“หายใจเจอ...อาหารก็เจอ... เปิดบ้านไม่ได้ต้องปิดประตู หน้าต่าง ออกนอกบ้านต้อง...N95 (ใส่หน้ากาก)...อยู่ในบ้าน ในรถต้องมีเครื่องฟอกอากาศ คนทั่วไปไหวหรือ...ถึงเวลาต้องยอมรับและต้องกำจัดต้นตอที่เกิดมลพิษจิ๋วแต่เหี้ยมโหดเหล่านี้”
หนึ่งในประโยคบ่นทำนองตัดพ้อต่อชีวิตคนกรุงฯใต้ฟ้าเมืองไทย ผ่านเฟซบุ๊กสังคมโซเชียล ต้องขอโทษเจ้าของทัศนะนี้ไว้ด้วยที่ไม่ได้ให้เครดิตว่ามาจากไหน
ผู้ใช้นามว่า “Witsanu Attavanich” โพสต์ไว้เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2563 ชี้ว่า...“เช้านี้ มาอีกแล้ว! จนเหมือนเป็นเรื่องปกติ #NewNormal (12 ม.ค.63) ค่าฝุ่นพิษ PM 2.5 (สารก่อมะเร็งกลุ่ม 1) อยู่ในระดับอันตรายมาก!! ในกรุงเทพและปริมณฑล และพื้นที่หลายจังหวัดในภาคกลาง...”
ปัจจัยหลักมาจากการ “เผา” ในประเทศผสมกับฝุ่นในพื้นที่ภาพการตรวจวัดทั่วประเทศบ่งชี้ว่าฝุ่นมาจากการเผาในภาคเกษตรบริเวณภาคกลางเหนือกรุงเทพฯ แล้วลมพัดพาฝุ่นเข้าในพื้นที่ สังเกตจุดความร้อนที่กระจุกตัวอย่างมาก (ที่วงไว้สีขาว)

...
...ลมใต้ยังไม่สามารถเอาชนะลมเหนือได้ ฝุ่นข้ามพรมแดนจากกัมพูชาก็มีส่วน แต่ไม่มากวันนี้เพราะทิศทางลมช่วยไว้และมีจุดความร้อนลดลงอย่างมาก
“พรุ่งนี้โดยเฉพาะช่วงเช้า และลากยาวๆทั้งอาทิตย์ คาดว่าจะมีฝุ่นต่อเนื่อง รักษาสุขภาพด้วยนะครับ โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ รวมทั้งกลุ่มเสี่ยงควรงดออกกลางแจ้งช่วงฝุ่นเยอะนะครับ ตรวจค่าฝุ่นก่อนออกจากบ้านนะครับ ช่วยแจ้งเตือนภัยเงียบให้กับคนที่คุณรักนะครับ”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า...ฝุ่นละอองจิ๋วคือ “ภัยเงียบ” สำคัญที่เป็นตัวกระตุ้นโรคเลวร้าย
พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผอ.สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค สะท้อนไว้ว่า เมื่อสูดดมฝุ่น PM 2.5 เข้ามาสู่ร่างกาย อนุภาคจะทำให้เกิดการระคายเคือง เริ่มตั้งแต่เข้า “โพรงจมูก” ก็มีผลต่อร่างกาย สามารถก่อให้เกิดโรคต่างๆ มีทั้งแบบเฉียบพลันและสะสม ที่มักเกิดขึ้นในระบบ
ทางเดินหายใจ ไอ เจ็บคอ
โดยเฉพาะ “โรคหอบหืด” ที่เป็นโรคอักเสบเรื้อรังเยื่อบุหลอดลม เพราะฝุ่นละออง PM 2.5 เข้าเกาะหลอดลม ทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมเกิดการหดเกร็ง และผนังหลอดลมบวมหนาขึ้น จนมีเสมหะมากขึ้น และหลอดลมตีบแคบลง ผู้ป่วยหายใจลำบาก ในบางรายมีอาการรุนแรงมาก อาจอันตรายถึงชีวิต

หากไม่เสียชีวิต...แต่ผู้ป่วยขาดอากาศบริสุทธิ์ ทำให้สมองขาดออกซิเจน กลายเป็นผู้ป่วยอัมพาตก็ได้ ซึ่งในช่วงฝุ่นละออง PM 2.5 หนาแน่น พบว่ามีผู้ป่วยที่เข้ามารักษาอาการโรคหอบหืดตามโรงพยาบาลต่างๆ มากมายเท่าตัว
ที่ผ่านมา...ไม่มีกระบวนการพิสูจน์ต้นเหตุของการป่วยที่เกิดจากการรับมลพิษทางอากาศ PM 2.5 นำมาสู่การเสียชีวิต...ส่วนใหญ่แพทย์ลงความเห็นสาเหตุ “การเสียชีวิต” เกิดจากอะไรเท่านั้น
ทำให้ไม่มีตัวเลขเชิงสถิติแน่ชัด แต่วงการแพทย์เชื่อว่า...การเสียชีวิตเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหลายโรค มีต้นเหตุเกิดจาก PM 2.5
แน่นอนว่า...ปัญหา “ฝุ่นจิ๋วพิษ” ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป “PM 2.5 ระดับสีแดง สีม่วงหน้าเขียว มีข้อพิสูจน์ ในวารสาร circulation เร็วๆนี้ ก่อให้เกิดสารอักเสบในร่างกาย โดยตัวการอักเสบเหล่านี้เชื่อมโยงกับการที่มีเส้นเลือดผิดปกติและเกิดภาวะหัวใจวายและสมองเสื่อม”
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” โพสต์ข้อมูลเตือนภัยสุขภาพในประเด็นน่าสนใจอีกว่า ปี 2563 ประเทศไทยกับความจำเป็นในการเฝ้าระวังโรคใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 “โรคติดต่ออันตราย”
หากเจอต้องมีการควบคุม ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2559 ประกอบด้วย 1.กาฬโรค 2.ไข้ทรพิษ 3.ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก 4.ไข้เวสต์ไนล์ (West Nile Fever) 5.ไข้เหลือง 6.โรคไข้ลาสซา 7.โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ คล้ายเป็นหวัด มีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สมองอักเสบ 8.โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก 9.โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 10.โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา 11.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส และ 12.โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส
...
กลุ่มที่ 2 “โรคติดต่อที่เชื้อมีอยู่แล้วในพื้นที่” ประจำถิ่นอยู่แล้ว ณ ขณะนี้ ซึ่งยังต้องจับตามองอยู่ เช่น เชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ ถ้าพบได้มากขึ้น รุนแรงขึ้น ผิดฤดูกาล ลักษณะอาการผิดแผกจากเดิม และรวมไปถึงเชื้อโรคทางเดินอาหาร เชื้อโรคระบบทางเดินหายใจ อื่นๆนอกจากไข้หวัดใหญ่
นอกจากนี้ เชื้อโรคสมองอักเสบ เช่น ถ้าพบมีการผันแปรมากขึ้น แทนที่จะพบบริเวณสมองใหญ่กลับไปเจอที่แกนสมอง หรือมีอาการอื่นๆ
ร่วมด้วยเพิ่มจากเดิม เช่น ท้องร่วง ปอดบวม เหล่านี้แสดงว่าตัวเชื้ออาจมีวิวัฒนาการในทางดุร้ายขึ้น หรือผ่านเข้าไปในตัวเพาะโรค รังโรคชนิดใหม่ ทำให้เชื้อมีการพัฒนา
และกลุ่มที่ 3 ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ สภากาชาดไทย ได้เก็บข้อมูลไวรัสในค้างคาวพบว่า มี “เชื้อไวรัส 600 ชนิด” ที่ไม่ทราบชื่อ

ซึ่งอาจมีความเสี่ยงจะไปติดต่อสู่ “สัตว์” อื่น และอาจนำไปสู่การติดต่อจาก “สัตว์สู่คน” ได้ และในที่สุด...“คนสู่คน” เนื่องจากค้างคาว เป็นสัตว์นำโรคชนิดแรกๆ เหมือนอย่างไข้สมองอักเสบ นิปาห์ เฮนดรา
...
ดังนั้น เชื้อไวรัสทั้ง 600 ชนิด จึงเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ฝากทิ้งท้ายว่า หากเราพบผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสแปลกๆ หรือตรวจไม่พบว่า มีเชื้อที่ก่อโรคในกลุ่มที่ 1 และ 2 เราต้องสงสัยแล้วว่า...อาจเป็นกลุ่มที่ 3
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นต้องรีบ “ควบคุม” ก่อนจะ “ระบาด”
เช่น โรคปอดบวมในประเทศจีนอู่ฮั่น ซึ่งเกิดจากไวรัสที่คล้ายซาร์ส ในตระกูลโคโรน่าไวรัส และสืบสาวราวเรื่องต้นตอจากค้างคาว แต่ไม่ได้หมายความว่า...การระบาดครั้งนี้มาจากค้างคาวโดยตรง แต่ผ่านมาทางกระบวนการผันแปรทางตัวนำอื่นๆ และมายังคน
ทั้งนี้...“ความรุนแรงของโรค” จะมีการพัฒนาขึ้นอีกหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด เนื่องจากไวรัสตัวนี้แท้ที่จริงแล้วกำเนิดมานานเป็น 10 ปีแล้วแต่ไม่ได้มีความรุนแรงให้เห็นโรคในคน

...
โรคติดเชื้อ “อุบัติใหม่”...“อุบัติซ้ำ” เป็นผลจากการที่เกิดมีการคุกคามด้วยเชื้อโรคใหม่ที่ไม่เคยเห็นหน้าเห็นตามาก่อน หรือแม้แต่เชื้อเก่าที่หายสาบสูญไปแล้วก็กลับโผล่หน้าออกมาใหม่ โดยที่มีการทะลักล้นของสัตว์ ซึ่งสามารถอมโรคอยู่ในตัวโดยตัวเองไม่เจ็บป่วยเกิดเพิ่มปริมาณมากขึ้น
และ...ขยายขอบเขตรุกล้ำเข้าไปในเขตอาณาบริเวณใหม่ และ...ด้วยความที่มีตัวช่วย เช่น ยุง แมลง เห็บ ไร ริ้น จะนำพาเชื้อโรคจากตัวอมโรคเข้าไปในสัตว์อีกกลุ่ม เพื่อเป็นที่เพาะพันธุ์เชื้อโรคเหล่านี้ให้งอกงามในตัว จากนั้น...“ตัวช่วย” ก็จะมากัดเก็บเชื้อที่เต็มปรี่ในตัวเพาะพันธุ์ กลับมาปล่อยสู่ “สัตว์” หรือ “คน” อีกต่อ
“โรคที่เกิดในคนนี้แท้จริงมีต้นกำเนิดมาจากสัตว์เกือบทั้งนั้น ย้ำว่า...ต้องมีการเฝ้าระวังติดตามเชื้อที่อยู่ในสัตว์จนมาถึงคนอย่างเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง ดีกว่าวัวหายแล้วมาเร่งล้อมคอก...ตื่นตัวดีกว่าตื่นตูม....อย่าตื่นตัวแค่ชั่วขณะเหมือนไฟไหม้ฟาง”.