นายกฯ สั่งทุกหน่วยงานระดม เจ้าหน้าที่เข้าช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมเร่งด่วนและเต็มกำลัง หลังฝนตก หนัก เกิดน้ำป่าถล่มหลายจังหวัดภาคเหนือ จ.แพร่ สาหัส น้ำป่าซัดทางรถไฟขาด รถไฟด่วนพิเศษ “กรุงเทพฯ-เชียงใหม่” ตกรางทั้งขบวน โชคดีไร้ผู้เสียชีวิต ขณะเดียวกันยังเกิดดินสไลด์-เสาไฟโค่น น้ำทะลักท่วม 5 อำเภอ รวมถึงตัวเมืองแพร่ ด้านสทนช.เตือน 3-6 ต.ค.นี้ มีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม น้ำล้นตลิ่ง ตั้งแต่แม่น้ำวัง-ยม ยันถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

จากที่ทั่วประเทศไทยมีฝนตกหนักมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา จากร่องมรสุมพาดผ่าน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือน พื้นที่ทางการเกษตร ถนนและเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาดหลายจุด

น้ำป่าซัดทำรถไฟตกรางที่แพร่

เมื่อเวลาประมาณ 05.48 น. วันที่ 30 ก.ย.ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกิดเหตุรถไฟตกรางเนื่องจากน้ำป่าพัดทางรถไฟขาดเป็นระยะทางประมาณ 20 เมตร เส้นทางระหว่าง สถานีรถไฟแก่งหลวง ถึงสถานีรถไฟบ้านปิน บริเวณบ้านห้วยแม่ต้า ม.7 ต.บ้านปืน อ.ลอง จ.แพร่ ทำให้รถไฟขบวน 13 รถด่วนพิเศษกรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่ พลิกตะแคงตกรางทุกเพลาทุกล้อ เป็นหัวเครื่องจักร ตู้สัมภาระ และตู้นอน รวม 3 ตู้ กีดขวางการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องประกาศยุติการใช้เส้นทางสายเหนือไม่มีกำหนด จากนั้นเวลา 10.00 น. รฟท.ได้ลำเลียงผู้โดยสารและสัมภาระออกจากจุดเกิดเหตุเพื่อนำส่งไปยังสถานีเด่นชัย และกระจายผู้โดยสารส่งต่อทางรถตู้และรถทัวร์ เพื่อไปยังที่หมายปลายทางต่อไป และได้ใช้ขบวนรถไฟช่วยอันตรายจากจังหวัดอุตรดิตถ์มายกเครื่องจักรออก แต่เนื่องจากตลอดเส้นทางจากสถานีแก่งหลวง ถึงสถานีบ้านปิน มีน้ำป่าไหลหลากกัดเซาะทางรถไฟจนทำให้ทางขาดหลายช่วง ยังไม่สามารถเปิดเส้นทางได้ต้องสั่งปิดจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและซ่อมแซมทางรถไฟให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่รถไฟ และผู้โดยสาร ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย และไม่มีผู้เสียชีวิต

...

ดินสไลด์-เสาไฟโค่นเพียบ

ขณะที่ในช่วงสาย เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วน ภูมิภาค อ.ลอง ได้เข้ามาเก็บกู้เสาไฟฟ้า 30 กว่าต้น บริเวณถนนสายแพร่-ลอง ที่หักโค่นเนื่องจากฝนตกและดินสไลด์ โดยถนนบริเวณดังกล่าวอยู่ระหว่างบ้านปง ตำบลเวียงต้า และบ้านปิน ตำบลบ้านปิน อยู่ระหว่างการก่อสร้างเส้นทาง ขณะนี้สามารถใช้ไฟได้ตามปกติแล้ว

น้ำล้นอ่างเข้าท่วมเมือง

นอกจากนี้ มีรายงานเมื่อเวลาประมาณ 05.00 น. น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยขมิ้น ต.ป่าแมต อำเภอเมืองแพร่ ล้นทางระบายน้ำไหลบ่าลงสู่แม่น้ำยม ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนในหมู่บ้านต้นห้า บ้านมณีวรรณ ประมาณ 300 ครัวเรือน ล่าสุดเทศบาลตำบลป่าแมตร่วมกับอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน และอีกหลายหน่วยงานเข้าช่วยประชาชนยกสิ่งของหนีน้ำ ส่วนที่ อ.เด่นชัย ช่วงเช้ามืดเช่นกัน น้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่ยุ้นได้ไหลบ่าเข้าท่วมบ้านแม่ยุ้น หมู่ 9 ต.ปงป่าหวาย ทำให้ชาวบ้านต้องเก็บของหนีน้ำอย่างโกลาหลมีรายงานว่าคอกหมูที่หมู 19 ตัว ของนายถนอมเหนียวแน่น ถูกกระแสน้ำพัดพัง และร้านข้าวหอม ร้านขายของชำของนางรัตนาพร เหนียวแน่น อายุ 33 ปี ถูกน้ำถล่มจนเสียหายหนัก ด้านนายประทีป กาศโอสถ นายกเทศมนตรีตำบลปงป่าหวาย กล่าวว่า น้ำล้นสันอ่างเมื่อเวลา 04.00 น.ได้พัดพาดินโคลนเข้ามาปะทะรั้วบ้านพังเสียหายประมาณ 30 หลังคาเรือนในพื้นที่หมู่ 9 จากการขึ้นไปสำรวจบนสันอ่าง เก็บน้ำ มีรอยโหว่ของดินจึงได้ประสานกับสำนักงานชลประทานนำกระสอบทรายไปอุดไว้ก่อน

ผู้ว่าฯ แพร่เผยน้ำท่วม 5 อำเภอ

ต่อมา นายชุติเดช มีจันทร์ ผวจ.แพร่ สรุปสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือน และพื้นที่การเกษตรในจังหวัดว่าปัจจุบันฝนหยุดตกแล้ว บางพื้นที่น้ำลดลงอย่างต่อเนื่องมีเพียงบางพื้นที่ปริมาณน้ำยังทรงตัว ทั้งนี้ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น ได้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ทั้งน้ำอ่างและน้ำท่าเฝ้าระวังและขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูง อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ต่างๆ ดังกล่าวไม่มีประชาชนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อ.เมืองแพร่ อ.เด่นชัย อ.ลอง อ.วังชิ้น และอ.สูงเม่น รวม 5 อำเภอ 40 ตำบล 198 หมู่บ้าน 837 ครัวเรือน จังหวัดได้ออกประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

รฟท.จัดรถโดยสารส่งแทน

ส่วนกรณีรถไฟที่ตกรางนั้น วันเดียวกัน การรถไฟแห่งประเทศไทยแจ้งเปลี่ยนแปลงแผนการเดินรถระหว่างวันที่ 30 ก.ย.-1 ต.ค.ในขบวนสายเหนือ ทั้งระยะทางไกลจาก สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่ และขบวนรถท้องถิ่น นครสวรรค์-เชียงใหม่ เดินรถแค่เด่นชัย/ลำปาง จากนั้นขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์ไปยังสถานีปลายทาง ส่วนขบวนรถด่วนพิเศษที่ 13 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่ ที่ตกรางนั้นมีการลากจูงตู้โดยสารกลับสถานีเด่นชัย แล้วขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์จากเด่นชัยไปยังสถานีปลายทางตามตั๋วโดยสาร เริ่มจากบ้านปิน แม่เมาะ ลำปาง ลำพูนจน ถึงปลายทางเชียงใหม่ เพื่อเป็นการดูแลผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว

นายกฯสั่งระดมช่วยน้ำท่วม

วันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่าน X @Thavisin ว่า หลังจากได้รับรายงานสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.แพร่ ได้สั่งการให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ รวมถึงกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคมลงพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์โดยเร่งด่วน พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือดูแลประชาชนอย่างเต็มกำลัง เพราะคาดว่าจะมีน้ำท่วมขังอีกประมาณ 1-2 วัน ขณะนี้น้ำกำลังถูกระบายลงแม่น้ำยม อาจเข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำใน จ.สุโขทัย และพิษณุโลก ทางกรมชลประทานได้เร่งระบายน้ำไปทางแม่น้ำน่าน เพื่อลดผลกระทบ ขณะที่ได้สั่งการให้ ผวจ.สุโขทัยและพิษณุโลกเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ สำคัญที่สุดคือต้องพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชน และขอให้พี่น้องในพื้นที่เตรียมพร้อมรับมือเก็บข้าวของขึ้นที่สูงก่อน และหากขาดเหลืออะไรประสานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ช่วยเหลือได้ทันที เราทุกคนจะทำงานเต็มที่เพื่อให้ประชาชนทุกคนปลอดภัย

...

รัฐบาลเร่งช่วยรถไฟตกราง

ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและ รมว.คลัง ติดราชการที่ภูเก็ต ได้ประสานให้ตนประสานหน่วยราชการให้ดูแลบรรเทาภัย กรณีรถไฟตกรางที่ จ.แพร่ ประสานมอบหมายให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯและนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคมจัดเครื่องบินขึ้นไปดูแลประชาชนในพื้นที่ จ.แพร่ และประสานให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย สั่งการให้ทางจังหวัดเข้าช่วยเหลือโดยเร่งด่วน พร้อมกันนี้ยังประสานงานไปยังนายเกรียง กัลตินันท์ รมช.มหาดไทย ที่กำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้เดินทางไปดูแลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย ส่วนของการดูแลประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ได้สั่งการให้ รพ.เตรียมพร้อมและออกสำรวจเบื้องต้นแล้ว

น้ำท่วม-ดินทับถนนฮอด-แม่สะเรียง

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในภาคเหนือที่เจอน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมอีกหลายจังหวัด ที่บริเวณอุทยานแห่งชาติออบหลวง จ.เชียงใหม่ ที่มีมวลน้ำจากลำน้ำแจ่มไหลมาจาก อ.แม่แจ่ม ไหลท่วมถนนทางหลวงชนบทสาย 108 ฮอด-แม่สะเรียง ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 29 ก.ย.ระดับน้ำเพิ่มสูงบริเวณกิโลเมตรที่ 7 ถึงกิโลเมตรที่ 9 ทำให้รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านได้ เจ้าหน้าที่ปิดการจราจรบริเวณตู้บริการทางหลวงท่าข้าม ไม่ให้รถผ่าน ขณะเดียวกันมีรายงานว่าเกิดดินสไลด์ปิดทับเส้นทางช่วงระหว่าง อ.แม่สะเรียง-ต.แม่เหาะ หลักกิโลเมตรที่ 177 ส่งผลทำให้รถติดยาว เจ้าหน้าที่ต้องเร่งเปิดเส้นทางให้รถสัญจรได้เพียง 1 ช่องทางและเคลื่อนย้ายเสาไฟที่หักโค่นจนเปิดเส้นทางสัญจรได้ทั้งหมด

...

ส่วน อ.เมืองเชียงใหม่ เกิดเหตุดินสไลด์บริเวณขอบทางทางขึ้นบ้านขุนช่างเคี่ยน ม.4 ตำบลช้างเผือก ส่งผลทำให้ท่อประปาหมู่บ้านเสียหาย และรถยนต์ขนาดใหญ่สัญจรผ่านได้ยากลำบาก นายสิทธิศักดิ์ อภิกุลชัยสุทธิ์ นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ พร้อมหน่วยงานเกี่ยวข้องได้เข้าซ่อมแซมท่อประปาที่ได้รับความเสียหายเรียบร้อยแล้ว พร้อมทำแนวรั้วกั้นขอบถนน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุแล้ว

ซัดสะพานขาด 2 แห่ง

ส่วนในพื้นที่ อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน หลังฝนตกหนักมาทั้งวัน น้ำในลำห้วยแม่ลาน้อยก็ไหลหลากกัดเซาะบริเวณคอสะพานชำรุด 2 แห่งได้แก่สะพานข้ามน้ำลา หมู่ 1 บ้านแม่ลาน้อย และสะพานข้ามน้ำลา หมู่ 2 บ้านทุ่งสารภี ต.แม่ลาน้อย ถูกน้ำกัดเซาะพังเสียหาย ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ขณะที่ปริมาณน้ำยวมเพิ่มระดับสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีการแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยพื้นที่ราบลุ่มน้ำยวม อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

น้ำวังล้นท่วม อ.เกาะคา

ขณะที่ จ.ลำปาง ช่วงเช้าวันเดียวกัน ที่บริเวณถนนทางหลวงชนบท ลป. 1002 ก่อนจะข้ามสะพานข้ามแม่น้ำวัง บ้านนาแก้วตะวันออก หมู่ 3 ต.นาแส่ง ไปยังฝั่งบ้านาแก้วตะวันตก หมู่ 4 ต.นาแก้ว อ.เกาะคา แม่น้ำวังได้เอ่อท่วมถนนระยะทางประมาณ 100 เมตร ระดับน้ำกว่า 50 เซนติเมตร รถเล็กทุกชนิดไม่สามารถสัญจร ทำให้ผู้ที่จะเดินทางข้ามสะพานดังกล่าว เชื่อมต่อไปยัง อ.เสริมงาม ต้องอ้อมไปใช้เส้นทางสะพานข้ามแม่น้ำวังหมู่บ้านที่อยู่เหนือขึ้นไปแทน นอกจากนี้มีบ้าน 1 หลัง ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1.50 เมตร คนที่อาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าว 5-6 คน ได้อพยพเอาชีวิตรอดมออกมาได้ปลอดภัย ทั้งนี้ ตลอดวันระดับน้ำในแม่วัง อ.เกาะคา ยังเอ่อล้นต่อเนื่อง และน้ำท่วมถนนเข้าออกหมู่บ้านบ้านนาแส่ง หมู่ 6 และบ้านแม่ไฮ หมู่ 3 ต.นาแส่ง ได้รับผลกระทบกว่า 250 หลัง โดยเฉพาะบ้านนาแส่ง หมู่ 6 มีบ้านเรือนประมาณ 60 หลัง ถูกน้ำท่วมปิดล้อมทางเข้าออกหมู่บ้านทั้งหมด หลายครอบครัวมีผู้ติดอยู่ภายในบ้าน โดยเฉพาะเด็ก ผู้หญิง คนชรา ญาติๆ ต้องเดินฝ่าน้ำมาซื้ออาหาร น้ำดื่มไปประทังชีวิตก่อน

...

ดินสไลด์-ตลิ่งทรุดที่น่าน

ส่วนที่ จ.น่าน นายวรวิทย์ อินต๊ะใจ หัวหน้าสนง.ปภ.จ.น่าน ได้รับแจ้งว่า ฝนตกหนักตลอดช่วงคืนที่ผ่านมา เป็นเหตุให้น้ำในลำน้ำเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว และล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ ต.ปิงหลวง อ.นาหมื่น รวมถึงมีดินสไลด์ทับบ้านและตลิ่งทรุดตัว จำนวน 2 หลัง ได้แก่ 1.บ้านนางน้ำฝน โกศัยกานนท์ บ้านดอนมูล หมู่ 1 ต.ปิงหลวง 2.บ้านนายวิเชียน อินทอง หมู่ 2 ต.ปิงหลวง และคอสะพานได้รับความเสียหาย 1 แห่ง ในพื้นที่บ้านห้วยเย็น หมู่ที่ 4 ต.ปิงหลวง

สวนกล้วยไข่สามเงาจมน้ำ

ที่จังหวัดตาก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดภาวะน้ำท่วมขังหนักที่สุดที่ อ.สามเงา เมื่อลำน้ำวังที่ไหลมาจาก จ.ลำปาง เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรของ อ.สามเงา ประกอบไปด้วย ต.ยกกระบัตร ต.วังหมัน ต.วังจันทร์ และ ต.วังไคร้ กระแสน้ำที่เชี่ยวกรากได้กัดเซาะแนวตลิ่งพังเสียหายบริเวณบ้านนาตาโพ ส่งผลให้ถนนสายวังไคร้-นาตาโพ ถูกตัดขาดการลำเลียงพืชผลทางการเกษตรไปมาไม่ได้ นอกจากนี้กระแสน้ำจากแม่น้ำวังได้ทะลักเข้าท่วมพื้นที่สวนกล้วยไข่ สวนฝรั่ง สวนลำไย และบ้านเรือนราษฎรเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสวนกล้วยไข่ เป็นพืชเศรษฐกิจของอำเภอสามเงา ส่งออกไปยังต่างประเทศ ผลกำลังเติบโตสามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ได้รับความเสียหาย 200-300 ไร่

ระดับน้ำยมเพิ่มขึ้นอีก

สำหรับระดับน้ำของแม่น้ำสายต่างๆใน จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านที่ลุ่มต่ำริมคลองสาขาของแม่น้ำยม พื้นที่ติดต่อกับ จ.พิจิตร ได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ต่ำ อาทิ บริเวณบ้านลาดหมู่ที่ 3 ต.บางเคียน อ.ชุมแสง ชาวบ้านนับสิบหลังคาเรือนต้องนำเครื่องมือการเกษตรและรถจักรยานยนต์ไปไว้ที่สูง บ้านบางหลังต้องใช้เรือเป็นพาหนะเข้าออก หากไม่มีฝนตกหนักเพิ่มเติมอีกสถานการณ์น้ำจะลดลงภายในไม่เกินสัปดาห์หน้า

ท่วมต้องแบกโลงไปเผาที่อื่น

ส่วนที่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ หลังฝนตกต่อเนื่องทำให้น้ำในแม่น้ำป่าสักเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองหล่มสัก และเทศบาลตำบลตาลเดี่ยว อ.หล่มสัก ระดับน้ำสูงกว่า 70 เซนติเมตร และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นายกฤษณ์ คงเมือง ผวจ.เพชรบูรณ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ ปภ.จังหวัดและฝ่ายปกครองจังหวัด เทศบาลตำบลตาลเดี่ยวและหน่วยกู้ภัยได้นำเรือท้องแบนออกช่วยเหลือชาวบ้านในเขตชุมชนศรีสะอาด ต.ตาลเดี่ยว พร้อมตั้งจุดอำนวยการให้ความช่วยเหลือประชาชนบริเวณปากซอยเข้าชุมชนตาลเดี่ยว นอกจากนี้ ในช่วงบ่าย ชาวบ้านที่เตรียมนำศพไปประกอบพิธีเผาที่วัดศรีสะอาด ต.ตาลเดี่ยว ไม่สามารถนำออกจากบ้านที่จัดงานศพได้ เพราะน้ำท่วมสูง เจ้าหน้าที่ทหาร ม.พัน 258 พร้อมหน่วยกู้ภัยกกไทรหล่มสัก และร่วมกตัญญูหล่มสัก จึงเข้าช่วยเหลือขนย้ายแบกโลงศพออกจากบ้าน ขึ้นเรือท้องแบนนำออกไปฌาปนกิจที่วัดศรีบุญเรือง ต.หล่มสัก ที่อยู่ห่างไปราว 1 กม.

ขึ้นธงแดงเตือนลำน้ำก่ำล้น

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในภาคตะวันออก เฉียงเหนือหลายจุดเริ่มคลี่คลาย แต่ที่ จ.สกลนคร มีการเร่งระบายน้ำออกจากหนองหารผ่านประตูระบายน้ำสุรัสวดีลงสู่ลำน้ำก่ำเพื่อลงสู่ลำน้ำโขง ส่งผลให้พื้นที่ท้ายน้ำบริเวณ อ.โพนนาแก้ว อ.โคกศรีสุพรรณ ได้รับผลกระทบ น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรไร่นาและบ่อปลาของชาวบ้าน ทั้งนี้ ที่บริเวณสะพานข้ามลำน้ำก่ำ บ.บึงศาลา ต.นาตงวัฒนา อ.โพนนาแก้ว โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ สำนักชลประทานที่ 7 ได้ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยน้ำท่วมประจำปี 2566 โดยมีการแจ้งเตือนขึ้นถึงระดับธงแดง หมายถึงระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์วิกฤติ เริ่มล้นตลิ่งให้เคลื่อนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง

ทะลัก“นาดี-กบินทร์บุรี”

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในภาคตะวันออก ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระดับน้ำในแควหนุมาน ที่รับน้ำมาจากคลองลำพญาธารใน อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ได้ลงพื้นที่ด้านล่างมากขึ้น หลังจากเข้าท่วมอุโมงค์เชื่อมผืนป่า จนต้องปิดการจราจรไปแล้ว และมวลน้ำที่ไหลลงด้านล่างได้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเลขที่ 44 หมู่ 6 ต.สัมพันธ์ตา อ.นาดี ส่วนในพื้นที่ชุมชนตลาดเก่า อ.กบินทร์บุรี ยังคงมีปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ย 30-40 ซม. มีระยะทางยาว 300 ม. เจ้าหน้าที่เทศบาลกบินทร์บุรีร่วมกับทหารจาก
ร.พัน 3 รอ. และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ปราจีนบุรีที่ 5 เดินเคาะประตูบ้านตั้งแต่เช้าเพื่อช่วยขนย้ายทรัพย์สินของประชาชนหนีน้ำท่วมขึ้นที่สูง ทั้งนี้ นายณรงค์ ลิ้มซิ่ว ชาวชุมชนตลาดเก่า กล่าวว่าน้ำท่วมในชุมชนตลาดเก่าตั้งแต่เมื่อวานที่ผ่านมา วันนี้น้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมตามลำดับ ยอมรับว่าชินแล้วกับการใช้ชีวิตอยู่ริมแม่น้ำ ถึงฤดูน้ำต้องท่วมเป็นปกติทุกปี

สวนเมืองจันท์จมน้ำนับหมื่นไร่

ขณะที่สถานการณ์น้ำหลาก พื้นที่จันทบุรี เริ่มดีขึ้น หลังจากปริมาณฝนลดลง โดยกู้ภัยฯ ผู้นำชุมชนยังคงเข้าให้การช่วยเหลือใช้เรือนำน้ำดื่มและอาหาร เข้าไปแจกจ่ายให้กับประชาชน ที่ยังติดอยู่ในบ้านเรือน เนื่องจากถนนเข้าออกถูกตัดขาด น้ำยังคงมีระดับที่สูงอยู่ เช่นที่ ต.วังแซ้ม ต.ฉมัน อ.มะขาม ด้านนางภาสินี สุวรรณเจริญ หัวหน้าสำนัก งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.จันทบุรี รายงานสรุปพื้นที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ช่วงวันที่ 27-29 ก.ย.2566 จำนวน 7 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ขลุง อ.มะขาม อ.เขาคิชฌกูฏ อ.โป่งน้ำร้อน อ.นายายอาม อ.เมือง และ อ.ท่าใหม่ รวม 32 ตำบล 158 หมู่บ้าน และ 1 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,897 ครัวเรือน 11,187 คน พื้นที่การเกษตร 12,045 ไร่, ถนนชำรุด 9 สาย, สะพาน/คอสะพานชำรุด 8 แห่ง ขณะที่ชาวสวนบ้านพญาบน ต.ฉมัน อ.มะขาม ส่วนใหญ่บอกว่า เกิดน้ำหลากเข้าท่วมบ้าน และสวนผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด ที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัว เป็นครั้งที่ 3 แล้วในรอบเดือนกันยายนนี้ การช่วยเหลือได้รับจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยฯเป็นรอบที่ 3 แล้วเช่นกัน

มท.1ให้ผู้ว่าฯลัดขั้นตอนราชการ

วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ว่า ได้กำชับหน่วยงานในกำกับของกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนรวดเร็วที่สุด แม้จะเป็นช่วงวันหยุดราชการและหากจำเป็นต้องประกาศพื้นที่ภัยพิบัติหรือมีการใช้จ่ายงบประมาณในการช่วยเหลือประชาชน ขอให้เร่งดำเนินการตามขั้นตอน ไม่ต้องรอจนวันทำการปกติ เพราะความเดือดร้อนของประชาชนรอไม่ได้ ตนเข้าใจข้อจำกัดเรื่องกฎระเบียบที่เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม แต่ความเดือดร้อนของประชาชนต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ขอให้ ผวจ.ในพื้นที่ประสบภัยอยู่เวลานี้เร่งประสานงานกับทั้ง ปภ. และหน่วยงานท้องถิ่นเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชน จุดใดที่มีข้อจำกัดเรื่องกฎระเบียบให้สั่งการแก้ไขเพื่อลดอุปสรรคและช่วยเหลือถึงมือประชาชนเร็วที่สุด

“สุทิน” กำชับทุกเหล่าทัพช่วยเต็มที่

ด้านนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ระหว่างตรวจเยี่ยมทหารที่ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ อ.เพ็ญ และ อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ว่า ได้สั่งการให้หน่วยแพทย์ทหาร และกำลังพลเร่งเข้าช่วยเหลือในขั้นต้น กำชับให้หน่วยในพื้นที่จัดกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และเครื่องมือช่างที่จำเป็นเข้าช่วยเหลือประชาชน เสริมแนวคันกั้นน้ำในพื้นที่ต่ำและพื้นที่เขตเมืองจากมวลน้ำขนาดใหญ่ เตรียมการอพยพ จัดรถครัวสนาม และยานพาหนะอำนวยความสะดวก ไปจนถึงสนับสนุนการฟื้นฟูภายหลังน้ำท่วม

“มนพร” สูบน้ำตามถนนหลัก

ขณะที่นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ว่า ตอนนี้ในหลายจังหวัดมีน้ำท่วมขังจากฝนที่ตกลงมาต่อเนื่องรวมถึงน้ำระบายไม่ทัน โดยความรับผิดชอบของตนในกระทรวงคมนาคมนั้นได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลถนนเส้นทางหลักให้เร่งใช้เครื่องสูบน้ำ เครื่องระบายน้ำ ป้องกันไม่ให้เป็นปัญหาในการใช้รถใช้ถนน รวมถึงให้มีการติดตั้งป้ายจราจรบอกจุดที่อันตรายแก่ผู้ใช้เส้นทาง เพราะบางพื้นที่น้ำมาเร็วและไปเร็ว กำชับให้พี่น้องประชาชนแจ้งเหตุ กระทรวงมหาดไทยให้ผู้นำในพื้นที่ลงไปตรวจสอบ และช่วยแก้ไขปัญหาในระดับเบื้องต้นเพื่อให้เร่งระบายน้ำ ทั้งนี้ มีการเฝ้าระวัง 24 ชม.

รัฐมนตรีหอบ สส.มอบของช่วย

นอกจากนี้ ตลอดวันที่ 30 ก.ย. รัฐมนตรีและ สส.ต่างเดินทางไปยังจุดที่มีน้ำท่วมพร้อมมอบถุงยังชีพและของช่วยเหลือต่างๆ ให้ผู้ประสบอุทกภัย โดยที่ สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี และหอประชุมประชาวาริน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายไชยา พรหมา รมช.เกษตรฯ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย และผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯพบปะประชาชนและมอบถุงยังชีพ ข้าวสารบรรจุถุง หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) จำนวน 15 ราย เวชภัณฑ์ถุงยังชีพและหญ้าพระราชทานแก่เกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ และน้ำหมักชีวภาพ เช่นเดียวกับนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย พร้อม ส.ส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย ทั้งนายเอกราช ช่างเหลา และนายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ รวมถึงนายไกรสร กองฉลาด ผวจ.ขอนแก่น นายวัฒนา ช่างเหลา เลขานุการ รมช.มหาดไทย และนายวิศรุต ปู่เพ็ง ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ มาติดตามความเสียหายบริเวณตลิ่งกั้นแม่น้ำ ที่ลำห้วยเสียว บ.เสียวโคกกลาง ต.วังชัย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และพบปะพูดคุยกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำกัดเซาะดังกล่าว พร้อมทั้งมอบสิ่งของเพื่อเป็นขวัญกำลังใจและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่

สทนช.เตือนลุ่มน้ำต้องเฝ้าระวัง

วันเดียวกัน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยแพร่เอกสารเตือน กรณีกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ในวันที่ 3-6 ตุลาคม 2566 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ สทนช.คาดว่าจะส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ มีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 3-7 ตุลาคม 2566 ดังนี้ 1.เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม ได้แก่ จ.เชียงใหม่ (อ.จอมทอง แม่แจ่ม อมก๋อย แม่วาง แม่แตง ฝาง ดอยเต่า ฮอด ดอยสะเก็ด และกัลยาณิวัฒนา) จ.ตาก (อ.เมืองตาก ท่าสองยาง สามเงา บ้านตาก แม่ระมาด วังเจ้า อุ้มผาง แม่สอด และ พบพระ) จ.กำแพงเพชร (อ.โกสัมพีนคร คลองลาน และปางศิลาทอง) จ.ลำพูน (อ.ลี้ และทุ่งหัวช้าง) จ.แพร่ (อ.วังชิ้น และลอง) จ.ลำปาง (อ.เถิน แม่ทะ เสริมงาม และเกาะคา) 2.เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ดังนี้ แม่น้ำวัง ได้แก่ อ.สามเงา และบ้านตาก จ.ตาก แม่น้ำยม ได้แก่ อ.สวรรคโลก ศรีนคร ศรีสำโรง ศรีสัชนาลัย ทุ่งเสลี่ยม และเมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย แม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น อยู่ในเกณฑ์ 1,200-1,400 ลบ.ม. ต่อวินาที โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ นอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง, คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 1.00-1.50 เมตร

ให้ทุกหน่วยงานวางแผนรับมือ

ในการนี้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โปรดดำเนินการดังนี้ 1.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที 2.วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ปรับแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และระบบชลประทานเพื่อเป็นการหน่วงน้ำที่ไหลลงมาสมทบแม่น้ำสายหลักให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งจัดการจราจรทางน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณแม่น้ำยมและแม่น้ำเจ้าพระยา 3.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการขนของขึ้นสู่บริเวณที่สูง หรืออพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่