตรกรอุทธรณ์เงินเยียวยาเกือบ 2 แสนคน ข้าราชการและข้าราชการบำนาญอุทธรณ์ด้วยกว่า 11,401 คน พศ.อนุมัติให้วัดเริ่มจัดงานบุญได้แล้ว แต่ต้องมีมาตรการเคร่งครัด “เชียงใหม่” เริ่มเดินเครื่องโปรโมตท่องเที่ยวแล้ว

กรณีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนักในประเทศไทย ส่งผลให้รัฐบาลตัดสินใจประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยกระดับการควบคุมสถานการณ์แพร่เชื้อ สั่งปิดสถานที่หลายประเภทที่เป็นแหล่งชุมนุมของประชาชน บริษัทเอกชนจำนวนมากต้องปิดกิจการชั่วคราว สร้างผลกระทบกับลูกจ้างจำนวนมาก เป็นที่มาของมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทุกภาคส่วน ด้วยการให้ลงทะเบียนในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของรัฐบาลหลายเว็บไซต์เพื่อรับเงินเยียวยา ต่อมารัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. จนสถานการณ์ดีขึ้นจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ทยอยออกมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 มาถึงล่าสุดระยะ 3 และประกาศลดเวลาเคอร์ฟิวออกไปเป็น 23.00-03.00 น. แต่ยังต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปอีก 1 เดือนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. ล่าสุด ศบค.ชุดใหญ่เคาะผ่อนปรนระยะ 4 ปล่อยกิจการ/กิจกรรมเกือบหมดถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นผับ บาร์ และอาบอบนวด แถมยกเลิกเคอร์ฟิวมีผลตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

...

หน.ศปม.ให้กำลังใจตำรวจ

ความคืบหน้าจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 มิ.ย. พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.สส. ฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (หน.ศปม.) มาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจตำรวจ รวมถึงติดตามความคืบหน้าการทำงานศูนย์ปฏิบัติการด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปม.ตร.) โดยมี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. และผู้บังคับบัญชาระดับสูงให้การต้อนรับ ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. พล.อ.พรพิพัฒน์กล่าวว่า วันนี้มาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจศูนย์ปฏิบัติการด้านความมั่นคงในส่วนของตำรวจ ที่ปฏิบัติงานร่วมกันในสถานการณ์ระงับการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. และนำคำขอบคุณของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฐานะ ผอ.ศบค. มามอบให้ตำรวจที่ร่วมกันรักษาความสงบ และระงับการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสตอบสนองความต้องการและงานที่ได้รับมอบหมายเกี่ยวกับสาธารณสุข ตั้งด่านตรวจโควิด-19 ด่านเคอร์ฟิว 1,600 จุด ใช้กำลังพลทั่วประเทศ 4 หมื่นกว่านาย ถือว่าตำรวจเป็นส่วนสำคัญการระงับการแพร่ระบาดของไวรัส เมื่อเลิกเคอร์ฟิวตำรวจปรับรูปแบบการปฏิบัติงานตั้งจุดตรวจในจุดที่จำเป็น เพิ่มขีดความสามารถตรวจตรา ค้นหาเป้าหมายผู้ก่ออาชญากรรม การชุมนุม หรือกิจกรรมต่างๆที่อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

ชมเป็นส่วนสำคัญลดแพร่เชื้อ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทัศนะฝ่ายความมั่นคงประเมินว่า สถานการณ์ตอนนี้ควรต่อหรือยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พล.อ.พรพิพัฒน์กล่าวว่า ขอตอบในกรอบสถานการณ์ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด ขณะนี้ควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดได้ สิ่งสำคัญที่สุดที่นายกฯเน้นย้ำคือ ประเทศต้องเดินต่อไปได้ ผู้คนต้องทำมาหากินได้ เศรษฐกิจต้องเจริญเติบโตเป็นปกติ เราประเมินว่าอะไรก็ตามที่ลดหย่อนการเข้มงวดให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ ส่วนฝ่ายความมั่นคงทั้งทหารตำรวจพยายามยืดหยุ่นขั้นตอนต่างๆไม่กระทบการทำมาหากิน ยกตัวอย่างพบว่า ตำรวจปฏิบัติไม่ให้เกิดความเสียหาย เดือดร้อนรำคาญ ทุกนายปฏิบัติหน้าที่อย่างสุขุม สุภาพ นุ่มนวล ไม่มีร้องเรียนว่าทำเกินหน้าที่ นายกฯให้คำชมผ่านตนมาให้ ผบ.ตร. ไปบอกกำลังพล เรื่องตำรวจทหารยืนยันว่า มีหน้าที่บรรเทาความเดือดร้อนประชาชนมากที่สุด เรารู้ว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งหาเช้ากินค่ำลำบากจากมาตรการที่รัฐกำหนด ทหารตำรวจพยายามจัดโครงการปันสุขบรรเทาความเดือดร้อน ประเทศไทยแสดง ตัวอย่างให้ชาวโลกได้เห็นว่าความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวร่วมแก้ไขการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้านเศรษฐกิจอยากให้ทุกคนมองเห็นอนาคตร่วมใจอย่างที่เป็นอยู่ เพราะประเทศไม่สามารถเติบโตได้ด้วยความเกลียดชัง แต่เติบโตด้วยความกลมเกลียว

เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินมี ก.ม.อื่นดูแล

พล.อ.พรพิพัฒน์กล่าวต่อว่า สำหรับการเปิดประเทศอย่างเสรีต้องพิจารณาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจาก travel bubble หรือการให้สิทธิพิเศษการเดินทางเข้าออกประเทศระหว่างกันโดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเข้มข้น แต่ขณะนี้ยังติดขัดข้อปฏิบัติ ทั้งประเทศต้นทาง ปลายทาง และข้อกฎหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบให้รอบคอบ แต่เบื้องต้นหากไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การพิจารณาคนเข้าประเทศ เชื่อว่ากฎหมายปกติสามารถดูแลควบคุมการเดินทางเข้าออกได้ แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามกรณีนายกรัฐมนตรีกังวลเกี่ยวกับกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวในต่างประเทศ ผบ.สส.ปฏิเสธตอบคำถาม พร้อมเดินออกจากวงสัมภาษณ์ทันที

...

สรุปความผิดช่วงเคอร์ฟิว

พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงสรุปผลการปฏิบัติป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วงประกาศเคอร์ฟิวว่า ตัวเลขผู้กระทำความผิดช่วงเวลาเคอร์ฟิวทั่วประเทศตั้งแต่คืนวันที่ 3 เม.ย.ถึง 14 มิ.ย.รวม 72 วันพบว่า ฝ่าฝืนกระทำความผิดช่วงเคอร์ฟิวทั้งสิ้น 41,941 คน เฉลี่ยวันละกว่า 582 คน จำแนกรายละเอียดดังนี้ ความผิดจากการออกนอกเคหสถานโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีเหตุอันสมควรรวม 37,358 คน ดำเนินคดี 32,539 คน ตักเตือน 4,819 คน ความผิดรวมกลุ่มมั่วสุมในเคหสถานลักษณะเสี่ยงแพร่เชื้อ 4,583 คน ดำเนินคดี 4,474 คน ตักเตือน 109 คน สาเหตุการกระทำความผิดออกนอกเคหสถานโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีเหตุอันควร 3 ลำดับแรก 1.ออกมาทำธุระ 8,412 คนคิดเป็นร้อยละ 25 2.เดินทางกลับที่พัก 6,718 คนคิดเป็นร้อยละ 20 และ 3.ขับขี่ยานพาหนะเล่น 4,290 คนคิดเป็นร้อยละ 13 ส่วนสาเหตุการกระทำความผิดรวมกลุ่มมั่วสุมในเคหสถาน 3 ลำดับแรก 1.ดื่มสุรา 1,589 คนคิดเป็นร้อยละ 39 2.เล่นการพนัน 1,231 คนคิดเป็นร้อยละ 30 และ 3.เสพยาเสพติด 690 คนคิดเป็นร้อยละ 17

...

“บิ๊กตู่” สั่งปราบแว้นเฉียบขาด

“แม้ปัจจุบันรัฐบาลยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาห้ามแล้ว แต่ยังคงมีข้อกำหนดอื่นต้องถือปฏิบัติตาม เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มมั่วสุมลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ หรือการกระทำที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ขอฝากพี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือและปฏิบัติตาม ถือเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องช่วยกันรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การสวมใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง การล้างมือบ่อยๆ การใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ ขณะเข้ารับบริการตามสถานที่ต่างๆ รวมทั้งการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคที่ทางราชการกำหนด ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนร่วมจับมือเดินหน้ากับนายกรัฐมนตรี รวมไทยสร้างชาติไปด้วยกัน ขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน กรณีกลุ่มเด็กแว้นหรือกลุ่มวัยรุ่นจับกลุ่มรวมตัวแข่งรถ หรือพากันตระเวนขับขี่รถสร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน เรื่องดังกล่าวนายกฯสั่งการให้ดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด ฝากเตือนไปยังผู้ที่มีพฤติการณ์ และผู้ปกครองให้เลิกกระทำและกวดขันพฤติกรรมของบุตรหลาน นอกจากดำเนินคดีตัวเด็กแล้ว จะดำเนินคดีผู้ปกครองและผู้ให้การสนับสนุนด้วย” พล.ต.ท.ปิยะกล่าว

วาง 3 แนวทางตำรวจทั่วประเทศ

โฆษก ตร.กล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการของฝ่ายความมั่นคงและ ตร. ให้สอดคล้องมาตรการผ่อนคลายระยะ 4 พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.สส. และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. สั่งการและกำหนดแนวทางปฏิบัติให้ตำรวจทั่วประเทศ ดังนี้ 1.ดำรงความต่อเนื่องการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอาชญากรรมที่ซ้ำเติมประชาชน เช่น การประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สิน การกู้ยืมเงินอัตราดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด หรือการหลอกลวงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น เน้นการทำงานเชิงรุก ต้องเข้าไประงับเหตุทันที 2.เพิ่มการตอบสนองการแจ้งเหตุมากขึ้นตามช่องทางการแจ้งเหตุต่างๆ เช่น ชุดหมายเลขสายด่วน จุดรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน จุดรับแจ้งเหตุตามถนนต่างๆเพื่อให้ไปถึงจุดเกิดเหตุเร็วที่สุด ให้สายตรวจและชุดตรวจร่วมเพิ่มความเข้มตั้งจุดตรวจจุดสกัด กวดขันจับกุมอาชญากรรมที่กระทบต่อชีวิตประจำวันและความสงบสุขของประชาชน ความผิดเกี่ยวกับสถานบริการหรือความผิดอันฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 3.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกตรวจกิจการ/ กิจกรรมที่ได้ผ่อนคลาย การปฏิบัติจะเน้นให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนคือ 1.ขั้นประชาสัมพันธ์ 2.ขั้นแนะนำตักเตือน และ 3.หากมีเจตนาไม่ปฏิบัติตามหรือจงใจฝ่าฝืนให้จับกุมดำเนินคดี

...

ตรวจเชิงรุกประชากรกลุ่มเสี่ยง

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการดำเนินการตรวจเพื่อเฝ้าระวังและค้นหาการติดโรคโควิด-19 ในกลุ่มประชากรเสี่ยงหรือสถานที่เสี่ยง ดำเนินการทุกจังหวัดทั่วประเทศ พิจารณาจำนวนการตรวจแต่ละจังหวัดตามความเสี่ยงของข้อมูลทางระบาดวิทยา ประชากรกลุ่มเสี่ยง อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ต้องขัง ผู้ต้องกัก คนขับหรือพนักงานประจำรถสาธารณะ พนักงานไปรษณีย์ พนักงานส่งของ กลุ่มแรงงานต่างด้าวในแคมป์ก่อสร้างที่อยู่ในหอพักเดียวกันจำนวนมาก และกลุ่มอาชีพเสี่ยงอื่น เช่น แม่ค้า/พ่อค้าหรือพนักงานขายของในตลาด/ห้างสรรพสินค้า และสถานที่เสี่ยงที่คนรวมตัวกันจำนวนมาก อาทิ ชุมชนแออัด ศาสนสถาน สถานีขนส่งผู้โดยสาร และสถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น ใช้การเก็บตัวอย่างจากการขากเสลดและตรวจโดยการรวมกลุ่มตัวอย่าง (Pool Sample) ด้วยวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรม RT PCR ที่เป็นการตรวจมาตรฐาน

เป้าสุ่มตรวจแสนคน มิ.ย.นี้

“ขณะนี้ดำเนินการตรวจแล้วราว 8 หมื่นรายทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ ผลไม่พบเชื้อ แต่ตรวจพบผลเป็นบวกในผู้ป่วยรายเดิมที่เคยติดโรคโควิด-19 มาก่อน อาจเป็นการตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อที่ยังมีอยู่ในร่างกายได้ แต่มีการดำเนินการจนครบกระบวนการคือ นำไปเพาะเชื้อ เพื่อให้มั่นใจว่าเชื้อที่ตรวจเจอนั้นจะไม่แพร่กระจาย หรือมีความสามารถในการแพร่เชื้อ ผลการเพาะพบว่าเชื้อนั้นไม่มีการเติบโตจึงไม่มีความสามารถแพร่เชื้อต่อไป ทั้งนี้ ตามเป้าจะดำเนินการให้ครบ 1 แสนราย คาดว่าอย่างช้าที่สุดจะครอบคลุม 100 เปอร์เซ็นต์ภายในเดือน มิ.ย.2563” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

ตรวจแล้ว 8 หมื่นคนไม่พบติดเชื้อ

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวต่อว่า การตรวจเพื่อเฝ้าระวังในประชากรกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยงนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมั่นใจว่าไม่ได้หลุดรอด ไม่ตกหล่นจึงตรวจเชิงรุกด้วยการออกแบบการตรวจในคนปกติที่ไม่มีอาการ แต่มีโอกาสทางระบาดวิทยาที่จะได้รับเชื้อ จึงสุ่มตรวจทั้งหมด ตั้งเป้าหมายตรวจ 1 แสนราย ตรวจแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ไม่พบเชื้อ นำมาสู่การผ่อนคลายกิจการเป็นระยะๆ เพราะว่าในช่วงต้นหลังระบาดยังมีคนติดเชื้อตกค้างอยู่ จึงผ่อนปรนกิจการที่เสี่ยงน้อย ถัดมาจำนวนผู้ป่วยเริ่มน้อยลงอีก ก็ผ่อนปรนกิจการกลุ่มเสี่ยงเพิ่มขึ้น กระทั่งปัจจุบันบางกิจการที่ต่างประเทศไม่เปิด แต่ประเทศไทยเริ่มเปิด เพราะเชื่อว่าภายในประเทศเชื้อน้อยลงมากแล้ว

ไม่การันตี-ถ้าการ์ดตก

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ถ้าตรวจแบบเฝ้าระวังนี้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถการันตีได้หรือไม่ว่า ประเทศไทยน่าจะปลอดเชื้อโรคโควิด-19 แล้ว นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า คงไม่ได้ แต่ต่อให้มีบางคนที่ติดเชื้อหรือป่วย อาจเป็นเล็กๆน้อยๆ เชื่อว่าส่วนที่เหลือน่าจะเป็นคนที่ไม่มีอาการ เพราะถ้ามีอาการจะไปรับการรักษาที่ รพ. แต่คนกลุ่มนี้จะแพร่เชื้อต่อได้อย่างไร เมื่อคนไทยป้องกันด้วยการใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง เพราะฉะนั้นคนไทยต้องคงมาตรการป้องกันตัวไว้อย่าให้การ์ดตก

เตือนใช้รถสาธารณะหนาแน่น

พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศบค. เผยกรณีรถโดยสารสาธารณะต่างๆมีคนใช้หนาแน่นว่า หลังผ่อนคลายระยะ 4 ประชาชนเริ่มกลับมาทำงานตามปกติ วันที่ 1 ก.ค.จะเปิดการเรียนการสอนทุกระดับชั้น ความหนาแน่นผู้คนออกมาใช้ขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น ไม่ว่ารถเมล์ เรือ หรือรถไฟฟ้า ตามประกาศ ศบค.ฉบับที่ 5/2563 เรื่องการโดยสารสาธารณะ กำหนดให้หนาแน่น 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้โดยสารรวมทั้งหมด แต่ชั่วโมงเร่งด่วนจะหนาแน่นมากกว่านั้น ที่ทำได้คือ ต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อหรือแพร่กระจายเชื้อโดยสวมหน้ากากอนามัย สวมปิดทั้งปากและจมูก และพกแอลกอฮอล์เจลเสมอ ลดการสัมผัสในพื้นที่สัมผัสร่วม หากต้องสัมผัสจริงๆอย่าแคะแกะเกาตาจมูก แต่ควรรีบล้างมือ และเผื่อเวลาการเดินทาง หากเห็นว่ารถสาธารณะแน่นมาก อาจรอก่อนและค่อยรอคันถัดไป

ไฟเขียวคนมาด้วยกันนั่งติดได้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เผยหลังร่วมกิจกรรมแจกหน้ากากผ้าให้กับผู้โดยสารที่สถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที (MRT) สุขุมวิท ว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่อนคลายลง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนลดระยะห่างการโดยสารรถไฟฟ้าและระบบขนส่ง ให้ผู้ที่เดินทางแบบครอบครัวหรือเป็นคู่นั่งติดกันได้ แต่ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย คาดว่าสัปดาห์หน้ามีแนวทางปฏิบัติชัดเจน เริ่มผ่อนคลายใช้แนวทางประมาณวันที่ 1 ก.ค. แต่ต้องให้หน่วยปฏิบัติทำแนวทางบริหารจัดการที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันให้ผู้ใช้บริการ เสนอให้ รฟม.นำสติกเกอร์สัญลักษณ์แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เป็นกลุ่มคนที่เดินทางมาด้วยกัน เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด ส่วนรถโดยสารอื่นที่ใช้เวลาเดินทางนานกว่า 50 นาที ยังคงมาตรการเว้นที่นั่งเพื่อลดความเสี่ยง ข้อมูลสาธารณสุขระบุชัดเจนว่า หากเดินทางด้วยกันไม่เกิน 50 นาที สวมหน้ากาก ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์มีโอกาสติดเชื้อเป็นศูนย์ นอกจากนี้มีรายงานจากกรมการขนส่งทางรางพบว่า จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดขยับขึ้นมาเป็น 200,000 คนต่อวันแล้ว เตรียมแผนปรับการเดินทางช่วงเปิดเทอมเดือน ก.ค. ใช้แนวทางการเหลื่อมเวลาแก้ปัญหาการจราจรแออัด

เยียวยาผู้ประกอบการขนส่ง

นายศักดิ์สยามกล่าวต่อว่า สำหรับการเยียวยาผู้ประกอบการระบบขนส่งที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการช่วงการระบาดไวรัสโควิด-19 ผู้ประกอบการต้องให้บริการลักษณะการเว้นระยะห่าง (social distancing) ส่งผลกระทบรายได้และผลการดำเนินงานช่วงดังกล่าว ขณะนี้ได้ข้อสรุปส่วนผู้ประกอบการขนส่งทางบก ตนลงนามอนุมัติแล้ว ก่อนเสนอให้สภาพัฒน์พิจารณาต่อก่อนเสนอ ครม. กรอบวงเงินเยียวยาผู้ประกอบการภาคขนส่ง 7,697 ล้านบาท แบ่งเป็น กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) วงเงิน 4,773 ล้านบาท ชดเชยผู้ประกอบการรถโดยสารที่วิ่งในที่นั่ง 30 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่นั่งร่วม คิดราคาค่าโดยสารที่ต้องใช้มาตรการเว้นระยะห่างเดือน พ.ค.-ก.ค.2563 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) วงเงิน 614 ล้านบาท เป็นเงินสนับสนุนกรณีรายได้ค่าโดยสารลดลง และบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) วงเงิน 800 ล้านบาท ชดเชยรายได้ค่าโดยสารและรายได้ค่าขนส่งพัสดุ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วงเงิน 627 ล้านบาท เงินชดเชยรายได้ลดลง จากการงดเดินขบวนรถเชิงพาณิชย์ เดือน เม.ย.-มิ.ย. 63 ส่วนระบบขนส่งอื่นๆ เช่น ทางอากาศ ทางน้ำ มอบหมายให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม รวบรวมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอกรอบวงเงินฟื้นฟู

เกษตรกรอุทธรณ์เยียวยา

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โครงการช่วยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า จากการอุทธรณ์ทบทวนสิทธิ์และตรวจสอบสิทธิ์เกษตรกรผ่านเว็บไซต์ www.moac.go.th  หรือแอปพลิเคชัน “เกษตรดิจิทัล-Digital Farmer” ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.-5 มิ.ย.2563 เกษตรกรยื่นเรื่องอุทธรณ์ที่หน่วยงานระดับพื้นที่ทั้ง 8 หน่วยงานจำนวน 192,511 ราย รวม 194,021 เรื่อง แบ่งเป็น 6 กลุ่ม คือ 1.ไม่พบสิทธิ์เยียวยา 76,058 ราย 2.ได้รับการเยียวยา พบสิทธิ์แต่ยังไม่ได้รับเงิน 12,388 ราย 3.ถูกตัดสิทธิ์เยียวยาเนื่องจากเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ โครงการเราไม่ทิ้งกัน 1,254 ราย 4.เป็นผู้ได้รับสิทธิประกันสังคม 91,752 ราย 5.เป็นข้าราชการ 3,146 ราย 6.เป็นข้าราชการบำนาญ 7,895 ราย จากการตรวจสอบรายละเอียดการอุทธรณ์จำนวนมากทุกกลุ่ม แต่ต้องรวบรวมรายละเอียดปัญหาอุปสรรคเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้พิจารณาอีกครั้งว่ามีใครตกหล่น ไม่ได้รับการเยียวยา อาทิ กลุ่มที่สละสิทธิ์จากโครงการเราไม่ทิ้งกัน 1,254 ราย แล้วมาขอรับสิทธิ์เยียวยาเกษตรกร เมื่อยื่นอนุมัติได้สิทธิ์โครงการเราไม่ทิ้งกันแล้ว มาขอเยียวยาเกษตรกร สิทธิ์เดิมที่อนุมัติในโครงการเราไม่ทิ้งกันยังอยู่ ทำให้ไม่ได้รับสิทธิ์ทั้ง 2 โครงการ

มีข้าราชการแย้งสิทธิ์เยียวยาด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วยว่า จากการเข้าไปดูเหตุผลการอุทธรณ์พบว่ามีข้าราชการประจำและข้าราชการบำนาญ 11,041 ราย ยื่นอุทธรณ์เพื่อขอรับสิทธิ์การเยียวยาโดยให้เหตุผลเป็นข้าราชการอาชีพหลัก ทำเกษตรเป็นอาชีพเสริม แต่มีรายได้ต่ำ ขายผลผลิตได้น้อย ต้องการขอรับสิทธิ์เยียวยา ส่วนกรณี ธ.ก.ส.พบรายชื่อเกษตรกรเสียชีวิต 106,742 ราย ส่งรายชื่อมาที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบเป็นทะเบียนของกรมส่งเสริมการเกษตร 28,098 ราย กรมปศุสัตว์ 68,657 ราย และกรมประมง 9,967 ราย กำลังอยู่ระหว่างการหารือว่าสิทธิ์การเยียวยาเป็นสิทธิ์เฉพาะตัว หรือสิทธิ์ตกทอดได้ จำเป็นต้องพิจารณารายละเอียดของผู้ที่เสียชีวิตแต่ละรายด้วยว่า หากพบเสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2563 เป็นต้นมา อาจต้องแยกพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ ต้องรอกลุ่มที่ 3 คือ เกษตรกรกลุ่มที่ยังไม่ได้เพาะปลูกเพราะประสบภัยแล้ง ที่อนุโลมให้ดำเนินการเพาะปลูกจนถึงวันที่ 15 มิ.ย.63 กลุ่มนี้อาจมีผู้เสียชีวิตเป็นเจ้าของทะเบียนหรือหัวหน้าครอบครัว ส่วนผลการโอนเงินช่วยเหลือเกษตรกร ธ.ก.ส.โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.-16 มิ.ย. รวมทั้งสิ้น 46,178 ล้านบาท

กลุ่มนักดนตรีขอกลับมาทำงาน

ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ (สำนักงาน ก.พ.) กลุ่มนักดนตรีอาชีพอิสระ กว่า 50 คน รวมตัวยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้นักดนตรีกลางคืน และนักดนตรีอาชีพอิสระกลับไปทำงาน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ร้านอาหารและสถานประกอบการกลางคืนต้องปิดให้บริการ ทำให้ขาดรายได้กว่า 3 เดือน น.ส.พรพรรณ เภตรารัตน์ ตัวแทนกลุ่มกล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิดเบาบางลงแล้ว ศบค.อนุญาตเปิดกิจกรรม/กิจการเฟส 4 แล้ว ร้านอาหารเปิดให้บริการได้ แต่นักดนตรียังไม่สามารถกลับไปทำงาน หากยังไม่ได้กลับไปทำงานภายในเดือน ก.ค.เท่ากับว่า เรามีรายได้ 0 บาทถึง 4 เดือน หรือ 4 รอบบิล ส่งผลถึงความเดือดร้อนมากมาย คาดว่าประเทศไทยมีผู้ประกอบอาชีพนักดนตรีอาชีพได้รับผลกระทบกว่า 1 แสนคน หมายความว่ามีผู้เดือดร้อนถึง 1 แสนครอบครัว ขอโอกาสให้เรากลับไปทำงานตามปกติภายใน 7 วัน

พศ.อนุมัติให้วัดจัดงานบุญ

นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ทำหนังสือลงวันที่ 17 มิ.ย. แจ้งไปยังเจ้าคณะจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เรื่องการผ่อนปรนจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาระบุว่า ให้ผ่อนปรนการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา กำหนดแนวทางปฏิบัติดังนี้ 1.การประกอบพิธีถวายเทียนพรรษาวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วัดอาจเปิดให้พุทธศาสนิกชนร่วมประกอบพิธีถวายเทียน พรรษาได้ โดยวัดกำหนดแนวทางที่เหมาะสม เช่น จัดให้ประชาชนเข้าถวาย เทียนพรรษาเป็นรอบๆ ตามจำนวนให้เหมาะสมกับสถานที่ 2.การประกอบพิธีไหว้พระสวดมนต์ การฟังเทศน์ ฟังธรรม การเจริญจิตภาวนา เนื่องใน วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาให้ดำเนินการได้ จัดที่นั่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามระยะห่างระหว่างบุคคล และทำความสะอาดอาคารสถานที่เป็นประจำ 3.การประกอบพิธีเวียนเทียนวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาให้กำหนดช่วงเวลาการเวียนเทียน 4.เปิดบริการวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธได้ โดยให้มีความปลอดภัย เช่น การกำหนดจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม เข้าสักการะเป็นรอบๆ เป็นต้น

เชียงใหม่เปิดเมืองท่องเที่ยว

ส่วนบรรยากาศหลังประกาศผ่อนปรนเฟส 4 ในต่างจังหวัด ที่ข่วงประตูท่าแพ อ.เมืองเชียงใหม่ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรม “เชียงใหม่เมืองสะอาด ปลอดภัย ไร้กังวล Chiangmai Safety City Destination” มีนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.เชียงใหม่ พร้อมด้วยสมาคมและธุรกิจภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่
เข้าร่วมจำนวนมาก นายนิพนธ์กล่าวว่า จ.เชียงใหม่ ยังคงเป็นจังหวัดเป้าหมายของนักเดินทาง ทุกภาคส่วน ต้องประชาสัมพันธ์ความพร้อมให้บริการด้านการท่องเที่ยวปลอดภัย นำวิถีชีวิต วัฒนธรรมมากระตุ้นเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการแหล่งท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อ ป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยังคงมาตรการนิวนอร์มอล การเว้นระยะห่าง การใช้คิวอาร์โค้ดแอปพลิเคชันไทยชนะ มีเจลแอลกอฮอล์ให้นักท่องเที่ยวใช้ล้างมือ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสถานบริการที่ได้มาตรฐานสากล

นศ.แห่สมัครทำงานสู้โควิด

ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหา วชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ อ.เมืองบุรีรัมย์ กลุ่มนักศึกษาจบใหม่และประชาชนทั่วไปที่ว่างงาน สมัครเข้าทำงานตามโครงการจ้างงานประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เฟส 2 จำนวน 300 อัตรา 22 หลักสูตร อัตราค่าจ้าง 9,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลาการจ้าง 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย.63) เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 18-22 มิ.ย. รศ.มาลิณี จุโฑปะมา รรท.อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เผยว่า ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติคือ มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างการกักตัว รวมถึงไม่ได้เป็นผู้ที่ได้รับเงินจากมาตรการเยียวยาต่างๆของรัฐบาล หากตรวจพบจะถือว่าการสมัคร เป็นโมฆะ