รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรับเข้าศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้จัดการระบบทีแคสปีการศึกษา 2566 ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้บริหาร ทปอ. ที่มี นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในฐานะประธาน ทปอ.ได้หารือว่าในปี 2566 นี้ ซึ่งจะครบรอบ 50 ปี ในการก่อตั้ง ทปอ. ดังนั้นก้าวต่อไปของ ทปอ.ควรจะตอบโจทย์เรื่องใดบ้างให้กับสังคมและได้ข้อสรุป 3 ประเด็น คือ เรื่องแรก Next Tcas
โดย ทปอ.จะพยายามทำให้ระบบทีแคสเป็นที่พึงพอใจตามความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียของสังคม เช่น นักเรียนมัธยมปลาย ผู้ปกครอง และสถาบันการศึกษา เช่น รับฟังความคิดเห็นจากนักเรียนในระดับชั้น ม.3 และ ม.4 ในภูมิภาคต่างๆ ว่าต้องการเห็นทีแคสในอนาคตอย่างไร หรือแนวทางการพัฒนาข้อสอบ การเฉลยข้อสอบ ซึ่งเรื่องนี้เคยมีการหารือกันหลายครั้งและก็มีมติที่จะยังไม่เฉลยคำตอบ หรือจัดทำแผนประเมินความเสี่ยงเพื่อลดความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นต้น โดยได้มอบหมายให้คณะกรรมการดำเนินงานทีแคสไปดำเนินการเรื่องดังกล่าวต่อไป
รศ.ดร.ชาลีกล่าวต่อว่า เรื่องที่สอง Next Research ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาลในวิชาชีพของอาจารย์ การปรับเปลี่ยน และพัฒนาแนวทางการประเมินผลงานของอาจารย์เพื่อเลื่อนตำแหน่ง โดยมอบหมายให้คณะกรรมการด้านงานวิจัย ทปอ. ดูว่าระบบเดิมที่มีอยู่มีจุดอ่อน มีจุดอะไรที่ควรปรับปรุงบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการซื้อผลงานวิจัยอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวในขณะนี้ นอกจากนี้ ทปอ.จะวางแผนร่วมกันว่า เราจะพัฒนางานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยในเครือข่ายเพื่อร่วมกันตอบโจทย์ประเทศ เช่น การตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน รวมทั้งการที่ประเทศไทยตั้งเป้าจะเข้าสู่ ZERO CARBON ในปี 2050 เป็นต้น
...
เรื่องที่สาม Next Education โดยจะร่วมกันทำหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการทำงานในอนาคต จัดทำผังแม่บทหรือ Skill Map Platform ในการพัฒนากำลังคนของประเทศ โดยจะนำข้อมูลทีแคสซึ่งเป็นข้อมูลผู้เข้าเรียน ข้อมูลผู้จบการศึกษา และข้อมูลมีงานทำ นำมาผนวกกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อดูว่ากระบวนการผลิตบัณฑิตของสถาบันอุดมศึกษามีทิศทางอย่างไร และควรปรับเปลี่ยนการผลิตให้ตอบโจทย์กับความต้องการของประเทศอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในการประชุม ทปอ.เดือน ก.พ.นี้.