“สมเด็จธงชัย” นำคณะสงฆ์ 103 รูป สวดพระพุทธมนต์สร้างขวัญกำลังใจเสริมสิริมงคลให้ญาติเหยื่อตึกก่อสร้าง สตง.ถล่ม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานค้นหากู้ภัยท่ามกลางสายฝนตกลงมาอย่างหนักและหยุดตกเมื่อเสร็จพิธี เผย “ผู้ว่าการ สตง.” ร่วมพิธีหน้าเครียดด้วยก่อนเผยสื่อเสียใจกับเหตุที่เกิดขึ้น ยันอยู่ติดตามตั้งแต่วันแรก ไปทั้งงานศพ-เยี่ยมผู้บาดเจ็บตาม รพ. ระบุญาติผู้เสียชีวิตเข้าใจเป็นอุบัติเหตุ ลั่นเตรียมแถลงเป็นทางการเร็วๆนี้ ขณะเดียวกันส่งรองผู้ว่าการ สตง.ตระเวนแจง 2 คณะ กมธ.ยันยึดหลักกฎหมายในการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอน เผยเพิ่งบอกเลิกจ้างเมื่อ 15 ม.ค. ลุยต่อใช้งบที่เหลือสร้างตึกใหม่ใกล้จุดเก่า ด้าน กทม.เดินหน้าค้นหาผู้สูญหาย ติดตั้งรถแบ็กโฮยักษ์ลุยรื้อปูน ขณะที่ ยอดนำร่างผู้เสียชีวิตออกมาได้แล้วเพิ่มเป็น 23 ศพ ยังค้นหาต่ออีก 71 คน

กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าสืบสวนสอบสวนกรณีอาคารก่อสร้าง 30 ชั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ถล่ม เพราะเป็นอาคารก่อสร้างเพียงแห่งเดียวใจกลาง กทม.ที่พังราบลงมาอันเป็นผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. หลายฝ่ายเชื่อว่ามีความไม่โปร่งใส เบื้องต้นพบว่า บ.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด มี 3 คนไทยมีชื่อเป็นกรรมการผู้ถือหุ้น ตรวจสอบแล้วเป็นเพียงพนักงานธรรมดา น่าเชื่อเป็นนอมินี อีกทั้งประมูลต่ำกว่าราคากลางที่ สตง.ตั้งไว้ 2,500 ล้านบาท เหลือเพียงราคา 2,100 ล้านบาท ส่อเค้ามีการลดสเปกวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะเหล็กที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน ดีเอสไอวางกรอบสืบสวนสอบสวนทั้งเรื่องฮั้วประมูล นอมินี และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ขณะที่การค้นหาผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารตึกยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดเหตุ โดยพบว่ามีผู้ประสบภัยทั้งหมด 103 คน มีผู้เสียชีวิตและนำร่างออกมาได้แล้ว 22 ศพ บาดเจ็บ 9 คน ยังค้นหาอีก 72 ราย ตามที่เสนอข่าวไปนั้น

...

ทีมค้นหาไม่หวั่นฝนฟ้า

วันที่ 10 เม.ย. บรรยากาศที่บริเวณอาคารสตง.ถล่ม เจ้าหน้าที่ยังเดินหน้าภารกิจค้นหาผู้สูญหายภายในซากอาคาร สตง. ต่อเนื่องเป็นวันที่ 13 แล้ว แม้ช่วงเวลา 02.00-03.00 น. ที่ผ่านมา จะมีฝนตกลงมาในพื้นที่ ทำให้ต้องหยุดภารกิจลงไปชั่วคราว เมื่อฝนหยุดก็เดินหน้าภารกิจต่อ ทั้งเครื่องจักรหนัก และกำลังคนสลับกันเข้าสำรวจพื้นที่ ในส่วนของรถแบ็กโฮคันใหญ่ที่สุดในประเทศไทยน้ำหนัก 120 ตัน ได้ประกอบชิ้นส่วนเสร็จสิ้นเรียบร้อย ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา และเริ่มเดินเครื่องทำงานสนับสนุนการรื้อถอนสร้างอาคาร เน้นทำงานในบริเวณโซน B เป็นหลัก มีการนำตัวหนีบเพื่อมาหยิบชิ้นปูนชิ้นใหญ่ๆออก กระทั่งช่วงเวลา 08.00-11.00 น. รถแบ็กโฮที่อยู่บริเวณโซน D ได้หยุดการทำงานเพื่อให้ทีมค้นหาได้ปีนขึ้นไปบริเวณจุดยอดด้านบนโซน E เพื่อสำรวจพื้นที่ ค้นหา และตัดเหล็กเส้นด้านบน บริเวณพื้นราบข้างล่างเครื่องจักรหนักยังคงเดินเครื่องทำงาน

2 ล้นเกล้าพระราชทานเงินทีม K9

เวลา 09.50 น. ที่กองอำนวยการร่วม กองทัพภาคที่ 1 ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตจตุจักร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ พล.ร.ต.สกาย เภกะนันทน์ เป็นผู้เชิญของพระราชทาน ประกอบด้วยเงิน 3 แสนบาท พร้อมตะกร้าสิ่งของผลิตภัณฑ์อาหารและบำรุงสำหรับสุนัข เป็นขวัญกำลังใจแก่ทีมสุนัขค้นหาและกู้ภัย (K9) 3 หน่วยงาน ได้แก่ทีมสุนัขค้นหา กองกำกับการสุนัขตำรวจ ทีมสุนัขค้นหา กรมการสัตว์ทหารบก และทีมสุนัขค้นหา องค์การสุนัขกู้ภัยแห่งชาติ (ทีม USAR Thailand) มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายภาสกร บุญญลักษณ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พล.ต.สมพงษ์ สุขประดิษฐ เจ้ากรมการสัตว์ทหารบก และ พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผบช.น. เป็นผู้รับมอบ

ดีเอสไอแบ่งทีมหาหลักฐาน

ต่อมาเวลา 10.30 น. ที่กองอำนวยการร่วม สน.บางซื่อ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตจตุจักร ทีมพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ประกอบด้วย พนักงานสอบสวน ตำรวจนครบาลและ DSI ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐาน เจ้าหน้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมประชุมทีมหารือเกี่ยวกับผลการตรวจสอบข้อมูลวัสดุการก่อสร้างอาคาร และวางแนวปฏิบัติการเก็บหลักฐานพื้นที่ซากตึก ไม่กระทบการปฏิบัติการช่วยชีวิตผู้ติดในซากตึก เบื้องต้นมีรายงานว่า ทีมเก็บหลักฐานจะแบ่งชุดตามความเชี่ยวชาญ สลับหมุนเวียนเข้าพื้นที่เพื่อเก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมโดยเฉพาะ กรณีสาเหตุที่โครงสร้างบางส่วนไม่สามารถยึดติดกันได้ อาจเกิดจากการที่ปูนไม่สามารถยึดกับแผ่นเหล็กได้อีกแล้วจากผลกระทบของโครงสร้างที่พังทลาย ให้ละเอียดที่สุดเท่าที่ทำได้

ยอดเหยื่อนำออกแล้ว 23 ศพ

ด้านศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตจตุจักร สรุปยอดความคืบหน้าภารกิจกู้ภัยคนงานผู้สูญหายจากซากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหลังใหม่พังถล่ม ณ เวลา 10.00 น. ของวันที่ 10 เม.ย. ว่า มีจำนวนผู้ประสบเหตุ 103 ราย แยกเป็นผู้เสียชีวิต 23 ราย ผู้บาดเจ็บ 9 ราย และยังมีผู้สูญหาย 71 ราย

...

“สมเด็จธงชัย” นำสวด

ต่อมาเวลา 14.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานจัดพิธีสวดพระพุทธมนต์เพื่อผู้ประสบภัยและผู้สูญหายเหตุแผ่นดินไหว มีสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มีเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เป็นผู้นำคณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร 103 รูป สวดพระพุทธมนต์ให้ผู้ประสบภัยและผู้สูญหายที่ยังติดค้างใต้ซากอาคาร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ญาติผู้ประสบภัย เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้องร่วมพิธี ท่ามกลางบรรยากาศโศกเศร้า ระหว่างคณะสงฆ์สวดพุทธมนต์ทำพิธีมีฝนตกลงมาอย่างหนักจนกระทั่งสวดจบฝนก็หยุดตกโดยพลัน

“ผู้ว่าการ สตง.” หน้าเครียดร่วมพิธี

ทั้งนี้ นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการ สตง. เดินทางมาร่วมพิธีสวดพระพุทธมนต์และนับว่าเป็นการปรากฏตัวครั้งแรกด้วยใบหน้าที่เคร่งขรึมและกล่าวกับสื่อสำนักหนึ่งหลังพิธีสวดพระพุทธมนต์จบเพียงว่าเสียใจกับเหตุที่เกิดขึ้น เราไปงานศพทุกงานที่อยู่ทุกจังหวัด ไปแสดงความเสียใจและร่วมทำบุญให้ผู้เสียชีวิต ส่วนผู้บาดเจ็บตนกับผู้บริหารไปเยี่ยมทุกโรงพยาบาลทุกคน เราทำงานตลอดเวลา ตอนนี้ชีวิตคนกับเรื่องความสูญเสียเป็นเรื่องสำคัญ ต้องดูแลเรื่องพวกนี้ก่อนว่า ญาติพี่น้องที่เขาลำบากชีวิตคนที่สูญเสียไปเราจะทำอย่างไร

...

เตรียมแถลงข่าวเร็วๆนี้

นายมณเฑียรกล่าวว่า ทุกครั้งที่คนของเราไปร่วมงานศพ เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ ญาติผู้เสียชีวิตบอกว่า “มีเพียง สตง.ที่เข้าไปดูแล” ส่วนผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาลก็ถือโอกาสไปเยี่ยมพูดคุยกับพวกเขา พวกเขาเข้าใจมันเป็นอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่พวกเขาพูดกับเรา สิ่งที่จะทำวันนี้คือเราจะดูแล ในส่วนของญาติได้ใช้ล่ามที่ทำงานประจำอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง พาญาติพวกเขาไปตรวจ DNA ติดต่อเจ้าหน้าที่ในส่วนต่างๆ เป็นสิ่งที่เราทำมาตั้งแต่วันเกิดเหตุ

“ผมก็อยู่ที่นี่แหละ อยู่ตั้งแต่วันแรก ว่างก็มา วันแรกที่มาก็กลับถึงบ้านเที่ยงคืน ผมเดินผ่านน้องๆ กันทุกวัน” นายมณเฑียร กล่าวและว่า เร็วๆนี้ สตง.อาจจะแถลงข่าวต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ

ส่งรองผู้ว่าการเดินสายแจง กมธ.

อีกด้านหนึ่ง เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายสัญญา นิลสุพรรณ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม กมธ. เชิญนายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าชี้แจง นายมณเฑียร มอบให้นายสุทธิพงษ์ บุญนิธ และนางพิมพา วภักดิ์เพชร รองผู้ว่าการ สตง. ชี้แจงแทน นายสุทธิพงษ์เผยว่า สตง.ยินดีชี้แจงเพราะต้องการนำเสนอข้อเท็จจริงแต่ถนนทุกสายวิ่งมาที่ สตง.แม้แมลงวันบินผ่านก็ด่าได้ โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่พิเศษ การก่อสร้างทั้งหมดต้องจ้างออกแบบและจ้างควบคุมงาน ส่วนเรื่องการป้องกันแผ่นดินไหวต้องไปถามผู้ออกแบบ เขาบอกว่าดำเนินการแล้ว มีคนตั้งคำถามว่ามีคนแค่ 500 คน ทำไมสร้างตึกใหญ่โต คนที่พูดไม่มีความรู้จริง สตง.มีพนักงาน 4,000 คน ต้องสร้างตึกสูงแบบนี้เห็นเมื่อไรก็เสียใจทุกครั้ง

...

ยันยึดหลัก ก.ม.ทุกขั้นตอน

รองผู้ว่าการ สตง.กล่าวอีกว่า ยืนยันยึดหลักกฎหมายตั้งแต่จ้างผู้ออกแบบ แต่งตั้งกรรมการจ้างออกแบบส่งหนังสือเชิญ 24 ราย แต่มายื่นเสนอ 3 ราย พิจารณาตามเกณฑ์คะแนน พบว่าบริษัท บจก.ฟอ-รัม อาร์คิเทค และ บจก.ไมนฮาร์ท ประเทศไทย ได้รับคะแนน 91.12 คะแนน จึงอนุมัติจ้างออกแบบในวงเงิน 73 ล้านบาท และคัดเลือกบริษัทควบคุมงาน คณะกรรมการได้ส่งหนังสือเชิญผู้ให้บริการ 19 ราย มีมา 5 รายที่ส่งข้อเสนอมา ระหว่างนั้น สตง.ได้ขอเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมด้วย แต่คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต แจ้งไม่คัดเลือกตึก สตง.เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม

มีมติเลิกสัญญา-งานล่าช้า

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามเงื่อนไขมีผู้เข้าประกวดราคา 16 ราย แต่ “กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี” เป็นผู้ชนะการประกวดราคาไม่พบช่องว่ามีการฮั้ว คำตอบที่ได้รับคือบริษัทดังกล่าวมีทุนและเทคโนโลยีจากจีน บริษัทนี้อ้างว่าทำงานได้ แม้จะได้งบประมาณตามที่เสนอราคาไว้ ส่วนเรื่องความโปร่งใส สตง. ทำ MOU กับ ACT องค์การต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทยให้เข้าตรวจสอบร่วมระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี สามารถขยาย 2 ครั้ง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิดมีการปรับรูปแบบ แต่ผ่านมา 4 ปี เพิ่งสร้างได้ 33% เพราะผู้รับเหมาก่อสร้างมีปัญหาเรื่องทุน คณะกรรมการตรวจรับพัสดุมีมติบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 15 ม.ค.68 อยู่ระหว่างเสนอผู้มีอำนาจแต่มาเกิดเหตุถล่มลงมาเสียก่อน สตง.ยืนยันว่าไม่เคยรู้เรื่องบริษัทจีนที่มาร่วมก่อสร้าง เพราะอิตาเลียนไทยออกหน้ามาตลอด สตง.ยังดีใจว่าได้บริษัทที่มีระดับเบอร์ 1 ของประเทศมารับสร้างโครงการนี้

แจงอีกคณะไทม์ไลน์ก่อสร้าง

ต่อมาเวลา 13.30 น. นายสุทธิพงษ์ บุญนิธ รองผู้ว่าการ สตง. เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาฯ อีกคณะว่า อาคาร สตง.ลงนามสัญญาก่อสร้าง เมื่อ 23 ก.ย.63 ปรับแก้ไขสัญญา 9 ครั้ง งบก่อสร้าง 2,136 ล้านบาท มีระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี เริ่มส่งมอบพื้นที่ 1 ม.ค.64 ต้องเสร็จตามสัญญาวันที่ 31 ธ.ค.66 แต่ขอขยายเวลา 2 ครั้ง เนื่องจากสถานการณ์โควิดและการปรับแก้สัญญา ขยายไปถึงวันที่ 14 มิ.ย.68 จ่ายเงินไปแล้ว 22 งวด วงเงิน 966 ล้านบาท แต่ก่อสร้างได้แค่ 33% ทั้งที่ควรได้งาน 86.77% ล่าสุดวันที่ 15 ม.ค.68 คณะกรรมการตรวจรับพัสดุบอกเลิกสัญญาอยู่ระหว่างเสนอผู้มีอำนาจ

สร้างต่อที่ใหม่งบไม่ถึง 2 พัน ล.

รองผู้ว่าการ สตง.กล่าวอีกว่า หลังเกิดเหตุตึกถล่ม สตง.ไม่นิ่งเฉย เข้าไปที่ตึกถล่มทุกวัน แต่หาก สตง.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบตัวเอง สตง.จะไม่ผิดจึงต้องให้คนนอกตั้งจะได้รู้ว่าใครต้องรับผิดชอบ ส่วนงานก่อสร้างต้องเดินหน้าต่อ แต่จะทำตึกสูงเหมือนเดิมไม่ได้ โดยเช่าที่รถไฟบริเวณด้านหน้าเพิ่มอีก 4 ไร่ แก้แบบให้เป็นแบบแนวราบ กว้าง 50 ตารางวา ยาว 100 ตารางวา ทุกอย่างไม่ต้องทันสมัยแอร์ติดผนังธรรมดา งบก่อสร้างไม่ถึง 2,000 ล้านบาท ไม่สร้างทับบริเวณที่ตึกถล่มจะขยับมาข้างหน้า ใช้งบประมาณที่เหลือก่อสร้างต่อ ขณะที่เรื่องเหล็กยืนยันได้มาตรฐานมอก. หรือหากอยากตรวจสอบเรื่องปูน ก็ตรวจสอบได้ไม่ยากเพราะมีบริษัทที่ทำเกี่ยวกับปูน 2 บริษัท การจะบอกว่าตึกเพิ่งเซตตัวนั้นไม่ใช่ เพราะตึกตั้งสง่ามา 4 ปีแล้ว

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่