ปิดตำนาน “เขาดิน” หรือ “สวนสัตว์ดุสิต” ที่ส่งต่อความสุขของคนไทยมาแล้วรุ่นต่อรุ่นกว่า 80 ปีบริบูรณ์ นับตั้งแต่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2481
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 2 ตุลาคม 2561 บันทึกความทรงจำ พาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง “ปิดเขาดินถาวร ยอดขายบัตร 2.7 ล้าน”...คนดู 3.5 หมื่น ผอ.โบกมือลา นาทีสุดท้าย!
แฟนพันธุ์แท้เขาดินที่เดินทางมาเก็บความทรงจำครั้งสุดท้ายในวันสุดท้ายมาจากทั่วทุกสารทิศ บางคนมาไกลถึงต่างแดนบินข้ามฟ้าข้ามทะเลมาจากต่างประเทศ บางคนมาไกลจากต่างจังหวัด เชียงราย ยะลาก็มี

...
ความรู้สึกเหมือนๆกัน อยากมา อยากพาลูกๆหลานๆมาร่วมรำลึกความหลัง...ความเป็นสวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทย หลายคนมาเที่ยวตั้งแต่ตัวเองยังเด็ก จนมีครอบครัวแล้วก็ยังพาลูก...พาหลานมาเที่ยว เป็นรุ่นสุดท้าย เพื่อเก็บความทรงจำดีๆเอาไว้
เก็บภาพบรรยากาศ สถานที่ต่างๆ บึงน้ำ...ปั่นเรือเป็ดร้านค้า...ร้านขายของที่ระลึก โซนจัดแสดง อาทิ โซนสัตว์น้ำ เพนกวิน แมวน้ำ โซนสัตว์แอฟริกา ยีราฟบินลาเดน ช้าง ช้างน้อย...น้องตาหวาน ม้าลาย โซนสัตว์เล็ก แพะ ม้าแคระ เมียร์แคท หมีโคอาลา หมีหมา โซนสัตว์นักล่าทักทาย เสือ สิงโต หมีพันธุ์ต่างๆ ฯลฯ
และ...แน่นอนว่า “แม่มะลิ” วัย 52 ปี ยังคงเป็นฮิปโปฯขวัญใจมหาชนดารารุ่นเก๋าขาประจำที่นี่

มนไศล บอลลิเกอร์ อายุ 49 ปี มาจากนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย บอกว่า ตั้งใจมาเมืองไทยเที่ยวอำลาสวนสัตว์ดุสิตโดยเฉพาะ เพื่อย้อนวันวานถึงวันเก่าสมัยเป็นนักเรียน เพราะชอบมานั่งเล่น ปั่นเรือล่องน้ำ
“สมัยนั้น...สัตว์ที่ฮือฮายังเป็นแม่มะลิ ช้าง ยีราฟ ส่วนการปิดสวนสัตว์ดุสิต รู้สึกใจหาย เพราะหลายคนผูกพันกันมาในทุกช่วงของชีวิต ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น จนกระทั่งแต่งงานมีลูก...ก็ยังพาลูกมาเที่ยวเขาดินแต่เราก็ต้องยอมรับ เพื่อให้เกิดการพัฒนาสวนสัตว์ที่ดี เป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนในอนาคตต่อไป”
เขาดินปิดตัวลงแล้ว...ภายใน 120 วัน สัตว์ทั้งหมดจะถูกย้ายไปยังสวนสัตว์ 6 แห่ง ภายใต้การดูแลขององค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แก่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี, สวนสัตว์เชียงใหม่, สวนสัตว์นครราชสีมา, สวนสัตว์สงขลา, สวนสัตว์อุบลราชธานี, สวนสัตว์ขอนแก่น
กระบวนการย้ายจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 2-3 ตุลาคม 2561 โดยเป็นกลุ่มสัตว์เล็กก่อน เช่น สัตว์ปีก ส่วนสัตว์ใหญ่อย่างฮิปโปโปเตมัส เช่น แม่มะลิ ถั่วแดง จะย้ายไปที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียวช่วงเดือนธันวาคม
พิทักษ์ อุ่นซ้อน ผอ.สวนสัตว์ดุสิต บอกว่า การเคลื่อนย้ายสัตว์ 179 ชนิด จำนวน 1,088 ตัว จะดูถึงความขาดแคลนสัตว์ชนิดไหนในส่วนจัดแสดง หรือต้องการจับคู่สัตว์ให้ครบ เพื่อนำสัตว์ในสวนสัตว์ดุสิตไปเติมให้สมบูรณ์ กระจายไปตามสวนสัตว์ทั่วประเทศทั้ง 6 แห่ง

“การทำแผนเคลื่อนย้ายสัตว์เสร็จสิ้นแล้ว ตอนนี้ประสานให้ปศุสัตว์จังหวัดปลายทางมาตรวจโรค ทำเอกสารเคลื่อนย้ายสัตว์ต่างๆ ส่วนสัตว์เจ็บป่วยยังไม่มีการเคลื่อนย้ายจนกว่าจะหายดี”
การย้ายแม่มะลิ...มีความหนักใจ เพราะอายุมาก ตามแผนเคลื่อนย้ายจะทำกันในเวลากลางคืน ส่วนกรงก็ต้องทำขึ้นมาเป็นพิเศษ ภายในมีน้ำหมุนเวียนฉีดพ่นตลอด เจ้าหน้าที่ได้นำกรงมาฝึกเทียบให้แม่มะลิเข้านอน ฝึกกินอาหารตอนกลางคืน ให้คุ้นชิน 1 เดือนแล้ว...
...
ที่สำคัญ...ต้องใช้คนให้น้อยที่สุด เพราะเกรงว่าแม่มะลิจะตกใจ
สำหรับการเดินทางต้องแวะจอดเป็นระยะ เช่นเดียวกับยีราฟมีความสูง 5 เมตร ต้องทำกรงพิเศษ รถขนย้ายต้องเป็นรถบรรทุกล้อต่ำ เมื่อไปถึงสวนสัตว์ใหม่สัตว์ต้องกักบริเวณออกจากสัตว์ตัวอื่นเพื่อให้คุ้นเคยสถานที่ ก่อนปล่อยรวมกับฝูงอื่น...และทุกการเคลื่อนย้ายจะมีการจับเวลาทุกขั้นตอน
“เราไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าสังเกตการณ์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างสะดวก แต่มีการบันทึกภาพไว้ให้คนรุ่นหลังศึกษาวิจัย เพราะเป็นการเคลื่อนสัตว์ครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ”
พิกัดสวนสัตว์แห่งใหม่ สำหรับใครที่ยังไม่รู้ หรือรู้แล้วแต่ยังไม่ชัดเจน ผู้อำนวยการสวนสัตว์ดุสิตบอกว่า สวนสัตว์แห่งใหม่ที่คลอง 6 อยู่ข้างๆสนามกอล์ฟอัลไพน์ บนเนื้อที่ 300 ไร่ กว้างขวางมาก อากาศบริสุทธิ์ มีความเป็นธรรมชาติ อีกไม่นานเกินรอ...สัตว์จะได้ไปอยู่ในบ้านใหม่ที่กว้างใหญ่กว่า เชื่อมั่นได้ว่าสุขภาพดีแน่นอน

พลิกแฟ้มประวัติ “สวนสัตว์ดุสิต” หรือ “เขาดินวนา” มีเนื้อที่ 118 ไร่ เปิดให้ประชาชนเข้าเที่ยวชม พักผ่อนหย่อนใจครั้งแรกในวันที่ 18 มีนาคม พุทธศักราช 2481 ถือเป็นสวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทย...สัตว์ทั้งหมดมี 1,343 ตัว แบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 331 ตัว สัตว์เลื้อยคลาน 170 ตัว สัตว์ปีก 842 ตัว
...
“เขาดินวนา” ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เลขที่ 71 ถนนพระรามที่ 5 แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ใกล้กับสนามเสือป่าและพระที่นั่งอนันตสมาคม...อยู่ในอาณาบริเวณของ “วังสวนดุสิต” มาตั้งแต่ พ.ศ.2441
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ซื้อสวนและนาในระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสนด้านตะวันออกถึงทางรถไฟ ด้วยเงินพระคลังข้างที่ ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
โดยพระราชทานชื่อที่ตำบลนี้ว่า “สวนดุสิต” (ราชกิจจานุเบกษา 7 มีนาคม ร.ศ.117) ปัจจุบันเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
18 มีนาคม 2481 เทศบาลนครกรุงเทพ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตดัดแปลงบริเวณสวนสัตว์ดุสิตเป็นสวนสาธารณะเปิดให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจโดยมิต้องมีค่าเช่า และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นสวนสาธารณะ
และยังพระราชทานลูกหลานกวางดาวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาจากอินโดนีเซีย ที่เมืองบุยเตนซอค เมื่อการเสด็จประพาสเกาะชวาครั้งหลัง พ.ศ.2444 และสัตว์อื่นอีก 2–3 ชนิดจากสวนกวางบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถานมาเลี้ยง

...
โอนกิจการสวนสัตว์ดุสิตของเทศบาลนครกรุงเทพซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทยมาอยู่กับองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์ พ.ศ.2497) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพื่อทรงรับองค์การสวนสัตว์เข้าไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
และทรงรับองค์การสวนสัตว์เข้าไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2506 จากการขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบ บังคมทูลพระกรุณา ขอพระกรุณาโปรดเกล้าฯของพลโทบัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานกรรมการและผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์
ด้วยมีสัตว์หลากหลายประเภท สภาพแวดล้อมเป็นธรรมชาติ ร่มรื่น เสียค่าเข้าชมราคาถูก จึงเป็นที่นิยมจากคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ค่าเข้าชมปัจจุบัน ผู้ใหญ่ 100 บาท, นักศึกษา ปวส.-มหาวิทยาลัย 50 บาท, เด็กเล็ก-ปวช. 20 บาท, ข้าราชการ (ในเครื่องแบบ) 50 บาท, ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป...คนพิการ...ภิกษุ-สามเณร ชมฟรี
เปิดบริการทุกวัน 08.00-18.00 น.
“สวนสัตว์ดุสิต” ปิดตำนานไปแล้ว...อดใจรอกันอีกนิดสำหรับ “สวนสัตว์แห่งใหม่” กับตำนานหน้าใหม่สวนสัตว์เมืองไทยที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า.