เมื่อวันที่ 10 พ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 ไป 143 ล้านโดส พบว่าได้ผลดี ช่วยรักษาชีวิตคนไทยอย่างน้อย 5 แสนคน ที่ประชุมจึงเห็นชอบหลักการกรอบแนวทางการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ปี 2566 แต่เนื่องจากข้อมูล วิชาการจากหน่วยงานหลัก เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ระบุว่าต้องฉีดกี่เข็มฉีดอย่างไร ข้อมูลวิชาการยังไม่เพียงพอ เราจึงยึดกรอบตามวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ ฉีดกระตุ้นปีละ 1-2 เข็ม ใน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่ม 608 คือผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเสียชีวิต 2.บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า และ 3.อสม. รวมมีประมาณ 18 ล้านคน ถ้าฉีด 1 เข็มก็ 18 ล้านโดส หาก 2 เข็มก็ 36 ล้านโดส โดยมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปวางแผน ส่วนจะเป็นวัคซีนสูตรใดต้องดูข้อมูลวิชาการให้แน่ใจและเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบในหลักการให้องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น (อปท.) สามารถร่วมจัดซื้อจัดหาวัคซีนได้ เพื่อช่วยเสริมการฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ครอบคลุมที่สุด แต่ให้ระมัดระวังความซ้ำซ้อนของงบประมาณ โดยมอบสถาบันวัคซีนแห่งชาติหารือผู้เกี่ยวข้องในเรื่องขั้นตอน เพราะต้องกำกับทั้งเรื่องความเหมาะสม ความคุ้มค่า การจัดหาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามมาตรฐาน และต้องไม่เหลื่อมล้ำ

นพ.โอภาสกล่าวว่า ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าผลการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีหลายหน่วยงานของไทยก้าวหน้า แม้จะยังไม่ขึ้นทะเบียน แต่ขอให้ต่อยอดต่อไป เพราะอนาคตอาจต้องฉีดวัคซีนโควิดอีกหลายเข็มหลายโดส เพื่อพึ่งพาศักยภาพการผลิตของประเทศไทยได้เอง หน่วยงานที่วิจัยพัฒนาวัคซีนมีทั้งรัฐ เช่น จุฬาฯทำหลายตัว หรือองค์การเภสัชกรรม ไบโอเทค ส่วนเอกชนก็มีไบโอเนทเอเชีย สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นต้น สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ขณะนี้จากข้อมูลพบว่ามีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราวๆ 4-5% เป็นไปตามโมเดลที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเริ่มเข้าสู่หน้าหนาว โรงเรียนเปิดการเรียนการสอน และประเทศมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ช่วงนี้การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงขอให้ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นป้องกันป่วยหนัก เสียชีวิต

...

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า แม้การวิจัยวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไปไม่เร็วแต่มีความก้าวหน้า ที่ประชุมเห็นควรเดินหน้าต่อเพื่อให้ได้วัคซีนที่ขึ้นทะเบียนได้ และเป็นตัวต้นทางถ้าจะปรับสายพันธุ์ต่อไป.