สำนวนไทย ร้องแรกแหกกระเชอใช้กันมาแต่โบราณ จนถึงวันนี้น่าจะเป็นสำนวนที่มีคำแปลก และคล้องจองเข้าใจความหมาย กันดีว่า ร้องเอ็ดอึง ร้องเอ็ดตะโร หรือร้องเสียงดัง
แต่หากลองแยกคำพิจารณา ร้องแรก ก็เป็นคำแปร่งแปลก...อาจารย์กาญจนาคพันธุ์อธิบายไว้ว่า ใช้กันมาแต่โบราณ เช่น ในประกาศ รัชกาลที่ 4 ห้ามไม่ให้นักโทษร้องถวายฎีกาในเวลาเสด็จพระราชดำเนิน มีความตอนหนึ่ง
“ในทางนั้น ถ้ามีทิมมีตะรางมีคุกที่ขังคนโทษอยู่ทิศใด ถิ่นใด ก็ให้กรมวังมีบัตรหมายไปให้เจ้าของมาระวังคนโทษในที่ขังของตัว อย่าให้ร้องแรกวุ่นวายไป”
คำ “ร้องแรก” ฟังแล้วพอเข้าใจ แต่เมื่อถึงคำ “แหกกระเชอ” ผู้รู้ก็สงสัยไม่ทราบว่ามีที่มาอย่างไรแน่
กระเชอ แปลว่า ภาชนะเครื่องสาน สำหรับใส่ของหรืออะไรๆก็ได้ ตลอดจนใส่ปลา เช่น เมียชาวประมงถือกระเชอสำหรับใส่ปลา กระเชอ ก้นรั่ว ปลาหลุดน้ำลงไปหมด เป็นที่มาของสำนวน “เผอเรอกระเชอก้นรั่ว”
ในภาษาไทยมีคำว่า กระชัง แปลว่า แผงหรือฝากั้นเปิดปิดได้ หรือแปลว่า ที่สำหรับขังใส่ปลาก็ได้
อาจารย์กาญจนาคพันธุ์ตั้งสมมติฐาน “ลางที ร้องแรกแหกกระเชอ” จะหมายถึง “ร้องแรกแหกกระชัง” คือ นักโทษแหกฝากระชังร้อง
ในประกาศรัชกาลที่ 4 ฉบับเดียวกัน มีความอีกตอนหนึ่งว่า “ในหลวงมีที่เสด็จไปทางไหน คนโทษในทิมในตะรางนั้นๆก็จะร้อง แซ่เสียงไปทุกทิมทุกตะราง ไม่ว่างไม่เว้น”
แปลได้ว่า นักโทษแหกฝากระชังทิมหรือตะราง ร้องต่อในหลวงก็คงจะต้องพูดกันว่า “ร้องแรกแหกกระชัง”
และเมื่อกระชังเป็นภาชนะใส่ปลา พวกเดียวกับกระเชอ และเรา ก็พูดติดปากกับสำนวนเผอเรอกระเชอก้นรั่ว
...
สำนวนที่พูดกันตอนแรกๆร้องแรกแหกกระชัง จึงกลายเป็น ร้องแรกแหกกระเชอไป
ผมอ่านคำอธิบายสำนวน ร้องแรกแหกกระเชอแล้ว มโนภาพคนติดคุกติดตะรางสมัยโบราณ ผัวติดคุก ลูกเมียต้องไปอยู่ในตะรางหน้าคุก หรือปลูกหับเผยหน้าคุก คอยหาข้าวปลาส่ง
ที่ยากจนไม่มีจะกิน ผู้คุมก็เอาลูกเมีย ร้อยขาเข้าพวงกับคนคุก ออกตระเวนขอทานตามร้านตลาด
และเมื่อพูดถึงเวลาติดคุกมากน้อยก็ไม่ค่อยมีกำหนดชัดเจน ถูกตัดสินติดแล้ว ติดแล้วก็ติดเลย
เหมือนเผด็จการสมัยใหม่ จับนักโทษการเมืองพวกหนึ่งใส่คุกขังแบบที่เรียกว่าขังลืม
จึงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อจนตรอก พอมีช่องทางก็ต้องดิ้นรนหาทางออก เมื่อรู้ว่าพระเจ้าแผ่นดินเสด็จฯผ่าน การร้องแรกแหกกระเชอจึงเป็นวิธีหนึ่ง จะได้ผลมากน้อย หรือไม่ได้ผลเลย ก็ยังดีอยู่ ไม่ออกแรงทำอะไรเสียเลย
ปะเหมาะเคราะห์ดี พระเจ้าแผ่นดินท่านสะดุดใจ ฟังความถามหา ความจริง เกิดทรงพระกรุณา...นักโทษนั้นก็อาจพ้นจากคุกได้ เพราะคำตรัสของพระเจ้าแผ่นดินคือ กฎหมาย
สมัยโบราณ ไม่มีการสื่อสารที่ลื่นไหล เกิดอะไรรู้เห็นกันทั่วบ้าน ทั่วเมือง เหมือนสมัยนี้
อย่างคดีอธิบดีกรมอุทยาน...ชุดเจ้าหน้าที่ที่บุกเข้าไปจับ ค้นเงินส่วยของกลางเป็นกระบุง สำนวนโบราณเรียกการจับแบบนี้ว่า “คาหนังคาเขา”
เรื่องแบบนี้ถ้าย้อนไปเกิดในสมัยพระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าชีวิตผู้ทรงธรรม จะร้องแรกแหกกระเชอท่าไหน
ผู้ต้องหาก็หัวขาดทันที สถานเดียว
ข้อไม่ดีของโลกสมัยใหม่ ก็คือ มีช่องให้ผู้ต้องหาสู้คดีมาก...เขาว่ากันว่า เงินตั้งห้าหกล้าน ที่ยึดได้ มีชื่อเจ้าหน้าที่และตำแหน่งกำกับด้วยนั้น เป็นเงินทำบุญ
เฮ้ย!เว้ย! บ้านนี้เมืองนี้ ถ้ายอมให้คนชั่วฉลปล้นซึ่งๆหน้ากันได้ขนาดนี้...ก็อย่ามีมันเลยกฎกติกา
ยอมให้ไอ้บ้าไอ้บ๊อง สักคนแก้กฎหมาย เป็นผู้นำต่อไป ช่วยๆกันเป่าตูดยอท่านแสนดีมีคุณธรรม สักพัก ท่านคงเล่นบทเปาบุ้นจิ้น ไม่ปล่อยให้คนชั่วลอยนวล บาดตาบาดใจคน.
กิเลน ประลองเชิง