คำถามที่ 3 ในหนังสือ 101 คำถามสามก๊ก (หลี่ฉวนจวิน และคณะ เขียน ถาวร สิกขโกศล แปล สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2556) ทำไมโจโฉถูกเรียกว่า กังฉินหน้าขาว อ่านไปให้จบ อาจจะได้คำตอบ
ปลายราชวงศ์ฮั่น บ้านเมืองแตกแยก ขุนศึกชิงอำนาจกัน โจโฉนำทัพก่อการ กำจัดลิโป้ ปราบเตียวซิ่ว พิฆาตอ้วนสุด และอ้วนเสี้ยว รวมจีนภาคเหนือเป็นปึกแผ่น
ในยุคต่อมา ถือเป็นคุณูปการยิงใหญ่ต่อการรวมจีนทั้งหมด
ข้อมูลในประวัติศาสตร์ โจโฉมิได้มีเพียงปรีชาสามารถ แกล้วกล้าด้านการทหาร ยังเป็นนักการเมือง ปกครองบ้านเมืองได้ดีเลิศ ทั้งยังเป็นกวียอดเยี่ยม รวมความปราดเปรื่องทั้งบุ๊นทั้งบู๊
คุณสมบัติประดามีเหล่านี้ ถ้าเขียนเป็นนวนิยาย โจโฉเป็นพระเอก
แต่ตรงกันข้าม ภาพลักษณ์ในหมู่คนจีนหลัง ไม่ใช่เช่นนั้น
ชาวจีนส่วนใหญ่ ฝังใจคำพยากรณ์ของ เขาเฉียว...เป็นขุนนางผู้ปรีชาสามารถในยุคสงบ เป็นยอดคนเจ้าเล่ห์ในยุคจลาจล ความจริงคำพยากรณ์นี้ ยกย่องโจโฉ
แต่เพราะพัฒนาการของสังคม ผู้คนที่คล้อยตามก็เริ่มตัดตอนแปลงความหมาย โจโฉ กลายเป็นกังฉิน
คำอธิบายความเปลี่ยนแปลงนี้ มีว่า ช่วงต่อระหว่างราชวงศ์ซ่งเหนือกับราชวงศ์ซ่งใต้ พวกเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ค่อยๆเจริญเข้มแข็งขึ้น บุกเข้ายึดราชวงศ์ซ่งเหนือ ผู้คนเริ่มหนีข้ามแม่น้ำแยงซีเกียงมาอยู่ทางใต้
แล้วก็ยิ่งหวาดกลัวศัตรูทางเหนือที่กล้าแข็งยิ่งขึ้น
ในชีวิตจริง สิ้นหนทางสู้ คนจีนใต้จึงใช้ศิลปะลดคุณค่าภาคเหนือ โจโฉเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจแข็งแกร่งทางภาคเหนือ ทั้งยังมุ่งยึดครองดินแดนทางภาคใต้
โจโฉจึงกลายเป็นศัตรูจำลองของชาวจีนใต้
บังเอิญ ตั้งแต่ยุคราชวงศ์ซ่งเหนือ ศิลปะพื้นบ้านจีนเริ่มเจริญรุ่งเรือง ตามโรงมหรสพในย่านชุมชนเป็นที่ทำมาหากินของศิลปินอาชีพ ดังนั้น ผู้คนจึงเริ่มใช้เวทีการแสดงทำลายเกียรติคุณของโจโฉ
...
ทั้งยังมีผลสืบเนื่อง จากนิยายสามก๊ก ที่แต่งจบราวต้นราชวงศ์หมิง เรื่อยมาถึงราชวงศ์ชิง ผลพวงจากการเกิดงิ้วปักกิ่ง และบทงิ้วเกี่ยวกับสามก๊กตอนต่างๆ คำโจโฉหน้าขาว เป็นแบบฉบับลงตัว ของกังฉินชั่วร้ายในโรงงิ้ว
เปลี่ยนภาพโจโฉจากพระเอก กลายเป็นผู้ร้ายเต็มตัว
มาถึงประเด็นที่มา ของหน้ากากงิ้ว...ตามปรัมปราคติจีน คือหน้าตาละครเขียนเหมือนหน้ากาก รูปลักษณ์ สีสัน ลวดลาย ช่วยแนะนำให้ผู้ชม ซาบซึ้งลักษณะเด่น
เป็นไปตามทฤษฎีทวิภาค ซึ่งเรียบง่าย คือไม่ดีก็ย่อมเลว ไม่ซื่อตรงก็ฉ้อฉล ไม่โง่ก็ฉลาด
ผู้ชมไม่ต้องเปลืองสมอง ไปวิเคราะห์คาดเดา
งิ้วคุนฉี่ว์ งิ้วฉินเฉียง งิ้วปักกิ่ง งิ้วหูเป่ย ล้วนแต่มีแบบหน้ากาก นับแต่ราชวงศ์ซ่ง สืบเนื่องจากความเจริญรุ่งเรืองของงิ้ว การวาดสีสันลวดลายบนใบหน้าโดยตรง การเป็นเอกลักษณ์ของการแสดงงิ้ว
เริ่มแต่ตัวโฉ่ว (ตัวตลก) ต่อมาเขียนสีสันลวดลายบ่งบอกนิสัยตัวละครอื่นๆ บันทึกสมัยซ่ง ฉบับหนึ่งมีว่า มีขุนนางขี้ประจบสอพลอสองคน เอาสีดำสีขาวทาหน้า เล่นตลกเอาใจองค์ฮ่องเต้
ในความคำนึงของชาวจีน สีขาว หรือสีดำ เป็นสีที่เรียกความสนใจ เป็นตลกก็เรียกรอยยิ้มได้เพิ่มขึ้น คนละความหมายแบบไทยๆ สีดำ สีความเลว สีขาว สีความดี
คนจีนเอ่ยถึง ท่านเปาหน้าดำ หมายถึงเปาบุ้นจิ้นผู้เที่ยงธรรม ถ้าเอ่ยคำ กังฉินหน้าขาว ก็นึกถึงโจโฉ และอาจนึกเลยไปถึง นักการเมืองชั่วร้ายอีกหลายๆคน
ไม่เชื่อ! วันนี้ลองเอ่ย กังฉินหน้าขาว แล้วก็ลองเดา เขากำลังพูดถึงใคร?
กิเลน ประลองเชิง