บทเรียน 17 ปีที่ต้องลี้ภัยในต่างประเทศกับการไปเปิดตัวเอิกเกริกเกรียงไกร ที่เชียงใหม่คราวนี้ ยืนยันว่า ยังไงๆคุณทักษิณ ก็ไม่เปลี่ยน

ผมเริ่มพอเข้าใจ ก็ต่อเมื่อเปิดอ่าน บทที่ 39 ในฉางต่วนจิง ศาสตร์แห่งการยืดหยุ่นพลิกแพลง (เจ้าหยุย เขียน อธิคม สวัสดิญาณ แปล สำนักพิมพ์เต๋าประยุกต์ พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2549) “ใช้ความยโสโอหัง ขับเด่นคุณธรรม”

ประวัติศาสตร์นิพนธ์ จั่วจ้วน มีความตอนหนึ่งว่า มารยาทแบบยโสโอหังนั้นไม่มี

คัมภีร์หลี่จี้ บทชวีหลี่ มีความตอนหนึ่งว่า “ต้องเคารพผู้อื่น”

แต่บางครั้งคนสมัยโบราณ ก็ถือความยโสโอหังเป็นมารยาทอย่างหนึ่ง...นี่เป็นเพราะเหตุใดเล่า!

จะอธิบายเหตุผลนี้ได้อย่างไร?

โหวอิ้ง จอมยุทธ์เลื่องชื่อ มีตำแหน่งนายทวารรักษาประตูด้านตะวันออก ราชธานีต้าเหลียง องค์ชายแคว้นเว่ย ซิ่งหลิงจวิน สั่งจัดงานเลี้ยงสุราครั้งใหญ่ มีแขกเหรื่อรับเชิญไปพร้อมหน้า

องค์ชายทรงประทับรถม้านำขบวนติดตาม ทรงปล่อยที่นั่งด้านซ้ายในรถม้า ให้ว่างไปรับโหวอิ้งจากประตูเมืองตะวันออกแล้วนำขบวนผ่านถนนกลางตลาด มุ่งหน้าไปงานเลี้ยงที่ตำหนัก

ในสายตาคนทั้งเมือง องค์ชายแคว้นเว่ย ทรงต้อนรับโหวอิ้งเยี่ยงอาคันตุกะผู้ทรงเกียรติ

โหวอิ้งกราบทูลว่า “วันนี้ผู้น้อยทำให้องค์ชายทรงลำบากทรงรู้ดี ผู้น้อยเป็นเพียงนายทวารรักษาประตู ไม่เพียงองค์ชายจะนำขบวนรถม้าไปรับด้วยตนเอง ยังเจตนาผ่านกลางถนนกลางตลาดร้านถิ่นอยู่เป็นนาน”

ในสายตาชาวเมือง องค์ชายแสดงท่าทีนอบน้อมผู้น้อย เลื่อมใสองค์ชายทรงเป็นผู้ยิ่งใหญ่ นอบน้อมคารวะปราชญ์และนักรบ

ขณะที่มองว่าข้าน้อยเป็นคนถ่อย

ผู้น้อยเองก็ยอมรับ เพื่อต้องการขับเด่นคุณธรรมที่ทรงถนอมรักและให้เกียรตินักรบขององค์ชาย

...

นี่...คือเรื่องหนึ่ง ที่คนโบราณเล่าขาน ยังมีเรื่องต่อไป

จางซื่อจื่อ เสนาบดียุติธรรม เข้าไปในท้องพระโรง ขณะสามมหาอำมาตย์เก้าเสนาบดีล้วนยืนอยู่

ผู้เฒ่าหวางเซิงกล่าวว่า “สายรัดรองเท้าของข้าหลุดแล้ว” พร้อมกับหันหน้าไปทางจางซื่อจื่อ

“ช่วยผูกสายรัดรองเท้าให้ข้าหน่อย!” เสนาบดียุติธรรมคุกเข่าลงผูกให้ทันที

เรื่องนี้ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ มีผู้ถามหวางเซิง “ไฉน ท่านต้องหยามจางซื่อจื่อ เสนาบดียุติธรรม”

หวางเซิงตอบ “ผู้คนทั้งเมืองรู้ ข้าชราแล้ว อีกทั้งไม่มีตำแหน่งอะไร ที่จะให้คุณให้โทษจางซื่อจื่อ ขุนนางซื่อสัตย์มี
ชื่อเสียงบนแผ่นดิน”

คำตอบแค่นี้ ยังไม่คลายข้อสงสัย ผู้เฒ่าอธิบายต่อ

“ข้าเจตนา ให้เสนาบดียุติธรรมคุกเข่าลงผูกสายรัดรองเท้าให้ข้า...โดยหวังว่า วิธีนี้จะทำให้คนทั้งหลาย เลื่อมใสเขามากยิ่งขึ้น”

คำวิพากษ์วิจารณ์นี้ เข้าหูสามมหาอำมาตย์ เก้าเสนาบดี ต่างยกย่องความปราดเปรื่องของผู้เฒ่าหวางเซิง และนิยมเลื่อมใสเสนาบดียุติธรรมจางซื่อจือมากยิ่งขึ้น

สองเรื่องเล่านี้ ชี้ให้พวกเราพอเข้าใจ ความยโสโอหังนั้น ในบางบรรยากาศ เป็นมารยาท สามารถทำให้คนทั้งหลายนิยมเลื่อมใสได้

และยังช่วยชี้นำให้เข้าใจ บท “ยอมหักไม่ยอมงอ” ในสำนวนนิยายกำลังภายใน ของจอมยุทธ์ระดับกระบี่มือหนึ่งของแผ่นดิน จำเป็นต้องเล่นเพื่อรักษาศรัทธาบริวาร น่าจะเป็นบทที่เล่นในเชียงใหม่นี่เอง.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ "ชักธงรบ" เพิ่มเติม