แม้ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 “สามารถควบคุมการระบาดได้” จนผ่านพ้นห้วงเวลาอันเลวร้าย แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังทิ้งรอยแผลไว้กับหลายคนทั้งร่างกาย–จิตใจไม่อาจกลับมาใช้ชีวิตปกติได้
โดยเฉพาะ “ผู้ผ่านประสบการณ์การติดเชื้อหนักๆ” ทำให้ผลพวงอาการทางร่างกายที่เกิดจากการฟื้นตัวในการติดเชื้อหนักหน่วงก่อเกิดการสูญเสียความสามารถการเคลื่อนไหว หรือภาวะทางระบบประสาทระยะยาว
เมื่อการระบาดโควิด-19 คลี่คลายแล้ว หลายคนยังต้องรักษาฟื้นฟูจิตใจที่สูญเสียไปอย่าง “พี่ตู่” หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อโควิด-19 “กลุ่มแรกของคลัสเตอร์สนามมวย” จากญาติที่เข้าไปในสนามมวยแล้วติดเชื้อไม่แสดงอาการเข้ามาร่วมทำบุญขึ้นบ้านใหม่ในเดือน มี.ค.2563 และดื่มเหล้าแก้วเดียวกัน
กลายเป็นแจ็กพอตสำคัญ “พลิกชีวิต” หลังติดเชื้อมีอาการป่วยหนัก “ระดับโคม่า” ทั้งที่ร่างกายแข็งแรง และไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง 608 “แพทย์” ต้องใส่ท่อช่วยหายใจขณะทำการรักษาต้องนอนเป็นผักไม่รู้สติกว่า 1 เดือน
สาเหตุมาจาก “ร่างกายไม่ตอบสนองยารักษา” จนแพทย์ต้องเรียกญาติมาแจ้งผลอาการป่วยให้รับทราบ “ควรทำใจกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น” เพียงแต่ตอนนี้น้องชายยังขอร้องให้โรงพยาบาลช่วยรักษาต่อ กระทั่งได้รับยาตัวที่ 7 ร่างกายค่อยเริ่มตอบสนองในการรักษาอาการดีขึ้นเรื่อยๆ สามารถช่วยเหลือกู้ชีพให้ฟื้นคืนกลับมา

...
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดต้องมาเจอฝันร้ายครั้งสำคัญ “ระหว่างการใช้ยาตัวที่ 7 เกิดภาวะแทรกซ้อนลิ่มเลือดในสมองซีกขวา” อันเกิดจากผลพวงของการใช้ยาส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงครึ่งซีกด้านซ้าย มือ แขน ขา เท้ายกไม่ขึ้น และเสียงพูดแหบ กลายเป็นร่างกายไม่แข็งแรงต้องทำกายภาพฟื้นฟูกล้ามเนื้อในโรงพยาบาล 1-2 เดือน
ต่อมาแม้แพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน “ก็ยังไม่สามารถช่วยตัวเองได้” จำเป็นต้องจ้างพยาบาลพิเศษมาคอยดูแล ต้องนำเงินเก็บสะสมออกมา “รักษาร่างกาย” เพราะแม้แต่ก้าวเดินขึ้นบันไดก็ทำไม่ได้ ทำให้เดิมเคยเป็นเสาหลักของครอบครัวมีรายได้เดือนละ 5.8 หมื่นบาท สุดท้ายไม่อาจไปทำงานได้ก็ต้องถูกให้ออกจากงานไป
คราวนั้นรับเงินจาก “ทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาก้อนหนึ่ง” ก็นำมาใช้รักษาทำกายภาพบำบัดจนหมดลง “การจะออกไปหา งานใหม่ก็ลำบาก” ยิ่งกว่านั้นภรรยาตั้งท้องลูกสาวกำหนดคลอดเดือน ก.ย.2563
เมื่อไม่มีรายได้ทำให้ “กดดันเกิดความเครียดรุนแรง” เพราะที่ผ่านมามีสุขภาพแข็งแรงมาตลอด และมุ่งมั่นทํางานแบบหามรุ่งหามค่ำ “เพื่อจะมีเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวไม่ให้ลำบาก” แต่พอโควิด-19 เข้ามาทำให้ชีวิตต้องเปลี่ยนไปจากเคยร่างกายแข็งแรง “กลายเป็นคนไม่ปกติ” ส่งผลให้ชีวิตปรับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
กระทั่งเริ่มมีความเครียดสะสม “เคยคิดสั้นฆ่าตัวตายหลายครั้ง” แต่พอเห็นหน้าลูกน้อยอันเป็นเสมือนแก้วตาดวงใจ “ต้องยอมกัดฟันสู้ยอมรับความจริงประคับประคองชีวิตอยู่ต่อไป” ด้วยการพยายามเดินทางไปโรงพยาบาลที่ห่างจากบ้าน 10 กม. เพื่อทำกายภาพบำบัดกระตุ้นการฟื้นตัวกล้ามเนื้อมาตลอด 3-4 ปี
เพราะด้วยจริงๆแล้ว “กล้ามเนื้ออ่อนแรงสามารถรักษาให้กลับคืนมาปกติได้” เพียงแต่อาจต้องทำกายภาพบำบัดให้เร็วและถูกวิธีตั้งแต่ในช่วงแรกๆ “แต่ด้วยตัวเองเจอกับสภาวะกดดันหลายด้าน” ทั้งการเป็นผู้นำครอบครัวต้องพยายามหารายได้ “จุนเจือลูกเมีย” จนไม่มีเวลาจะดูแลร่างกายเท่าที่ควรจะเป็น
ทำให้ปัจจุบันรักษาเฉพาะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ “สามารถเดิน–วิ่งออกกำลังกายได้” แต่กล้ามเนื้อมัดเล็กยังใช้งานไม่ได้เต็มที่ “ต้องกายภาพบำบัดต่อเนื่อง” สิ่งนี้ส่งผลให้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตใหม่ เพราะแต่เดิมเคยเป็นหัวหน้าแผนกในบริษัทก็ต้องกลายมาเป็น “พนักงานขับรถ” ทำให้รายได้ที่รับเดือนละ 5.8 หมื่นบาท ต้องลดลง
ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย “ก่อเกิดปัญหาในครอบครัว” เริ่มมีปากเสียงทะเลาะกับภรรยาหนักขึ้นเรื่อยๆ “จนไม่อาจประคับประคองครอบครัวไว้ได้” สุดท้ายต้องแยกทางกันส่วนลูกสาววัย 4 ขวบ ตัวเองเป็นผู้ดูแล
“เรื่องราวทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากการระบาดโควิด-19 ในการติดเชื้อไวรัสจนมีอาการป่วยหนักรุนแรงโคม่า เพราะร่างกายไม่ตอบสนองกับยารักษาจนมาใช้ยาตัวที่ 7 นำมาซึ่งการเกิดภาวะแทรกซ้อนลิ่มเลือดสมอง ส่งผลให้ร่างกายซีกซ้ายอ่อนแรง กลายเป็นคนไม่แข็งแรง ตกงาน และครอบครัวต้องแตกแยกมาจนถึงทุกวันนี้” พี่ตู่ว่า
ตอกย้ำในช่วงแรกๆ “พยายามโทษตัวเองหนักมาก” ทั้งยังตั้งคำถามเสมอว่าทำไมต้องกลายมาเป็นผู้โชคร้ายมาเจอะเจอกับ “โรคร้าย” ทั้งที่ทุกวันมีแต่ทำงานกลับบ้านไม่เคยออกไปไหน “จนรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอด” ที่ทำให้ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือแทบจะเอากลับคืนมาไม่ได้ด้วยซ้ำ
หากย้อนดูคราวนั้นยอมรับว่า “เชื้อโควิด–19 เข้ามาในประเทศง่ายมาก” ด้วยมาตรการป้องกันดูเหมือนจะรัดกุมดี แต่กลับปล่อยให้มีการลักลอบเข้าประเทศตามแนวชายแดนเต็มไปหมด “ทำให้โรคแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว” แม้ปัจจุบันมาตรการป้องกันก็ยังไม่ดี “จนติดเชื้อรอบ 2” โชคดีครั้งนี้การรักษาดีขึ้นกินยา 3-4 วันก็หาย
...
สถานการณ์แบบนี้ “ประชาชนไม่ควรประมาท” แม้ว่าเราจะมีร่างกายแข็งแรง หรือไม่มีโรคประจำตัวก็ตาม แต่โอกาสติดเชื้อก็ยังมีอยู่เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่มีการกลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ “การติดเชื้อย่อมเกิดได้ง่าย” แล้วบางครั้งอาจหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีมักมีอะไรแอบซ่อนนำไปสู่อาการป่วยรุนแรงได้เสมอ
ประการสุดท้ายนี้ “ภาครัฐ” ควรติดตามกลุ่มผู้ป่วยอาการหนักรุนแรง เพื่อการช่วยลดผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เพราะเชื่อว่าหลายคนกำลังเผชิญกับร่างกายผิดปกติ หรือไม่แข็งแรงจากการติดโควิด-19 หนักๆ ทำให้ไม่อาจใช้ชีวิตเป็นปกติแบบเดิมได้ “มิใช่ว่าโควิด-19 คลี่คลายแล้ว” ก็ปล่อยให้เขาต้องเจอกับความลำบากเพียงลำพัง
เพราะอย่างกรณีตัวเอง “รักษาหมดหลายล้านบาท” แม้ช่วงแรกภาครัฐช่วยดูแลค่ารักษาโควิด-19 แต่ผลกระทบจากนั้นมิได้ดูแลต้องใช้เงินเก็บ และขายรถยนต์มารักษาก็ยังไม่พอต้องกู้เงินกลายเป็นหนี้มาถึงทุกวันนี้
ฉะนั้นกว่าจะผ่านจุดนั้นมาได้ต้องเผชิญ “ความลำบากแสนสาหัสล้มลุกคลุกคลานมาหลายปี” ทำให้อยากแชร์ความรู้สึกนี้ให้ผู้ที่กำลังรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง เพื่อเป็นแรงผลักดัน แรงสู้ในการดำรงชีวิตบนโลกไปนี้ต่อไป
ทั้งหมดนี้คือ “ฝันร้าย” อันเป็นรอยบาดแผลจาก “โควิด–19” ที่ไม่เพียงแต่เป็นแผลทางกายเท่านั้น แต่ยังเป็นแผลถูกฝังลึกในจิตใจที่ต้องการการรักษาเยียวยาและฟื้นฟูเพิ่มเติม.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม