ผู้คนคึกคักเที่ยวชมงาน “ใต้ร่มพระบารมี 236 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จัดประกวดกุลสตรีศรีรัตนโกสินทร์ ประจำปี 2561 ที่นำผ้าท้องถิ่น 4 ภาค มาแต่งกายแบบร่วมสมัยได้อย่างงดงาม อนุรักษ์ความเป็นไทย ผลสาวงามจากน่านคว้ารางวัลจากชุดผ้าไทยเส้นใยข่าและใยฝ้าย ตามด้วยสาวสิงห์บุรี หนองบัวลำภู และยะลา ด้านกระแสละครออเจ้ายังไม่จบ “วิษณุ” ชี้ หน้าที่คนไทยศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่อยากให้กระแสจบไปตามละคร วีระศักดิ์หนุนส่งออกละครไทยไปโกอินเตอร์
ประชาชนหลั่งไหลไปเที่ยวชมงาน “ใต้ร่มพระบารมี 236 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ที่เป็นการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ในคืนวันที่ 22 เม.ย.อันเป็นคืนที่สองของงานอย่างคับคั่ง ทั้งนี้ เมื่อเวลา 19.00 น. ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม จัดการแสดงแฟชั่นโชว์เครื่องแต่งกายชุดไทยในรัชสมัยแนวคิด “งามวิจิตรภูษา ภัสตราภรณ์ อัตลักษณ์ไทย อัตลักษณ์ถิ่น” ในงานดังกล่าว โดยมีสาวงาม 77 คน ที่ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ส่งเข้าร่วมเดินแบบ
ทั้งนี้ นอกจากการเดินแฟชั่นโชว์ผ้าไทยในครั้งนี้แล้ว สาวงามทั้ง 77 คน ยังได้ร่วมประกวด กุลสตรีศรีรัตนโกสินทร์ ประจำปี 2561 เป็นการประชันความโดดเด่นของการสวมใส่ชุดผ้าไทยจากท้องถิ่น หรือจังหวัดของตนเอง เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมการแต่งกายจากผ้าไทยท้องถิ่น ที่นำมาตัดเย็บ ออกแบบ ถ่ายทอดแรงบันดาลใจในการ สร้างสรรค์ ให้มีความร่วมสมัยและสวมใส่ได้จริง เป็นการพัฒนาเครื่องแต่งกายจากผ้าไทยท้องถิ่น นำมาเสนอให้เกิดความน่าสนใจ สร้างการรับรู้ของประชาชนในการร่วมส่งเสริมการใช้ผ้าไทยจากท้องถิ่นทั่วประเทศ

...
ในการประกวดครั้งนี้ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้เชิญนักออกแบบแฟชั่นที่มีชื่อเสียง อาทิ จิตต์สิงห์ สมบุญ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข อยุทธการ จันทโชติ พร้อมด้วยคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายคน มาร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณา ขณะที่สาวงามแต่ละคนก็พกพาความมั่นใจในการพรีเซนต์ความงดงามของเครื่องแต่งกายของตนเองให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อเข้ารอบ 12 คนสุดท้าย และ สะกดสายตาจากผู้ชมได้
บรรยากาศการประกวดเป็นไปอย่างคึกคัก บรรดากองเชียร์ต่างสร้างสีสันและความคึกคักให้การประกวดได้ลุ้นกันอย่างสนุกสนาน ทั้งการชูป้ายชื่อ ป้ายไฟ แถมส่งเสียงเฮสนั่นเมื่อสาวงามที่เชียร์ ปรากฏตัวบนเวที กระทั่งถึงช่วงเวลาระทึก เมื่อพิธีกรประกาศผลรางวัลชุดแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัยดีเด่น 4 ภาค ดังนี้ รางวัลชุดแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย ดีเด่น ภาคเหนือ เป็นของ น.ส.ณิชาภัทร พนะสัน หมายเลข 59 จากจังหวัดน่าน จากชุดผ้าไทยเส้นใยข่า และใยฝ้าย รางวัลชุดแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัยดีเด่น ภาคกลาง เป็นของ น.ส.ธัชนก กังนิกร หมายเลข 63 จากจังหวัดสิงห์บุรี มาด้วยชุดผ้าไหมไทย ตัดเย็บด้วยเทคนิคสมัยใหม่ รางวัลชุดแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย ดีเด่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ น.ส.มณิการ์ ทิพเนตร หมายเลข 53 จากจังหวัดหนองบัวลำภู ที่สวมใส่ชุดผ้าฝ้ายย้อมคราม และรางวัลชุดแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัยดีเด่น ภาคใต้ ได้แก่ น.ส.พีรชาดา ขุนรักษ์ หมายเลข 11 จากจังหวัดยะลา ที่มาด้วยชุดผ้าบาติกชายแดนใต้
จากนั้นได้มีการประกาศรางวัลป๊อปปูล่าร์โหวต ที่เปิดให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียร่วมโหวตให้คะแนน ผ่านการไลฟ์สด ผ่านเว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม www.m-culture.go.th ผลผู้ได้รับตำแหน่งป๊อปปูล่าร์โหวต คือ น.ส.กิตติยา ภูมิสง หมายเลข 75 จากจังหวัดสุรินทร์ มี น.ส.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นประธานมอบรางวัลแก่สาวงามทุกคนที่ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท และสายสะพาย พร้อมปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทนทูตวัฒนธรรมของกระทรวง ไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ
อีกด้านหนึ่ง กระแสละครออเจ้ายังไม่จางหายไปแม้ละครจบบริบูรณ์แล้วก็ตาม โดยบ่ายวันเดียวกัน ที่ห้องประชุมข่าวสด ประชานิเวศน์ บริษัทข่าวสด จัดงานเสวนา “บุพเพฯ เสวนา ปรากฏการณ์ออเจ้า กับเรื่องเล่าประวัติศาสตร์” มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายก รัฐมนตรี นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เป็นวิทยากรภายในงาน นายวิษณุกล่าวปาฐกพิเศษ หัวข้อ สยามวิถีและความศิวิไลซ์ในสมัยพระนารายณ์ ว่า เริ่มศึกษาประวัติศาสตร์เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีรับสั่งว่า ประเทศเหมือนคน เมื่อชีวิตหนึ่งหมดไปก็จะมีชีวิตหนึ่งมาแทนที่ ประเทศก็จะมีคนมาแทนที่สืบทอดไปอีกหลายชั่วอายุคน และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชเสาวนีย์ว่า ประวัติศาสตร์ไทยเป็นเรื่องที่คนไทยควรเรียนรู้และเข้าใจ
นายวิษณุกล่าวอีกว่า เมื่อมีสองพระองค์เป็นแรงบันดาลใจ จึงได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ตนถือว่าการศึกษาประวัติศาสตร์เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ยุคพระนารายณ์มหาราช ถูกเรียกขานว่าเป็นยุคทองพระนารายณ์ หรือยุคทองของอยุธยา มีลักษณะเด่นเป็นยุคสมัยที่เต็มไปด้วยการรัฐประหาร ปฏิวัติ มีสงครามเกิดขึ้น เป็นยุคทองของศิลปวัฒนธรรม และยุคที่ชาวต่างประเทศมาคบค้าสมาคมกับอยุธยาอย่างเปิดกว้าง หลังจากยุคพระนารายณ์ ก็เว้นช่วงระยะไปยาวนานกว่าฝรั่งจะสามารถเข้ามาในประเทศไทยเพื่อคบค้าสมาคมกันอย่างกว้างขว้างเหมือนเดิมได้ เพราะมีการกีดกันถึงขั้นมีกฎหมายห้ามคนไทยแต่งงานกับชาวต่างชาติ
นายวิษณุกล่าวว่า สิ่งที่โดดเด่นนั้นคือพระนารายณ์มีความพยายามที่ส่งคณะราชทูตไปฝรั่งเศสเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีถึงสามคณะ เรายื่นพระราชสาส์นต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สำเร็จใจคณะที่สาม เพราะ คณะแรกที่ส่งไปได้หายสาบสูญไปคาดกันว่าเกิดเรือล่มขึ้น จึงส่งคณะที่สองไปสืบข่าว ต่อมาก็มี การส่งคณะที่สาม เป็นคณะทูตของ “คุณพี่เดช หรือ ขุนศรีวิสารวาจา” ในละครบุพเพสันนิวาส ไปยื่นพระราชสาส์นสำเร็จ ถือเป็นเรื่องที่ต่างชาติได้รู้จักประเทศไทยมากขึ้น เรื่องการเมืองภายในต่างๆ ในยุคนั้นไม่ได้มีใครสนใจประเทศไทย แต่เรื่องยื่นพระราชสาส์นเป็นที่รู้กันทั่วทั้งประเทศฝรั่งเศสและยุโรป
...
รองนายกฯ กล่าวอีกว่า เมื่อละครเรื่องนี้จบลงไม่อยากให้ปรากฏการณ์การแต่งชุดไทย เรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยจบลงไปด้วย ต้องคิดกันต่อไปว่าจะทำอย่างไร มองว่าเมื่อคนอยากรู้ประวัติศาสตร์ได้เรียนรู้ เข้าใจเข้าถึง จะนำไปสู่การพัฒนาต่อไปขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างละครบุพเพสันนิวาส ที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจประวัติศาสตร์ ฝากให้ช่วยกันขยายผลต่อ อย่าให้กลายเป็นไฟไหม้ฟาง โดยเฉพาะความรู้สึกของคนกับเรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่อยากให้มีต่อไป
ขณะที่นายวีระศักดิ์กล่าวในหัวข้อเสวนา “บุพเพสันนิวาสกับการขับเคลื่อนพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ว่า ก่อนหน้านี้เรามีงานอุ่นไอรัก ที่ทำให้คนอยากกลับมาแต่งชุดไทย ต่อมามีละครบุพเพสันนิวาส คนก็กลับมามีความสุขที่ได้แต่งชุดไทย ต่อมามีเทศกาลสงกรานต์ทำให้คนกลับมาสนใจความเป็นไทยกันอย่างชัดเจน ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้ปรากฏการณ์คงอยู่นานกว่านี้ ที่เกาหลีคิดเรื่องเหล่านี้มาเป็นโครงสร้างไม่มีทางที่ละครจะอยู่ไปนานได้ เกาหลีจึงเรียนรู้ประเด็นนี้ ไทยเราเองก็เรียกร้องให้มีกระแสอย่างเช่นซีรีส์แดจังกึมมานานมากแล้ว เพียงแต่เราอาจยังมีการลงทุนกับเรื่องเหล่านี้น้อยเกินไป ที่สำคัญต้องทำระยะยาว
รมว.การท่องเที่ยวฯกล่าวด้วยว่า อยากให้ใช้ เครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่ ทำให้กระแสมันคงอยู่ต่อไป เช่น การท่องเที่ยว การอยากรู้ประวัติศาสตร์ทำให้กระแสดำเนินต่อไปได้อีก หากแต่งไทยแต่ไม่อยากรู้ประวัติศาสตร์ไทย จะทำให้กระแสดำเนินต่อไปได้ไม่นาน มีการกระตุ้นให้คนไทยออกไปเที่ยวไทย เพื่อให้เข้าใจในประเทศตัวเองมากขึ้น นอกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วยังรู้จัก เข้าใจประเทศตัวเองมากขึ้น เข้าใจในประวัติศาสตร์พื้นถิ่นมากขึ้น การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือที่ได้รู้จักประเทศเรามากขึ้น ได้เรียนรู้สังคม ประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากที่เราอยู่ และตนมองว่าเป็นไปได้ที่จะส่งออกละครไทย วัฒนธรรมไทยไปสู่ต่างประเทศ เพราะก่อนหน้านี้เราก็มีการส่งออกละครไทยอยู่แล้ว มีอินโดนีเซีย มาเลเซีย จีนให้ความสนใจละครไทยมากอยู่แล้ว
...