ปัญหาบุคคลสูญหายยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่เป็นเรื่องที่สังคมไม่ค่อยให้ความสนใจ ถ้าไม่บานปลายเป็นคดีอาชญากรรม!

โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่มีพ่อแม่ผู้ปกครองรักและเป็นห่วง หาเจอโดยไม่ได้ถูกกระทำก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าถูกคนร้ายใจวิปริตลักพาตัวไปทำปู้ยี่ปู้ยำ มันจะเป็นตราบา ปติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต?

ช่วงวันเด็กเห็นการแถลงข่าวเรื่องดีๆ พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา บก.ปคม. พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ ผกก.ฝ่าย 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร พ.ต.ต.จักรี นารีผล สว.กก.สวัสดิภาพเด็กและสตรี บช.น. และ นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา จับมือแถลงข่าวเตือนเรื่องเด็กหาย

สถิติเด็กหายของมูลนิธิกระจกเงาปี 2565 มีทั้งสิ้น 251 คน สูงกว่าปี 2564 ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุหลักกว่า 61 เปอร์เซ็นต์หรือ 161 คน มาจากเด็กสมัครใจหนีออกจากบ้าน ส่วนการถูกลักพาตัวมีแค่ 2 คน!

ช่วงอายุของเด็กที่หายออกจากบ้านมากที่สุดอยู่ที่ 11–15 ปี รวม 157 คน เป็นกลุ่มนักเรียนมัธยมต้นที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ คบเพื่อน เข้าถึงเทคโนโลยี และมีแรงขับทางเพศตามธรรมชาติ

ที่น่าสนใจแสดงให้เห็นความร่วมมือของหน่วยงานรับผิดชอบในการตามตัวเด็กหายอย่างจริงจังคือ กองทะเบียนประวัติอาชญากรเป็นหน่วยงานแรกในประเทศ ที่ใช้กระบวนการวาดภาพสเกตช์เด็กหายให้มีอายุเทียบเท่าปัจจุบัน (Age Progression)

ใช้หลักสากลคือ เด็กหายที่อายุต่ำกว่า 18 ปีจะสเกตช์ภาพเพิ่มอายุทุก 2 ปี ส่วนเด็กหายที่มีอายุเกิน 18 ปีจะสเกตช์ภาพทุก 5 ปี ช่วงเวลาเหล่านั้นจะเป็นช่วงเวลาที่ลักษณะใบหน้าเปลี่ยนแปลง

งานนี้ยังฝากวิธีป้องกันเด็กสูญหายพลัดหลงไว้ด้วย

1.ผู้ปกครองต้องจดจำรูปพรรณของลูก ส่วนสูง น้ำหนัก ตำหนิ สีเสื้อผ้า

...

2.ให้ถ่ายรูปล่าสุดพร้อมชุดที่สวมใส่ของลูกก่อนออกจากบ้าน

3.ทำป้ายชื่อและเบอร์ติดต่อครอบครัวติดตัวเด็กไว้

4.สอนลูก หากพลัดหลง นัดเจอกันจุดไหน ให้ใครช่วยเหลือ

และ 5.สอนลูก หากตกอยู่ในอันตราย มีคนจูงมือไป พร้อมตะโกนให้คนช่วย

ข้อควรระวังใช้ได้ตลอด เอามาเตือนพ่อแม่ผู้ปกครองกันครับ.

สหบาท