เมื่อเอ่ยชื่อถึงเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง หลายคนคงรู้จักดี เนื่องจากบริเวณดังกล่าวนอกจากจะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก แห่งแรกของประเทศไทย ยังมีฝูงควายน้ำอาศัยอยู่กว่า 4 พันตัว สร้างชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวให้กับจังหวัด
วิถีชีวิตของฝูงควายน้ำที่กินหญ้าได้ทั้งบนดินและใต้น้ำในช่วงน้ำท่วมสูง หลายหน่วยงานขับเคลื่อนระบบการเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ให้เป็นมรดกโลกทางการเกษตร (GIAHS) แห่งแรกของประเทศไทย
นางอมรรัตน์ กาวชู เกษตรและสหกรณ์จังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ ม.ทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและอัตลักษณ์การทำการเกษตรแบบดั้งเดิมของเกษตรกรท้องถิ่น
โดยเฉพาะการเลี้ยงควายปลัก และระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย เห็นควรที่จะยกระดับการปกป้อง อนุรักษ์ และสืบสานวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของเกษตรกรในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว
ดำเนินการยื่นเอกสารข้อเสนอ “การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย” เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร และได้ผ่านความเห็นชอบจากกรรมการที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ (SAG) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา
ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จากมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน ทำให้เศรษฐกิจชุมชนเติบโตขึ้นกว่าเดิม เพิ่มการจ้างงานในพื้นที่
ขณะเดียวกัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชน จะร่วมจัดทำแผนแม่บทรองรับการเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทยต่อไป
...
จะส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่สำคัญแห่งใหม่ของจังหวัด และพื้นที่ภาคใต้ในอนาคต.
สุธรรม คงเพชร/รายงาน