ผมได้ข่าวว่าพรรคเพื่อไทยกำลังเร่งผลักดันโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงอีกครั้ง โดยคุณสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้ความเห็นชอบหลักการโครงการแล้ว ตามที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) นำเสนอรายงาน พร้อมทำเรื่องถึงสำนักงบประมาณขอใช้งบกลาง 28 ล้านบาท ในการศึกษาออกแบบ และเร็วๆนี้จะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อขออนุมัติให้ อพท.เป็นผู้รับผิดชอบโครงการทั้งหมด

ประเทศไทยมีการพูดถึงโปรเจกต์กระเช้าภูกระดึงมาแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ปี แต่ก็ไม่ได้สร้างเสียที สูญเสียโอกาสและรายได้จากการท่องเที่ยวไปไม่รู้เท่าไหร่ ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวประเทศอื่นที่มีสภาพภูมิประเทศคล้ายภูกระดึงสร้างกระเช้าโกยเงินนักท่องเที่ยวไปแล้วอื้อซ่า เช่น Datanla Waterfall และ Robin Hill เมืองดาลัท เวียดนาม Mount Batur และ Bedugul ที่บาหลี อินโดนีเซีย เกนติ้งไฮแลนด์ ของมาเลเซีย Sarangkot Cable Car ในเมืองโปขรา เนปาล รวมถึงจางเจียเจี้ยของจีน เป็นต้น

ช่วงกลางเทอม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยอนุมัติให้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการดังกล่าว รายงานผลการศึกษาเสร็จสิ้นนำเสนอเข้า ครม. ในยุค คสช. แต่รัฐบาล คสช.ไม่กล้าฟันธงเดินหน้าก่อสร้าง จนกระทั่ง  รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน  หยิบโครงการนี้มาปัดฝุ่นใหม่ สั่งให้ศึกษาความเหมาะสมและทบทวนรายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพราะอีไอเอฉบับเก่าหมดอายุไปแล้ว แต่เรื่องก็ติดขัดในขั้นตอนของงบประมาณ กระทั่งวันนี้ รมว.การท่องเที่ยวฯเห็นชอบให้เดินหน้าโครงการต่อ

จากการประชุมหารือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดทำประชาคมที่ผ่านๆมา ทุกฝ่ายเข้าใจและเห็นตรงกันอยากให้สร้างกระเช้า มีแต่พวกเอ็นจีโอจากกรุงเทพฯเท่านั้นที่ออกมาปลุกกระแสคัดค้าน โดยที่มีข้อมูลไม่ครบถ้วนรอบด้าน

...

การขึ้นภูกระดึงต้องเดินทางราบ 3 กิโลเมตร ขึ้นเขาอีก 6 กิโลเมตร เป็นอุปสรรคสำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย และผู้ที่ต้องการความสะดวกสบาย การสร้างกระเช้าจะทำให้ผู้พิการ สตรีมีครรภ์ ได้เข้าถึงความสุขในการขึ้นไปเที่ยวยอดภูกระดึง เป็นการเพิ่มโอกาสด้านการท่องเที่ยวสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียม

ประเทศต่างๆทั่วโลกให้ความสำคัญกับกระเช้าขึ้นภูเขาสูงเป็นอันดับแรก ไม่เพียงสะดวก ปลอดภัย ทั้งยังประหยัดเวลา ขึ้นไปเที่ยวแล้วกลับมาลงภายในวันเดียว จะได้เอาเวลาที่มีอย่างจำกัดไปเที่ยวสถานที่อื่นต่อ

การสร้างกระเช้าไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม สามารถออกแบบให้ใช้พลังงานสะอาดได้ ในตรงกันข้ามกลับช่วยถนอมรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เพราะจะลดความแออัดของนักท่องเที่ยวตามเส้นทางเดินเท้า ช่วยให้ต้นไม้ใบหญ้าถูกทำลายน้อยลง ปริมาณขยะลดลง สัตว์ป่าถูกรบกวนน้อยลง

เมื่อมีกระเช้าแล้ว คนก็จะเที่ยวแบบวันเดย์ทริป ไม่ค้างคืน เปิดให้บริการได้ตั้งแต่ตี 4 สำหรับคนที่ต้องการขึ้นไปดูพระอาทิตย์ขึ้น ปิด 3 ทุ่มรองรับคนที่รอดูพระอาทิตย์ตก กระเช้ายังลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยเส้นทาง และสภาพอากาศ ทั้งยังตรวจสอบควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนข้อกังวลลูกหาบจะตกงานไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะยังมีนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ต้องการเดินเท้าขึ้นไปเที่ยวอยู่ดี และรัฐก็คงจะนำรายได้ส่วนหนึ่งจากกระเช้ามาตั้ง กองทุนดูแลลูกหาบ เช่น ให้สวัสดิการ ให้ทุนการศึกษาบุตรหลาน หรืออาจจะให้สิทธิพิเศษหากต้องการเปิดร้านค้าร้านบริการในพื้นที่

สำหรับการมอบหมายให้ อพท.เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ถือว่าหาเจ้าภาพถูกคน เพราะบุคลากรของ อพท.มีความเชี่ยวชาญในการประสานความร่วมมือจากหลายหน่วยงานหลายภาคส่วน ก่อเกิดพลังขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสู่มิติแห่งความยั่งยืน สร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ผมเชียร์เต็มที่ให้โครงการเดินหน้าเป็นรูปธรรมได้เสียที อยากเห็นปักเสาต้นแรกในรัฐบาลนี้เลยครับ.

“ลมกรด”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม