ปกติแล้วในการเขียนคอลัมน์ประจำวันนั้นมักจะต้องอิงกับเหตุการณ์ที่เป็นข่าวใหญ่...ทำนองหยิบข่าวมาเขียนพร้อมกับออกความเห็นของผู้เขียนประกอบข่าวนั้นๆไปด้วย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีเหตุการณ์ตึงเครียดจากการที่ศิษย์เก่า “อุเทนถวาย” ออกมาเดินขบวนเพื่อแสดงเจตจำนงที่จะไม่ยอมย้ายออกจากบริเวณสถานที่ตั้งดั้งเดิมในที่ดินจุฬาฯ แม้จะมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ให้ย้ายออกแล้วก็ตาม ผมก็ควรจะเขียนอะไรให้เข้าเหตุการณ์บ้าง

ทำให้นึกถึงความหลังเมื่อ 60 กว่าปีก่อนโน้น ยุคที่ผมและเพื่อนๆกำลังจะเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จาก โรงเรียนโพฒิสารศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์ที่โด่งดังที่สุดของจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อ พ.ศ.2500

สมัยนั้นไม่มีครูแนะแนวอย่างเป็นทางการ แต่เราก็พอจะรู้เส้นทางเดินสำหรับอนาคตของพวกเราอย่างคร่าวๆ จากเส้นทางที่รุ่นพี่ๆบุกเบิกไว้

กลุ่มที่เรียนค่อนข้างดีสอบได้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ และพ่อแม่พอจะมีเงินส่งไปเรียนที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะตั้งเป้าไปสอบเข้า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และ โรงเรียนอำนวยศิลป์ เพื่อต่อ ม.7 และ ม.8 แล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่อไป

ในขณะที่เพื่อนๆที่ได้คะแนนปานกลางสอบได้ 60 เปอร์เซ็นต์กว่าๆก็มักจะตัดสินใจที่จะไปสอบเข้าโรงเรียนอาชีวศึกษา ต่างๆ

เพื่อนที่วาดรูปเก่งมากๆคว้ารางวัลในงานศิลปหัตถกรรมของจังหวัดมานับไม่ถ้วน...หลายๆคนประกาศเลยว่าจะไปสอบเข้า โรงเรียนเพาะช่าง

เพื่อนที่เป็นลูกเถ้าแก่ในปากน้ำโพบอกว่าจะไปสอบเข้า โรงเรียนพณิชยการพระนคร เรียน 3 ปีได้ประกาศนียบัตรวิชาการบัญชี จะได้กลับมาช่วยเตี่ยค้าขายต่อไป

เพื่อนที่พ่อเป็นเจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์หมายมั่นปั้นมือตั้งแต่ต้นว่า “กูจะไปสอบเข้า ช่างกลปทุมวัน เอาความรู้ด้านช่างมาทำงานกับพ่ออีก 3 ปีข้างหน้า”

มีอยู่คนหนึ่งที่สนิทกับผมมากบอกเลยว่า “กูจะไปสอบเข้า โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ไปเรียนวิชาก่อสร้างตามอย่างญาติกูคนหนึ่งที่เขาจบแล้วไปเป็นข้าราชการของกรมทางหลวง...กูไม่คิดอะไรมากขอเป็นช่างกรมทางฯก็พอแล้ว”

...

เพื่อนรายนี้ชื่อ ดำรงค์ ชาญเชาวน์ ที่ผมมักเรียกว่า “ไอ้รงค์” เป็นเด็กจากอำเภอบรรพตพิสัย มาเรียนปากน้ำโพด้วยกัน

พวกเราทุกคนสามารถมาตามฝันได้พอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มเรียนดีสอบเข้าเตรียมอุดมได้ถึง 6 คน จนเป็นที่ฮือฮาไปทั้งจังหวัด...ส่วนเพื่อนๆที่ตั้งใจเรียนอาชีวศึกษาก็สอบได้สมประสงค์เป็นส่วนมาก

ไอ้รงค์เข้าอุเทนถวายได้และจบใน 3 ปี สอบเข้าทำงาน กรมทางหลวง ได้ทันทีที่เรียนจบ

ไปเป็นผู้ช่วยนายช่างสร้างทางทั่วประเทศอยู่ร่วมๆ 30 ปี และในที่สุดขอย้ายมาควบคุมการก่อสร้างเส้นทางสาย บรรพตพิสัย ไปจังหวัดพิจิตร ซึ่งจะมีสะพานข้ามแม่น้ำปิงที่ตลาดบรรพตพิสัยบ้านเราด้วย

วันหนึ่งไอ้รงค์ก็เขียนจดหมายมาถึงผมที่ไทยรัฐพร้อมกับส่งภาพสะพานข้ามแม่นํ้ามาให้ 1 ภาพ ระบุว่า “บ้านเรามีสะพานข้ามแม่นํ้า (ปิง) แล้ว...กูมาร่วมเซ็นรับมอบจากผู้รับเหมาเมื่อเร็วๆนี้เอง”

ผมไม่ได้ลงจดหมายไอ้รงค์ในคอลัมน์แต่แอบไปฝากให้คุณ “อ๊อด เทอร์โบ” นำลงในคอลัมน์ “สารพันปัญหา” ซึ่งเป็นคอลัมน์ตอบจดหมายของไทยรัฐ เพื่อให้ชาวบรรพตพิสัยพลัดถิ่นทั้งหลายได้ทราบว่าที่อำเภอเรามีสะพานข้ามแม่นํ้า (ปิง) แล้วจริงๆ

ไอ้รงค์จากโลกนี้ไปหลายปีแล้ว แต่ทุกครั้งที่ผมกลับไปไหว้อัฐิบรรพบุรุษที่บ้านและต้องนั่งรถข้ามสะพานที่ว่า จะนึกถึงมันอยู่เสมอ

ผมไม่แน่ใจว่าถ้าไอ้รงค์มีชีวิตอยู่ มันจะมาร่วมประท้วงหรือไม่ แต่ก็เดาว่ามันอาจเข้าร่วมก็ได้ เพราะไม่ว่าใครก็ตาม ก็อดที่จะรักและหวงแหน รวมทั้งอาลัยบ้านหลังเก่าที่เคยอยู่ และอู่เก่าที่เคยนอนกันทุกคน

ซึ่งผมก็คงจะทำได้แค่ปลอบใจและเห็นใจมัน พร้อมกับบอกมันว่าเราต้องเคารพกฎหมาย...คงทำได้เพียงเท่านั้น

เรื่องนี้จะจบอย่างไรไม่รู้ได้...ผมเองก็อยากให้จบสวยๆและจบดีๆตามประสาคนมองโลกในแง่ดี และอยากเห็นคนไทยรักกัน

ถ้าจะให้ดีจุฬาฯช่วยแถลงให้ชัดเจนอีกนิดดีไหมครับ ว่าในอนาคตจะเอาที่ดินและตึกอุเทนถวายเก่าไปทำอะไร? มีคุณค่าและประโยชน์ในทางวิชาการอย่างไร และแค่ไหน? ผู้คนที่ยังระแวงว่าจุฬาฯจะเอาไปทำประโยชน์ทางธุรกิจอะไรอีก จะได้เลิกระแวงและหันมาสนับสนุนจุฬาฯเต็มที่ ฝากไว้ด้วยนะครับท่านอธิการ!

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ "เหะหะพาที" เพิ่มเติม