วงการสีกากีฉาวอีก คราวนี้เป็นตำรวจยศ “พ.ต.ต.” สวป.สภ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ไปกู้เงินผู้เสียหาย 1 ล้านบาทแต่ไม่มีปัญญาจ่าย วางแผนให้คนอ้างเป็น ผอ.กองคดี 1 ปปง. อายัดเงินที่จะเอามาคืนไว้ ใจถึงให้เบอร์โทรศัพท์พูดคุยด้วย ความแตกเพราะเหยื่อเหลืออดลุยไปพบ ผอ.ตัวจริงถึง ปปง. “บิ๊กโจ๊ก” เรียกมาเคลียร์ รับสารภาพทำเพราะยังไม่มีเงินล้านใช้หนี้ โดนแน่ๆเรื่องวินัยตำรวจ ส่วนคดีอาญารอ ผอ.กองคดี 1 ปปง. ตัดสินใจ หลังรับปากคืนเงินผู้เสียหายสิ้นเดือนนี้
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 22 ต.ค. พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รรท.ผบช.สตม. เผยกรณีมีผู้แอบอ้างเป็นนายพีระพัฒน์ อิงพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการกองคดี 1 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในการกู้ยืมเงินจำนวน 1 ล้านบาท มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตรเข้าไปเกี่ยวข้องว่า วันนี้เชิญทั้ง 2 ส่วน เข้ามาพูดคุย กระทั่งความจริงปรากฏว่า นายพีระพัฒน์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นการแอบอ้างของ พ.ต.ต.อธิสรรค์ โพธิ์ศรี สวป.สภ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ไปยืมเงินประชาชน 1 ล้านบาทแต่ไม่สามารถหาเงินมาใช้ได้ จึงแอบอ้างว่าเงินที่จะนำมาคืนถูก นายพีระพัฒน์อายัดไว้ พร้อมให้เบอร์โทรศัพท์ตำรวจ อีกนายปลอมเป็นนายพีระพัฒน์พูดคุยและส่งข้อความติดต่อกันนานนับเดือน
“เมื่อนายพีระพัฒน์ทราบเรื่อง เรียกผู้เสียหายและตำรวจนายดังกล่าวมาพูดคุย เรื่องนี้ไม่ใช่การฉ้อโกง แต่เป็นการกู้ยืม พ.ต.ต.อธิสรรค์ยืนยันว่ายินดีจะคืนเงิน 1 ล้านบาทให้คู่กรณีภายในสิ้นเดือนนี้ และผู้เสียหายที่ร้องเรียนจะไม่ติดใจเอาความ แต่เรื่องวินัยจะถูกเอาผิดแน่นอน” รรท.ผบช.สตม.กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าววันนี้ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์เชิญตัวผู้เสียหายและ พ.ต.ต.อธิสรรค์ มาด้วย ผู้เสียหายเป็นชายไม่เปิดเผยชื่อกล่าวว่า พ.ต.ต.อธิสรรค์มายืมเงิน 1 ล้านบาท บอกว่าจะนำเงินสหกรณ์มาคืนให้ แต่หลังจากนั้นบ่ายเบี่ยงมาตลอด ต่อมามีบุคคลแอบอ้างเป็น ผอ.พีระพัฒน์ติดต่อพูดคุยถึงความเป็นมาต่างๆ กระทั่งมารู้ความจริงเมื่อเดินทางมาหา ผอ.พีระพัฒน์ที่สำนักงาน ปปง.ว่า ท่านไม่รู้เรื่อง จึงรู้ว่าถูกหลอก ด้าน พ.ต.ต.อธิสรรค์ กล่าวเพียงสั้นๆว่า ขอโทษผู้บังคับบัญชาที่ทำไปไม่ได้ตั้งใจพาดพิง ผอ.พีระพัฒน์ เพียงแต่ต้องการยื้อเวลาชดใช้หนี้เท่านั้น
...
ขณะที่นายพีระพัฒน์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ ปปง.ถูกแอบอ้างอยู่เรื่อยๆ ขอเรียนการทำงานของ ปปง. การตรวจสอบดำเนินคดีเราใช้ระบบการตรวจสอบมาตรฐานสากล กำหนดกฎเกณฑ์ถ่วงดุลอำนาจกันทุกช่วงการทำคดี ยกตัวอย่างหลังมีคดีเสนอเข้ามา กองคดีจะจ่ายให้ชุดปฏิบัติการ ชุดปฏิบัติการแบ่งออกเป็น 4 ชุด แต่ละชุดมีเจ้าหน้าที่ 14-18 คนแบ่งหน้าที่กันทำเช่น บางคนไปสอบเส้นทางการเงินกับธนาคาร บางคนไปตรวจสำนักงานที่ดิน บางคนไปสอบตลาดหุ้น นอกจากนี้ ยังมีเนติบัณฑิตไปตรวจสอบคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อสอดรับข้อเท็จจริงในคดี
“เมื่อตรวจสอบเสร็จจะเสนอหัวหน้าชุด เสนอ ผอ.ส่วน ก่อนเสนอ ผอ.กอง และเสนอต่อไปยังคณะกลั่นกรองคดีมีอีก 10 คนเป็นคณะทำงาน ผ่านตรงนี้ต้องผ่านกองกฎหมาย ต่อไปยังผู้ช่วยเลขาธิการ ปปง. เสนอต่อไปยังเลขาฯ ก่อนเสนอความเห็นเข้าคณะกรรมการ ที่มีศาลยุติธรรมเป็นประธาน มีอธิบดีอัยการ ศาลปกครอง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ถึงจะมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดออกมาได้” ผอ.กองคดี 1 ปปง.กล่าว
นายพีระพัฒน์กล่าวต่อว่า การทำงานของ ปปง. ไม่มีช่องตรงไหนไปวิ่งเต้นเพื่อให้เกิดการบิดเบือนคดีได้ การเคลียร์คดีใน ปปง.ยืนยันเกิดขึ้นไม่ได้ แต่การแอบอ้างไม่มีทางที่จะหมดไป การทำงานของ ปปง.ทำงานเชิงรุกไม่ใช่เชิงรับเหมือนอดีต ถ้าองค์กร ปปง.เสียหายจะกระทบเรื่องมาตรฐานสากลที่เราเพิ่งผ่านเทียร์มาได้ 3 ปี จากเดิมเคยถูกเฝ้าระวังการฟอกเงิน ขณะนั้นนักลงทุนต่างชาติไม่สามารถมาลงทุนบ้านเราได้ด้วยเหตุผลเป็นประเทศถูกเฝ้าระวัง แต่ขณะนี้ไม่มีตรงนั้น ยืนยันว่า ปปง.ไม่สามารถวิ่งเต้นคดีได้
ผอ.กองคดี 1 ปปง.กล่าวด้วยว่า ส่วนเหตุการณ์แอบอ้างดังกล่าว เป็นเรื่องการกู้ยืมเงินของ พ.ต.ต.อธิสรรค์ แต่ยังไม่มีเงินใช้ผู้เสียหาย จึงมีขบวนการแอบอ้างใช้ชื่อว่า “ผอ.พัฒน์ที่ ปปง.” ผู้เสียหายเข้าใจว่าเป็นตน ติดต่อกันผ่านเอสเอ็มเอส ผู้ที่แอบอ้างเป็นตนชี้แจงรายละเอียดที่ยังไม่สามารถคืนเงินได้ เพราะอยู่ระหว่างอายัดเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ ไม่ระบุว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจที่ไหน แอบอ้างอยู่นานนับเดือน กระทั่งผู้เสียหายมาติดต่อพบตนที่ ปปง.จึงรู้ความจริงทั้งหมด เรื่องนี้ตนได้รับความเสียหาย องค์กรได้รับความเสียหาย แต่ยังไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีอะไร ให้ตำรวจคนดังกล่าวเคลียร์เงินกับผู้เสียหายก่อน จะดำเนินการอย่างไรต่อจากนี้ค่อยว่ากันอีกครั้ง