เคยอ่านเรื่อง “เจ้าหญิงสยามหนีคดี ไปเป็นพระราชเทวีกษัตริย์เขมร” ใน “รักในมุมลับแห่งสยาม”(สำนักสยามบันทึก พ.ศ.2554)แล้ว มีเสียงจิ้งจกทัก เรื่องพอดีๆ เป็นไง? เป็นตัวเร่งให้รีบอ่านใหม่
โรม บุนนาค ยกเรื่องที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้ใน “โครงกระดูกในตู้” เปิดประเด็นว่า
ท่านเล่าว่า ท่านเคยวิ่งเล่นกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และพระเจ้าลูกเธออื่นๆ เมื่อยังทรงพระเยาว์จนเป็นที่คุ้นเคย ผู้ที่ท่านป้าฉวีวาดเคยเล่นรังแกเสมอ ก็หาใช่ใครที่ไหนไม่
คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนั่นเอง
ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า มีพระดำรัสใช้ให้ขึ้นไปหยิบของบนหอพระ ท่านป้าก็แอบไปนั่งอยู่ข้างทวาร พอเสด็จกลับลงมา ท่านก็ยื่นขาออกไปขัดพระชงฆ์ ก็ทรงล้มลง ตกมาจากอัฒจันทร์บนที่พระที่นั่ง
จนเป็นเหตุให้สมเด็จพระจอมเกล้ากริ้วว่าซุ่มซ่ามเซ่อซ่า แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ทรงนิ่งเสีย มิได้กราบบังคมทูลฟ้องว่า ใครเป็นต้นเหตุ แทนที่ท่านป้าฉวีวาด จะรำลึกถึงพระเดชพระคุณ ท่านกลับเห็นว่าท่านเก่ง
พอโตเป็นสาว ท่านหญิงฉวีวาดเป็นสตรีที่สวย ความคิดทันสมัย มีอารมณ์ฉุนเฉียวตามนิสัย คนที่รับรู้รสชาตินี้อย่างดี ก็คือ พระองค์เจ้าคัคนางยุคล (โอรส ร.4) ซึ่งหลงรักท่านหญิง ส่งเครื่องเพชรเครื่องทองมาเป็นของหมั้น
ท่านหญิงตอบรับ แต่ต่อมาทราบว่าฝ่ายชายมีหม่อมอยู่แล้ว คือหม่อมสุ่น ท่านก็ยื่นคำขาดให้เลิก หม่อมเจ้าคัคนางฯไม่สามารถจะทิ้งหม่อมสุ่นได้ แต่จะยกหม่อมเจ้าฉวีวาดเป็นเมียแต่ง
พอได้ฟังตรงนี้ ท่านหญิงก็นำของหมั้นสาดออกไปทางหน้าต่าง การแต่งงานจึงเป็นอันเลิกล้ม
มีเรื่องกับคนวังหลวง ท่านหญิงก็ประชดไปมีสัมพันธ์กับฝ่ายวังหน้า แต่งงานกับพระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ โอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า และอนุชากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
...
พ.ศ.2417 ร.5 ทรงปฏิรูปการเก็บภาษี กรมพระราชวังบวรมีรายได้ แผ่นดินถึง 1 ใน 3 มีทหาร 3 พันนาย มีข้าราชบริพารเป็นจำนวนมาก ทรงมีปฏิกิริยา เตรียมทหารและเรียกคนจากหัวเมืองเข้ามา
วิกฤติภายใน ทำให้เกิดวิกฤติภายนอก กงสุลอังกฤษฝรั่งเศสฉวยโอกาสเสนอแบ่งสยามเป็น 3 ส่วน ตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา ถวาย ร.4 ฝั่งตะวันตกเจ้าพระยาถึงแม่กลอง ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ปกครอง
จากแม่กลองไปถึงมลายู ให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญปกครอง
ในกระแสหวาดระแวงแคลงใจ เกิดเหตุไฟไหม้จากโรงแก๊สวังหลวงระเบิด กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงถูกบัตรสนเท่ห์ร้อนพระองค์ หนีจากพระราชวังไปพึ่งกงสุลอังกฤษ
ท่านหญิงฉวีวาดก็ทรงร้อนพระองค์ด้วย ขนทรัพย์สินและคณะละครรำ ลงสำเภาชักใบหนีไปเมืองเขมร
ท่านหญิงหนีโทษกบฏไปได้ แต่กฎหมายยุคนั้น ให้เอาบิดามารดารับโทษแทน ม.ร.ว.ดวงใจ ปราโมช พระมารดาถูกคุมตัวไปเฆี่ยน จำคุก 1 ปี และถูกริบราชบาตร
สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ พระเจ้าแผ่นดินเขมร เป็นพระสหายในวัยเยาว์กับ ร. 5 จึงทรงต้อนรับท่านหญิงอย่างดี ในฐานะเจ้านายไทย ทรงเสน่หาท่านหญิง สถาปนาเป็นพระราชเทวี มีพระราชโอรส 1 องค์
โรม บุนนาค นำเรื่องว่า เมื่อท่านป้าฉวีวาดชราภาพมาก ก็กลับไทยเอาหลานคนหนึ่งไปเลี้ยง
แต่การเลี้ยงหลานชื่อคึกฤทธิ์ก็ออกจะแปลกๆ ท่านบรรทมกลางวัน ปลุกหลานขึ้นมาเล่าเรื่องอะไรต่อมิอะไร ตอนกลางคืน ท่านเสวยข้าวเช้าหรือข้าวเย็นก็ไม่แน่ ตอนตีสอง
ของเสวยก็แปลกๆ เช่น เปลือกส้มเขียวหวานจิ้มน้ำพริก
ใครอ่านเรื่องของเจ้าหญิงฉวีวาด แล้วอาจทักว่า “เกินจริง” ไม่รู้นะ ผมอ่านมากี่ครั้งๆ ก็ยังรู้สึกว่า “พอดีๆ” อ่านทีไรสนุกรื่นเริงบันเทิงเต็มที่ทุกที.
กิเลน ประลองเชิง