ดีเอสไอตั้งแท่นทำคดี 2 ผู้บริหาร “บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ฯ (EA)” และ 1 ประธานกรรมการบริหารบริษัทออนไลน์แอสเซ็ทฯ ร่วมกันทุจริตจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ-จัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หลัง ก.ล.ต. ร้องเอาผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เหตุพบพฤติการณ์การทุจริตความเสียหายกว่า 3,465 ล้านบาท จ่อเชิญ ก.ล.ต.ในฐานะผู้ตรวจสอบเหตุเบื้องต้นมาหารือ ขณะที่ “สมโภชน์-อมร” ออกแถลงการณ์ลาออกจากกรรมการและผู้บริหาร ระบุเปิดทางให้ตรวจสอบเต็มที่ ยืนยันมั่นใจในความบริสุทธิ์

ดีเอสไอตั้งแท่นสอบทุจริต 3.4 พันล้าน หลัง ก.ล.ต.แจ้งเอาผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ 3 ผู้บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ฯ (EA) เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 14 ก.ค. พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รรท.อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร้องทุกข์กล่าวโทษ 1.นายสมโภชน์ อาหุนัย 2.นายอมร ทรัพย์ทวีกุล ทั้งคู่เป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) และ 3.นายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ประธานกรรมการบริหารบริษัทออนไลน์แอสเซ็ท ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีร่วมกันกระทำการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และหรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 ราย ได้รับผลประโยชน์ รวม 3,465.64 ล้านบาท ว่า

พ.ต.ต.ยุทธนากล่าวว่า หลังจากที่ ก.ล.ต.ร้องทุกข์กล่าวโทษทั้ง 3 ราย ขั้นตอนแรกกองบริหารคดีพิเศษ จะประมวลข้อมูลและส่งเอกสารรายละเอียดพฤติการณ์ตามที่ ก.ล.ต.ร้องทุกข์ไปยังกองคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการทุจริตโดยเฉพาะ หากเป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษด้วย พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กองคดีที่จะต้องรับผิดชอบจะตั้งเลขสืบสวนคดี และตั้งคณะพนักงานสืบสวนเพื่อเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริง และแสวงหาพยานหลักฐาน เบื้องต้นคาดว่าอาจเป็นกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ที่จะเข้ามารับผิดชอบ ก่อนที่กองคดีจะนำเสนอเรื่องมายังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าเรื่องดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นคดีพิเศษตามแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547

...

พ.ต.ต.ยุทธนาเผยอีกว่า สำหรับขั้นตอนช่วงแรกจะต้องไปตรวจสอบรายละเอียดตามที่ ก.ล.ต.ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ว่ามีบุคคลใดบ้างที่มีพฤติการณ์การทุจริตอย่างไร เพื่อพิจารณาว่าจะต้องเรียกพยานหลักฐาน หรือเรียกเอกสารในส่วนใดเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่จนกว่าจะพบข้อเท็จจริง ก่อนมีมติออกหมายเรียกพยานมาสอบปากคำ หรือหากพบความชัดเจนอันเป็นประจักษ์รวบรวมพยานหลักฐานแล้วพบว่าบุคคลทั้ง 3 รายมีความผิดตามที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษ ดีเอสไอสามารถออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีได้เช่นกัน

รรท.อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษกล่าวต่อว่า ในช่วงต้นสัปดาห์ ตนจะตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมดในเอกสารที่ ก.ล.ต. ร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลทั้ง 3 ราย เพื่อจะได้วางกระบวนการพิจารณาการสืบสวนสอบสวน กำหนดแนวทางการทำงานทางคดีอาญา ตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนสำรวจมูลค่าความเสียหายภาพรวม อุปสรรคหรือปัจจัยทางคดี เป็นต้น รวมถึงอาจจะต้องเชิญผู้แทนจาก ก.ล.ต. ในฐานะที่เป็นผู้ตรวจสอบเหตุเบื้องต้นมาพูดคุยหารือในประเด็นอื่นที่ดีเอสไอเห็นควรสงสัย หรือประสงค์ขอข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อที่การตรวจสอบดังกล่าวจะได้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง ส่วนประเด็นว่ากรรมการทั้ง 3 ราย ที่ถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษนั้น จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในบริษัทที่สังกัดทันทีหรือไม่ เป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.ล.ต.ที่จะมีดุลพินิจสั่งการตามขั้นตอนกฎหมาย

ด้าน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า การร้องทุกข์กล่าวโทษดังกล่าวของ ก.ล.ต. ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ส่งเรื่องเข้ามาเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ขั้นตอนจากนี้จะส่งเรื่องไปยังกองบริหารคดีพิเศษ เพื่อประมวลเรื่องทั้งหมดตามขั้นตอนต้องเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อสั่งการมอบหมายหน่วยงานในกรมที่เกี่ยวข้องสืบสวนสอบสวน หากพิจารณาจากลักษณะรายคดี เบื้องต้นอาจเป็นกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน เนื่องจากเป็นเรื่องของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เว้นแต่อธิบดีมีเหตุจำเป็น อาจมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เช่น ตั้งคณะทำงานระดับกรม

ค่ำวันเดียวกัน มีเอกสารแถลงการณ์สมโภชน์-อมร ต่อกรณี ก.ล.ต.กล่าวโทษทุจริต ข้อความระบุว่า นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมด้วยนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ประกาศลาออกจากการเป็นกรรมการและผู้บริหาร เพื่อความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้เกิดการตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ มั่นใจในความบริสุทธิ์ พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการสอบสวน กรณีเรื่องการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และ/หรือการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่นครสวรรค์และลำปาง ยืนยันว่าไม่ได้ร่วมกันทำทุจริต เพราะกระบวนการในการจัดจ้างผู้รับเหมาเป็นการคัดเลือกผ่านมติคณะกรรมการบริษัท เป็นการรับเหมาแบบทั้งโครงการ (Turn Key) มีการทำสัญญาก่อสร้างแบบ Engineering Procurement and Construction Contract (EPC) โดยผู้รับเหมาเป็นผู้ออกแบบ จัดซื้อ ก่อสร้างและติดตั้งระบบงานต่างๆ ของโครงการทั้งหมด

ข้อความระบุต่อว่า การจัดซื้ออุปกรณ์เป็นหน้าที่และเป็นอำนาจการตัดสินใจของผู้รับเหมาไม่ได้เป็น การตัดสินใจของบริษัท ของสมโภชน์ หรือของอมร โดยผู้รับเหมาจะได้รับรายละเอียดของโครงการรวมทั้งรายการอุปกรณ์ที่ต้องไปจัดหา โดยกำหนดยี่ห้อของแต่ละอุปกรณ์มากกว่า 1 ยี่ห้อ แล้วให้ผู้รับเหมาไปตัดสินใจเลือกซื้อเอง ทั้งนี้ การกำหนด specification ของอุปกรณ์หลักต้องได้รับการอนุมัติโดยที่ปรึกษาด้านเทคนิคของโครงการที่แต่งตั้งโดยสถาบันการเงินซึ่งเป็นที่ปรึกษาระดับโลกที่มีความเป็นอิสระไม่สามารถชี้นำหรือควบคุมได้ โดยที่ปรึกษาด้านเทคนิคของโครงการยังได้ให้ความเห็นว่า ค่าก่อสร้างของโครงการเหมาะสมเมื่อเทียบกับโครงการอื่นๆ ในช่วงเวลานั้น อย่างที่เห็นประจักษ์แล้วว่า ต้นทุนการก่อสร้างโครงการบริษัทเมื่อเปรียบเทียบ กับค่าก่อสร้างของโครงการลักษณะคล้ายกันของบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเวลาเดียวกัน โครงการของอีเอก็มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดและมีประสิทธิภาพในการทำกำไรสูงสุด จนทำให้เกิดผลตอบแทนจาก การลงทุน (IRR) สูงสุด

...

อย่างไรก็ตาม ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษมา นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ยังไม่ได้ถือว่าขณะนี้นายสมโภชน์และนายอมรเป็น บุคคลผู้กระทำผิดและพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อพิสูจน์ความจริงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อไป

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่