การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “กำลังเป็นภัยคุกคามระดับโลก” ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่หนักทั้งในเชิงความถี่และความรุนแรง จากเดิม “ประเทศไทย” อาจจะได้รับผลกระทบแบบเฉี่ยวๆ แต่ในอนาคตอาจจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติอย่างเต็มรูปแบบ

ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อน ฝนตกหนักผิดปกติ น้ำท่วม และภัยแล้งรุนแรง กระทบต่อทางเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตประชาชนโดยตรงอย่างเหตุ “น้ำท่วมภาคเหนือ และภาคใต้ในปี 2567” ก็สะท้อนผลกระทบชัดเจนแล้วเพื่อรับมือกับสภาวการณ์นี้ “รัฐบาล” ก็ได้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ....

เบื้องต้นผ่านความเห็นชอบจาก “คกก.แห่งชาติในหลักการแล้ว” ก่อนจะเสนอให้สำนักเลขาธิการ ครม.เห็นชอบเดือน ก.พ.2568 ส่งให้กฤษฎีกาตรวจร่างกฎหมายใหม่นำเข้าสภาฯ ตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

แม้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นก้าวสำคัญในการรับมือวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เมื่อนำความเห็นที่ประชาชนเสนอผ่านเวทีต่างๆทั่วประเทศและข้อเสนอเครือข่าย 19 มหาวิทยาลัยด้านภัยพิบัติมาประกอบก็มีความท้าทายหลายประการ ดร.พิจิตต รัตตกุล ประธานเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (TNDR) เห็นว่า

...

ประการแรก...“การมีส่วนร่วมของตัวแทนภาคประชาชน” หนึ่งในประเด็นสำคัญคือองค์ประกอบ คกก.นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากภาครัฐ และข้าราชการระดับสูง ทำให้ขาดมุมมองที่ครอบคลุมภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และชุมชนท้องถิ่น

ซึ่งแม้จะกำหนดให้มีตัวแทนจาก “ภาคประชาสังคม 1 คนก็ตาม” ก็ยังเป็นจำนวนน้อยเกินไปจนไม่สมดุลกับตัวแทนจากภาคส่วนอื่นๆ จึงควรมีระบบคัดเลือกที่เป็นกลางและโปร่งใสในการแต่งตั้งตัวแทนภาคประชาชนให้มีความหลากหลายเพราะทุกคนล้วนได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติแตกต่างกันออกไป

ทั้งต้องตรวจสอบประเมินผลงานของคณะกรรมการฯ “เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานมีความเป็นธรรม และครอบคลุมทุกภาคส่วน” เพราะหากเกิดภัยแล้งอุณหภูมิบนดอยสูงขึ้นจนเพาะปลูกไม่ได้ก็จะมีตัวแทนของคนบนดอย และกลุ่มชาติพันธุ์คอยเป็นปากเสียงด้วย ดังนั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนหลายภาคส่วนจึงจำเป็น

ประการที่สอง...“ให้ความสำคัญการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อย” เพราะการปรับตัวในที่นี้หมายถึง “เมื่อภัยพิบัติมาเรายังอยู่รอดได้ อยู่ร่วมกับภัยได้ และไม่ตาย” ถ้าเปรียบเทียบ PM 2.5 ก็ต้องพร้อมรับมือ สวมหน้ากาก มีห้องเรียนปลอดฝุ่น มีห้องปลอดฝุ่นสาธารณะเตรียมไว้เสมอ

เพราะหากทำให้ฝุ่นพิษหายไปไม่ได้ “แต่ช่วยลดจำนวนคนเจ็บ และคนตายลงได้ก็ยังดี” มิเช่นนั้นเมื่อเจอภัยพิบัติมาถึงคนในเมืองจะอยู่กันอย่างวิกฤติ “ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้” ต้องเพิ่มกฎระเบียบที่ทำให้การปรับตัวของสังคมและชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถูกให้ความสำคัญมากขึ้น

เพื่อให้การลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อสภาพอากาศสมดุลกัน สร้างความยืดหยุ่นพร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตโดยมีกรรมการในระดับต่างๆ กำหนดทิศทางแผนการปรับตัวในระดับชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศ รวมทั้งกรรมการรายสาขา 6 ด้านตามแผน National Adaptation Plan : NAP ด้วย

เนื่องจากผลกระทบ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อชุมชน” มีความแตกต่างที่หลากหลาย เหตุนี้ชุมชนมีสิทธิเลือกวิธีการปรับตัวที่เหมาะสมกับ “คนในชุมชนเอง” โดยรัฐให้การสนับสนุนได้อย่างเต็มที่

ประการที่สาม...“ความเสี่ยงจากกลไกคาร์บอนเครดิต” กลไกนี้อาจเป็นแนวทางที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ “แต่หากไม่มีการกำกับดูแลที่เหมาะสมอาจนำไปสู่การฟอกเขียว (Greenwashing)” ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยสามารถปลูกป่าเอาคาร์บอนเครดิตได้ในปริมาณมากรวมทั้งซื้อคาร์บอนเครดิตจากแหล่งอื่นด้วย

...

โดยไม่จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต้นทางเลย หรืออาจเกิดการผลักภาระไปยังกลุ่มคนรายได้น้อย “หากไม่มีมาตรการตรวจสอบ และควบคุมป้องกันการใช้ระบบนี้” เพื่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยไม่ลดมลพิษที่ต้นทาง “ภาครัฐ” ควรเป็นผู้นำในการสร้างมาตรฐาน และหลักเกณฑ์ที่โปร่งใสและตรวจสอบได้

ย้ำต่อประการที่สี่...“การส่งเสริมกลไกที่หลากหลาย” ถ้าดูตามมาตรา 6.8 ของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ประเทศต่างๆสามารถออกแบบแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกที่หลากหลายโดยไม่ต้องอิงกับกลไกตลาดคาร์บอนได้ แต่ว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ยังคงให้น้ำหนักกับตลาดคาร์บอนเป็นหลัก

เช่นนี้ควรเพิ่มมาตรการที่ไม่อิงกับตลาด เช่น การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนโดยการสนับสนุนทางการเงินให้กับชุมชนที่พัฒนาการขนส่งสาธารณะที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก การอนุรักษ์ป่าไม้อย่างการฟื้นฟูป่าชายเลน และพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างเป็นธรรมและไม่เป็นภาระต่อประชาชน

ประการที่ห้า...“การบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษที่ไม่เข้มงวดพอ” แม้มีบทลงโทษการละเมิด “ส่วนใหญ่เป็นการปรับเป็นพินัย” โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงควรกำหนดบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนที่รุนแรงขึ้น เช่น ระงับใบอนุญาตบริษัทไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็เป็นแนวทางสมควรนำมาพิจารณา

...

ประการสุดท้าย...“กำหนดให้แผนการพัฒนาโครงการของรัฐใดๆ ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมด้วย” โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐต้องพิจารณาตั้งแต่การออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน (Mainstreaming Climate Change Adaptation : Mainstreaming CCA)

สิ่งนี้ก่อให้เกิดความยั่งยืน “ลดความเสี่ยงต่อภัยพิบัติในอนาคต” อย่างการประเมินผลกระทบจากแนวโน้มระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และภัยพิบัติที่เกิดบ่อยครั้งในพื้นที่โครงการ หรือวางแผนโครงสร้าง และวัสดุที่ใช้ก่อสร้างในโครงการเพื่อป้องกันเหตุน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม แนวคิดนี้คล้ายกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

โดยจะเป็นข้อกำหนดทางกฎหมายอยู่แล้ว ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จึงควรกำหนดแนวทางที่ชัดเจน เช่น กำหนดตัวชี้วัด และมาตรฐานสำหรับโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐให้ต้องผ่านการประเมินผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่ไปกับ EIA/EHIA ก่อนจึงจะได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการได้

สุดท้าย “ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับล่าสุด” หากเราช่วยกันให้กฎหมายใหม่นี้ หรือกฎหมายชั้นรองอื่นๆที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ก้าวผ่านความท้าทายนี้ไปได้ก็คงเป็นผลดีไม่น้อย...

...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม