เป็นอีกบันทึกประวัติศาสตร์ 72 ปี ของ “กองบังคับการตำรวจรถไฟ” ทำหน้าที่พิทักษ์รับใช้ดูแลพี่น้องประชาชนบนชานชาลา คุ้มครองป้องภัยทุกขบวนรถไฟ ในวันที่ 17 ต.ค. “ตำรวจรถไฟ” จะยุติการปฏิบัติหน้าที่

ยุบ “ตำรวจรถไฟ”

ตามแนวทางปรับโครงสร้างตำรวจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ก่อตั้ง “ตำรวจรถไฟ” ถือกำเนิดปี พ.ศ.2437 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใน ชื่อ “กองตระเวนรักษาทางรถไฟ”

ต่อมาจัดตั้งเป็น “กองตำรวจรถไฟ” ได้รับเลื่อนสถานะเป็น “กองบังคับการตำรวจรถไฟ” มีสถานีตำรวจรถไฟตั้งอยู่หลายแห่งทั่วประเทศ ตำรวจรถไฟทำหน้าที่ร่วมกับพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย อยู่เคียงข้างในการให้บริการประชาชน ดูแลรักษาความปลอดภัย ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมบนขบวนรถไฟ

อยู่เคียงข้างให้บริการประชาชน รักษาความสงบเรียบร้อยสถานีทุกแห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

ตำรวจรถไฟทุกนายตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ สร้างคุณประโยชน์เพื่อประเทศชาติอย่างมากมาย

จับกุมอาชญากร สกัดกั้นค้ายาเสพติด ค้าของเถื่อน ลดความหวาดระแวงผู้โดยสาร

เป็นสิ่งที่ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. คัดค้านอย่ายุบตำรวจรถไฟ ชี้แจงเหตุผลที่ว่าขบวนรถไฟทุกโบกี้ต้องมีตำรวจ ไม่มีไม่ได้ หากยุบ รถไฟสายทางไกลทั้งหลายไม่มีตำรวจบนขบวน สุ่มเสี่ยงอันตราย แต่เห็นควรเพิ่มตำรวจรถไฟให้ทันยุคการเดินทางรถไฟฟ้า ต้องมีตำรวจดูแลความปลอดภัยผู้โดยสาร

แต่เสียงตำรวจต้านทานกระแส “คนนอก” ที่ไม่เข้าใจ แต่มีอำนาจ “ผ่าตัด” โครงสร้างตำรวจไม่ได้

เพราะมีธงรื้อโครงการตำรวจ

สุดท้ายเท่ากับปิดตำนานของ “ตำรวจรถไฟ” ยุติบทบาทหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนที่โดยสารบนขบวนรถไฟทุกขบวนและตามสถานีต่างๆทั่วประเทศ

...

กว่า 72 ปีของตำรวจรถไฟ สร้างความประทับใจให้คนรถไฟและพี่น้องประชาชน

แต่หลังยุบเลิก “ตำรวจรถไฟ” เกิดปัญหาตามมา สุดท้ายการรถไฟแห่งประเทศไทยต้องคิดว่าจ้าง รปภ.มาประจำขบวนรถไฟ แต่ขีดความสามารถไม่พอเข้ามารองรับภารกิจดูแลความปลอดภัยผู้โดยสารบนรถไฟ

การรถไฟแห่งประเทศไทยทำบันทึกข้อตกลงกับ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ขอให้ บช.ก. หากำลังพลหน่วยอื่นเข้ามาปฏิบัติหน้าที่บนขบวนรถไฟแทนที่ “ตำรวจรถไฟ” ที่ถูกเสนอยุบเลิกหน่วยได้ไม่นาน

ตามกระแสเรียกร้องผู้โดยสารที่ไม่เคยมีคำถาม “มีตำรวจรถไฟไว้ทำไม” แต่ทุกคนมั่นใจเครื่องแบบตำรวจรถไฟที่ตรวจตราอยู่บนขบวนรถไฟทุกการเดินทาง ป้องปรามอาชญากรรม สร้างความอุ่นใจให้ผู้โดยสาร

สุดท้ายหนีไม่พ้นตำรวจ.

“เพลิงพยัคฆ์”
pluengpayak@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ "เลขที่1 วิภาวดีฯ" เพิ่มเติม