บทที่ 22 ในฉางต่วนจิง ศาสตร์แห่งการยืดหยุ่นและพลิกแพลง (อธิคม สวันดิญาณ แปล สำนักพิมพ์เต๋าประยุกต์ พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2549) เจ้าหยุย ผู้รู้ต้นราชวงศ์ถาง...ให้วิชาสำหรับ “ท่านผู้ตาม”

(มีท่านผู้นำในสถานการณ์ฝุ่นตลบของกระแสปรับ ครม.ท่านผู้ตาม ก็น่าจะหมายถึงรัฐมนตรี) ไว้ดังต่อไปนี้

สวินเยว่ นักประวัติศาสตร์สมัยตงฮั่น กล่าวว่า ข้าราชบริพาร รับใช้ใกล้ชิดกษัตริย์ ต้องระมัดระวังคำพูด เพราะเหตุใดหรือ? เพราะทันทีที่คำพูดหลุดจากปาก ความผิดและโทษทัณฑ์ก็จะตามมา

จึงกล่าวกันว่า...ถ้าเปิดโปงรายงานความผิด จะมีความผิดโทษฐานล่วงละเมิด หรือทรยศ ถ้าแนะนำตักเตือนให้กำลังใจ จะถูกเสียดสีว่าประจบเอาใจเจ้านาย

ถ้าเสนอความคิดเห็นที่ดี เจ้านายจะอับอายที่ลูกน้องเก่งกว่า

ถ้าเสนอข้อคิดเห็นที่ไม่ได้เรื่อง เจ้านายจะมองว่าโง่เขลา จึงเหยียดหยาม

ถ้ามีความคิดเห็นตรงกับเจ้านาย แต่เป็นคนเสนอก่อนเจ้านาย เจ้านายจะเกลียดชัง ที่แย่งหน้าตาของเขาไป ถ้ามีความคิดเห็นตรงกับเจ้านาย แต่พูดลับหลังเจ้านาย จะถูกมองว่าลอกเลียนความคิดเห็นเจ้านาย

ถ้าขัดแย้งกับเบื้องล่าง คล้อยตามเบื้องบน จะถูกมองว่า เออออตามกันหมด ถ้าความคิดเห็นตรงกับคนส่วนใหญ่ จะถูกมองว่าลู่ตามลม ถ้าความคิดเห็นไม่ตรงกับคนส่วนใหญ่ จะถูกมองว่าชอบอวดดีอวดเด่น

ถ้าแสดงความคิดเห็นที่ตื้นเขินคับแคบ จะถูกมองว่าปัญญาต่ำ

ถ้าแสดงความคิดเห็นที่ลึกซึ้งกว้างไกล คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ จะถูกปฏิเสธและตำหนิ ผู้มีสติปัญญาและแนวคิดอันโดดเด่น จะถูกคนทั้งหลายเกลียดชังริษยาที่เป็นกระเรียนเด่นกลางฝูงไก่

ถึงจะแสดงความคิดเห็นที่ดีและถูกต้อง คนทั้งหลายก็ไม่ยกย่อง

ถ้ามีสติปัญญาความสามารถพอๆกับคนทั้งหลาย ก็จะถูกมองว่าเอาแต่เออออคล้อยตามส่วนใหญ่ ถึงเสนอความเห็นที่ดีและทำถูกต้อง ก็ไม่มีความดีความชอบ

...

ถ้านอบน้อมเสียสละไม่แก่งแย่ง จะถูกมองว่าไร้ความสามารถ ถ้าพูดไม่หมดเปลือก จะถูกมองว่าปิดบังความจริง ไม่ตรงไปตรงมา ถ้าเสนอความคิดเห็นอย่างเต็มที่ จะถูกมองว่าไม่รู้จักประมาณตน

ถ้าพูดแล้วไม่เกิดผล จะกลัดกลุ้มคับแค้นใจ เพราะถูกซ้ำเติมตำหนิ ถ้าพูดแล้วเกิดผลจะถูกมองว่า ถึงอย่างไรก็เกิดผลอยู่แล้ว ถ้าเป็นประโยชน์กับเบื้องบน ก็ไม่เป็นประโยชน์กับเบื้องล่าง ถ้าสะดวกกับขวา ก็ไม่สะดวกกับซ้าย

และถ้าเข้ากับหน้าได้ ก็เข้ากับหลังไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ สภาพความเป็นจริงต่างๆจึงไม่ถึงพระเนตรพระกรรณ

บทที่ 22 นี้ ตั้งชื่อว่า วิธีหยั่งรู้ความรู้นึกนึกคิดของผู้มีอำนาจ...เริ่มต้นไว้ว่า ขงจื๊อกล่าวว่า ผู้ใดบุ่มบ่ามเสนอความคิดเห็นโดยสังเกตสีหน้าท่าทีอีกฝ่ายหนึ่ง ผู้นั้นไม่แตกต่างจากคนตาบอด

การบอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมา โดยที่ยังไม่ได้รับความเชื่อถือจากอีกฝ่ายหนึ่ง อาจทำให้เขาเข้าใจผิดว่าเราใส่ร้ายป้ายสีเขา

หากท่านผู้ตามตั้งใจอ่านแล้วยังฉงน...ไม่รู้ว่าจะพูดยังไง ก็ลองเปลี่ยนมาฟังคำพูดของท่าน สวินจื่อ...พูดจาตามสมควร เป็นการแสดงออกที่ชาญฉลาด นิ่งขรึมในระดับพอเหมาะ นี่คือการแสดงออกที่เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น

จบวิชาหยั่งรู้ท่านผู้นำแค่นี้...นี่ก็ได้เวลาที่เขาว่า จะปรับจะเปลี่ยนกันแล้ว ท่านผู้ตามจะพูดจะทำได้ทันการแค่ไหน แต่หากผลการปรับเปลี่ยนออกมาแล้ว ก็คงเข้าใจคำว่า โชคชะตา มิสู้ฟ้าลิขิต.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม