ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับพระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่ถือเป็นพระราชพิธีในราชสำนักไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยอยุธยามาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ปรากฏพระราชพิธีนี้มาตลอด นับว่าเป็นพระราชพิธีที่สำคัญมากเป็น อันดับต้นๆ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร อีกทั้งเพื่อความเป็นสิริมงคล สร้างขวัญและกำลังใจแก่บรรดาเกษตรกรไทย ที่มีมาแต่โบร่ำโบราณ กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกหรือเดือนพฤษภาคมของทุกปี
และในพระราชพิธีโดยทั่วไปของราชสำนักไทย มักจะมีการตั้งรูปพระอิศวร พระอุมา พระวิษณุ พระลักษมีและพระคเณศ แต่ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จะมีเทวรูปพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีก 1 องค์ คือ เทวรูป “พระพลเทพแบกคันไถ”
ทั้งนี้ จากที่ได้เข้าไปค้นคว้าหาข้อมูลเรื่อง “พระพลเทพแบกคันไถ” ในหนังสือพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ การเปลี่ยนผ่านจากอดีตสู่ปัจจุบัน ของกรมศิลปากร พบข้อความระบุไว้ว่า “พระพลเทพ” หรือ “พระพลราม” มีการปรากฏเรื่องราวของพระองค์อยู่ในคัมภีร์ศาสนาฮินดูหลายฉบับ แต่จะนำมาเล่าให้ฟังแบบย่อๆ เพราะเนื้อที่มีจำกัด ว่า

...
ทรงมีอาวุธประจำกายคือ คันไถ หากตีความทางประติมานวิทยาแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ ที่จะบูชาพระองค์ในฐานะเทพเจ้าแห่งการเกษตร เนื่องจาก “คันไถ” คืออุปกรณ์ทางการเกษตรอย่างหนึ่ง เมื่อนำมาให้พระพลเทพถือ ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า พระองค์คงเกี่ยวข้องกับการไถหว่านในทางใดทางหนึ่ง
ตามตำนานยังระบุว่า พระพลเทพทรงเติบโตมาในหมู่บ้านคนเลี้ยงโค ซึ่งอีกสถานะหนึ่งของพระองค์คือ “โคบาล” จึงอาจเป็นไปได้ว่าพระองค์มีความเกี่ยวข้องกับการเกษตรกรรม
อย่างไรก็ตาม เรื่องพระพลเทพมีความเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เริ่มปรากฏหลักฐานชัดเจนในคัมภีร์นารายณ์ 20 ปาง ซึ่งเขียนขึ้นสมัย ร.3 เล่าเรื่องกฤษณาวตารปราบกรุงภานาสูร ที่ในตอนท้ายของเรื่องได้ระบุถึงพรที่พระกฤษณะมอบให้ “พระพลเทพ” มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญโดยตรงว่า
“แล้วพระเป็นเจ้าทั้งสองก็ปราสาทพรให้พระพลเทพให้เป็นใหญ่ในพืชธัญญาหาร โดยพระราชพิธีจรดพระนังคัลแต่นั้นมา”
นอกจากนี้ยังมีการใช้ราชทินนาม “พระยาพลเทพ” สำหรับเสนาบดีกรมนา ซึ่งมีตราประจำตำแหน่ง 9 ดวง สำหรับใช้ในภารกิจต่างๆกัน หนึ่งในนั้นคือ “ตรานักคลีอังคัล” เป็นรูปพราหมณ์ทรงเครื่องแบกคันไถ สำหรับใช้อนุญาตให้ถางป่าเป็นไร่นา
สะท้อนความเชื่อเกี่ยวกับพระพลเทพว่า เกี่ยวข้องกับการไถหว่านและการเกษตรเป็นอย่างดี ทั้งยังพบ “เจว็ด” รูปพระพลเทพ ถือคันไถและรวงข้าว พร้อมภาพทุ่งนา ฝนและวัวควาย เป็นองค์ประกอบในรูปเจว็ดนั้น เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเกี่ยวข้องกัน ระหว่างพระพลเทพกับการทำนาไถหว่านในความเชื่อของไทย
นักวิชาการเชื่อว่ารูป “เจว็ด” นี้ อาจสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และอาจใช้ตั้งบูชาในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญด้วย
การตั้งรูปพระพลเทพจึงเป็นการเชื่อมโยงคติการบูชาพระองค์ในฐานะเทพเจ้าแห่งการเกษตรกรรมกับพระราชพิธีแห่งการเริ่มต้นฤดูการเพาะปลูกนั่นเอง.
"ซูม"
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม