จาก 5 ปีเหลือ 4 ปี-สภา กทม.เห็นชอบเตรียมเสนอฝ่ายบริหาร

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภา กทม. นายคำรณ โกมลศุภกิจ สมาชิกสภา กทม. ได้รายงานผลการศึกษาโครงการรถบริการด้านขนส่งมวลชนให้แก่ผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นว่า โครงการดังกล่าว กทม.ได้ให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด นำร่องโครงการเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2555 ในรูปแบบการบริการเพื่อตอบแทนคืนแก่สังคม (CSR) โดยมีรถตู้ให้บริการฟรี 10 คัน ให้บริการถึงวันที่ 27 ก.พ. 2558

ต่อมาสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้รับมอบหมายให้ทดลองเดินรถแท็กซี่สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ระยะที่ 1 โดย สจส.ได้ว่าจ้างเคทีโดยวิธีพิเศษ เป็นผู้บริหารจัดการโครงการ ดำเนินการ 8 เดือน งบประมาณ 29.7 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.2558-5 ก.พ.2559 และในระยะที่ 2 สจส. ได้มอบหมายให้เคที เป็นผู้ดำเนินโครงการ ตามบันทึกข้อตกลงการ มอบหมายกิจการในอำนาจหน้าที่ของ กทม.เกี่ยวกับโครงการรถบริการสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นระยะเวลา 5 ปี ลงนามเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2559 และแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2561 สาระสำคัญที่ปรับแก้คือ ปรับระยะเวลาดำเนินการจากเดิม 5 ปี เหลือ 4 ปี ปรับลดวงเงินอุดหนุนปีสุดท้ายออก รวมระยะเวลา 4 ปี เป็นเงินอุดหนุน 112.9 ล้านบาท โดยในระยะที่ 2 นี้มีรถให้บริการทั้งหมด 30 คัน

นายคำรณระบุว่า คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้มีความคิดเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการ อาทิ ทรัพย์สินจากการดำเนินการ ซึ่งได้จากงบประมาณที่ กทม. อุดหนุน ควรตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ กทม., การจัดสรรเงินอุดหนุน ควรจ่ายเงินเป็นรายงวด ตามผลงานที่ดำเนินการได้จริง เพราะเดิม กทม.จ่ายล่วงหน้าทั้งปีเต็มจำนวน, หมายเลขที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร ควรเป็นเลขที่จดจำได้ง่าย หรือควรเป็นเลขสี่หลัก เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายงานผลการศึกษา และสรุปให้ฝ่ายบริหาร กทม.พิจารณาดำเนินการต่อไป

...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการดังกล่าว ดำเนินการในสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี 2555 สำหรับการให้บริการสามารถติดต่อศูนย์บริการเพื่อทำการนัดหมายสถานที่และเวลาในการไปรับและส่งผ่านทาง Call Center หมายเลข 0-2294-6524 ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. โดยรถบริการจะให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00-22.00 น.ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ผู้ใช้บริการต้องจองล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 วัน ทั้งนี้ ได้แบ่งลำดับกลุ่มผู้ใช้บริการเป็น 3 กลุ่ม

ลำดับ ดังนี้ 1.ให้บริการสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางไปโรงพยาบาล เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก 2.โดยสารไปติดต่อสถานที่ราชการ สมาคม มูลนิธิ เป็นกลุ่มเป้าหมายรอง และ 3.เดินทางไปธุระส่วนตัวนอกเหนือจากกลุ่ม 1 และ 2 โดยนำผู้โดยสารไปส่งที่สถานที่ต่างๆที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ และอื่นๆ ทั้งนี้สถิติผู้ใช้บริการ ตั้งแต่ ต.ค.2559-ก.ย.2562 มีผู้ได้รับบริการ 27,447 ราย จากจำนวนผู้ติดต่อขอรับบริการ 37,490 ราย มีผู้ได้รับการ ปฏิเสธการให้บริการ 10,043 ราย.