ฝนถล่มภาคใต้ต่อเนื่อง สตูลอ่วมหนักน้ำป่าซัดถล่ม 3 อำเภอ บางจุดสูงถึง 1 เมตรกระแสน้ำมาเร็วจนชาวบ้านขนข้าวของหนีไม่ทัน ต้องรีบอพยพไปที่ปลอดภัย ภูเก็ตโดนฝนเทวูบเดียวถนนจมบาดาลอีกรอบ พังงาปักธงแดง ห้ามเล่นน้ำทะเลหาดเขาหลัก กาฬสินธุ์เร่งอุดพนังกั้นน้ำชีขาดแต่กระแสน้ำแรงเป็นอุปสรรคคาด 5-7 วันเสร็จ มท.1 ลงพื้นที่เยี่ยมชาวอุบลฯผู้ประสบภัย สั่ง ผวจ. ดูแลชาวบ้านให้ทั่วถึงพร้อมเร่งสูบน้ำออกให้เร็ว ส่วนพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยายังไม่พ้นวิกฤติ อ่างทองน้ำลามท่วมบ่อขยะ ชาวบ้านผวาเชื้อโรคแพร่กระจายมาตามน้ำ เมืองกรุงเก่าระทึก น้ำกัดเซาะถนนคันคลองชลประทานขาดซ้ำเติม 3 อำเภอท้ายน้ำจ่อลามถึงสุพรรณบุรี เฝ้าจับตาพายุ “เนสาท” ขึ้นฝั่งเวียดนาม 20-21 ต.ค. ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง
ถึงแม้ว่าพื้นที่ภาคเหนือ อีสานและภาคกลาง ฝนเริ่มเบาบางลงแล้ว แต่สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่คลายวิกฤติ ขณะที่ภาคใต้มีฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากท่วมหลายพื้นที่ เมื่อวันที่ 18 ต.ค. จ.สตูล น้ำป่าทะลักเข้าท่วม 3 อำเภอคือ อ.ทุ่งหว้า อ.ควนกาหลง และ อ.มะนัง หนักสุดอยู่ที่ อ.มะนัง ระดับน้ำบางจุดสูงกว่า 1 เมตร ชาวบ้านได้รับผลกระทบ 2 ตำบลคือ ต.ปาล์มพัฒนา และ ต.นิคมพัฒนา รวม 14 หมู่บ้าน 35 ครัวเรือน กระแสน้ำป่ามาเร็วจนชาวบ้านขนย้ายข้าวของไม่ทัน ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย ต้องรีบอพยพผู้พิการ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และเด็กออกไปอาศัยอยู่บ้านที่ไม่ถูกน้ำท่วมก่อน เนื่องจากระดับน้ำยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วน อ.ทุ่งหว้า น้ำป่าทะลักเข้าท่วม 3 ตำบลคือ ต.ทุ่งหว้า ต.ป่าแก่บ่อหิน และ ต.นาทอน โดยเฉพาะบริเวณที่พักสงฆ์ป่าฤทธิยากุล ต.ทุ่งหว้า น้ำป่าทะลักมาจากภูเขาด้านหลังที่พักสงฆ์ นอกจากนี้บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอทุ่งหว้า อบต.ทุ่งหว้า หน้า รพ.ทุ่งหว้า น้ำป่าไหลบ่าเข้าท่วมประมาณ 2 ชม.ระดับน้ำก็ลดลงสู่ภาวะปกติ ส่วนที่ อ.ควนกาหลง ระดับน้ำยังทรงตัวในพื้นที่ ต.อุใดเจริญ หากฝนหยุดตกระดับน้ำจะลดลงอย่างรวดเร็ว
...

จ.ภูเก็ต สถานการณ์น้ำท่วมขังบางพื้นที่กลับมาอีกครั้ง หลังจากมีฝนตกหนักนานนับชั่วโมง ส่งผลให้ถนนเทพกระษัตรี บริเวณหน้าการเคหะแห่งชาติ บ้านลิพอน ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง ทั้งขาเข้าและออกมีน้ำท่วมผิวการจราจร รถเล็กสัญจรช้าส่งผลให้การจราจรติดขัดเป็นทางยาว เช่นเดียวกับบริเวณซอยพะเนียงและซอยสามกอง 2 ต.ตลาดใหญ่ อ.เมืองภูเก็ต ยังมีน้ำท่วมขังบางจุด นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผวจ.ภูเก็ต กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมขังตามพื้นที่ต่างๆว่า มีหนองน้ำหรือขุมเหมืองเก่ารอบๆบ้านเรือนและชุมชนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้น้ำเอ่อล้นไหลท่วมบ้านเรือน กำลังเร่งระบายลงสู่คลองบางใหญ่เพื่อออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ได้วางเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ไว้ตามจุดต่างๆเร่งระบายตลอด 24 ชม. ถ้าฝนทิ้งช่วงบ้างการระบายน้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติ
จ.พังงา ฝนตกหนักตลอดคืนที่ผ่านมา ทำให้โรงแรมรีสอร์ตในพื้นที่เขาหลัก ต่างปักธงแดงห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำทะเลเด็ดขาด พร้อมให้เจ้าหน้าที่เดินลาดตระเวนหน้าชายหาดเพื่อป้องกันอันตราย เนื่องจากยังมีคลื่นลมแรงอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่ชายหาดบ้านในไร่ ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง ชาวประมงพื้นบ้านนำเรือนับร้อยลำเข้าจอดเทียบท่าเรือในร่องน้ำเพื่อหลบลมพายุ หลังจากมีคลื่นลมสูง 2 เมตรและฝนตกหนัก ไม่สามารถออกทะเลหาสัตว์น้ำได้ ต้องเก็บอุปกรณ์และใช้เวลาว่างซ่อมแซม ส่วนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันออกประกาศเพิ่มเติมขยายเวลาการปิดให้บริการนักท่องเที่ยวเพิ่มอีก 2 วันไปถึงวันที่ 20 ต.ค.
ช่วงเช้าวันเดียวกัน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นำคณะลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เดินทางมาถึงท่าอากาศยานทหารกองบิน 21 รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือก่อนออกเดินทางไปเยี่ยมชาวบ้านผู้ประสบภัยที่ศูนย์อพยพโรงเรียนชุมชนบ้านกุดเป่ง เทศบาลเมืองวารินชำราบ อ.วารินชำราบ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า น้ำท่วมอุบลราชธานีปีนี้ไม่เหมือนปี 62 เพราะมีทั้งฝนในพื้นที่และเป็นที่รองรับน้ำจากทั้งแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลตอนบนอีก ต้องเผชิญน้ำท่วมอีกนาน ด้วยความเป็นห่วงจึงลงมาดูแลและสั่งการ ผวจ.ต้องจัดการดูแลประชาชนให้ทั่วถึงและเร่งสูบน้ำที่ท่วมขัง เมื่อสถานการณ์คลี่คลายจะซ่อมแซมบ้านและดูแลมาตรการพิเศษเรื่องทำการเกษตรในปีต่อไป จากนั้น พล.อ.อนุพงษ์เดินทางไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวดอนปูตา เทศบาลตำบลท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ และที่เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร อ.พิบูลมังสาหาร สำหรับ จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบน้ำท่วม 19 อำเภอ จากทั้งหมด 25 อำเภอ ปัจจุบันระดับน้ำแม่น้ำมูลมีแนวโน้มลดลง ที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย เทศบาลนครอุบลราชธานี ลดลง 7 ซม. แต่ยังล้นตลิ่งอยู่ 4.37 เมตร

...
จ.กาฬสินธุ์ หลังเกิดเหตุพนังกั้นแม่น้ำชีขาด บริเวณ กม.6 บ้านสะดำศรี ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย ส่งผล ให้มวลน้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนหลายร้อยหลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรนาข้าวที่กำลังตั้งท้องหลายหมื่นไร่ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ เนื่องจากจุดที่พนังขาดยังไม่สามารถอุดได้ เจ้าหน้าที่นำเครื่องจักรกลหนักเข้าไปเร่งซ่อมแซมแล้ว นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รอง ผวจ.รรท.ผวจ.กาฬสินธุ์ นำคณะไปติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดพร้อมเผยว่า พนังถูกกระแสน้ำตัดขาดยาวกว่า 50 เมตร กระแสน้ำยังไหลเชี่ยวเป็นอุปสรรคให้การซ่อมแซมค่อนข้างลำบาก ต้องใช้เวลา จะเริ่ม จากการนำกล่องเกเบี้ยนบรรจุก้อนหินขนาดใหญ่ลงไปก่อน เพื่อลดความแรงของน้ำ และดำเนินการซ่อมแซมตามขั้นตอน หากไม่มีอุปสรรคคาดว่าภายใน 5-7 วันจะแล้วเสร็จ ความเสียหายเบื้องต้นใน ต.ลำชี จำนวน 4 หมู่บ้าน 381 หลังคาเรือน คาดว่าจะขยายวง ไปถึง ต.ธัญญา และ ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย อีกด้วย
จ.ร้อยเอ็ด สถานการณ์แม่น้ำชี ที่สถานีบ้านม่วงลาด อ.จังหาร ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.87 เมตร สถานีบ้านวังยาว-หนองแก่ง อ.เชียงขวัญ สูงกว่าตลิ่ง 2.01 เมตร และสถานีบ้านท่าสะแบง อ.ทุ่งเขาหลวง สูงกว่าตลิ่ง 1.12 เมตร มวลน้ำก้อนใหญ่ไหลเข้าสู่พื้นที่ อ.เชียงขวัญ น้ำท่วมพื้นที่ 3 ตำบล คือ ต.เชียงขวัญ ต.พระธาตุ และ ต.พลับพลา รวม 9 หมู่บ้าน 185 ครัวเรือน ประชาชนเข้าไปอยู่ศูนย์พักพิง 9 จุด ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ้านวังยาว-วังเจริญ ต.พลับพลา น้ำท่วมหมู่บ้าน 150 ครัวเรือน ชาวบ้าน เล่าว่า น้ำเริ่มท่วมต้นเดือน ต.ค. นาข้าวที่ทำเสร็จไป ถูกน้ำท่วมไม่มีข้าวไว้กิน ต้องออกหาปลา ได้บ้างไม่ได้บ้าง อาศัยถุงยังชีพประทังชีวิตไปวันๆ อยากให้จัดสุขาเคลื่อนที่และน้ำดื่มให้ชาวบ้านด้วย
เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ลดอัตราการระบายน้ำลงไปที่ 2,969 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็นการระบายน้ำต่ำกว่า 3,000 ลบ.ม. ครั้งแรกในรอบ 10 วัน แต่ยังคงปักธงแดงแจ้งเตือนสถานการณ์วิกฤติต่อเนื่องเป็นวันที่ 12 ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนระดับน้ำ ลดลง 40 ซม.ในรอบ 24 ชม. วัดได้ 16.99 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยังคงเอ่อล้นสูงกว่าตลิ่ง 65 ซม. ชาวบ้านพื้นที่ท้ายเขื่อน อ.สรรพยา ยังนอนในเพิงพักชั่วคราวริมถนนกว่า 2,500 ครัวเรือน น้ำที่ท่วมขังนานกว่า 1 เดือน เริ่มเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น ยังมียุงและทากดูดเลือดที่ชุกชุมสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน สำหรับ จ.ชัยนาท มีพื้นที่ประสบอุทกภัยแล้ว 8 อำเภอ 35 ตำบล 223 หมู่บ้าน 8,997 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรร่วม 25,000 ไร่
...

จ.สิงห์บุรี ปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยายังคงเอ่อท่วมบ้านเรือนประชาชนหลายพื้นที่ หลังจากถนนคันคลองใน อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ถูกน้ำกัดเซาะขาด ยิ่งทำให้มวลน้ำไหลบ่าลงพื้นที่ จ.สิงห์บุรี เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับระดับน้ำในแม่น้ำน้อยก็ยังคงเอ่อล้นท่วมหลายพื้นที่ขยายวงกว้างไปด้วย ขณะนี้ทั้ง 6 อำเภอของ จ.สิงห์บุรี ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทั้งหมดแล้ว รวม 22 ตำบล 10 ชุมชน 17,825 ครัวเรือน ผู้ประสบภัยบางส่วนออกมาอาศัยอยู่เต็นท์ริมถนน บางส่วนไปอาศัยอยู่บ้านญาติที่น้ำ ยังไม่ท่วม บางส่วนไปอยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ทางจังหวัด จัดไว้ให้ บางส่วนก็อาศัยอยู่บนชั้น 2 ของบ้าน ต้องใช้ชีวิตด้วยความยากลำบากมาเป็นเวลานานแล้ว
ที่วัดไทรย์ ต.ป่างิ้ว อ.เมืองอ่างทอง น้ำในทุ่ง เอ่อล้นข้ามถนนสายอ่างทอง-โพธิ์ทอง ระยะทางกว่า 500 เมตร ไหลบ่าเข้าท่วมบริเวณวัดและโรงเรียนวัดไทรย์ ต้องรีบขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูง กู้ภัยป่อเต็กตึ๊งนำเรือท้องแบน 2 ลำ เข้าช่วยเหลือหมูป่ากว่า 20 ตัว ของวัดที่เลี้ยงไว้ริมกำแพง ถูกน้ำท่วมสูงครึ่งตัว ต่างตื่นกลัวร้องกันลั่น เจ้าหน้าที่ อบต.ป่างิ้ว นำรถแบ็กโฮเร่งทำคันดินสูง 1 เมตร ริมถนนเพื่อป้องกันน้ำ เช่นเดียวกับวัดหลุมไก่ ต.ศาลาแดง เขตติดต่อวัดไทรย์ มีน้ำจากในทุ่งลำท่าแดงไหลทะลักเข้าวัดสูง 60-70 ซม. ส่วนที่บ่อฝังกลบขยะของเทศบาลเมืองอ่างทองเนื้อที่ร่วม 100 ไร่ใน ต.เทวราช อ.ไชโย น้ำเริ่มไหล เข้าท่วมทางเข้าบ่อขยะสูงกว่า 60 ซม. ชาวบ้านพากัน หวั่นเกรงว่าหากบ่อขยะถูกน้ำท่วมจะมีปริมาณน้ำเสีย จากกองขยะมหึมากว่า 4 พันตัน ถูกกระแสน้ำพัดพา ออกไป ทำให้มีเชื้อโรคแพร่กระจายตามน้ำมายังพื้นที่ ตอนล่างจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เจ้าหน้าที่เทศบาลต้องเร่งเสริมแนวคันดินเพิ่มเติม เพื่อป้องกันน้ำไหลบ่า เข้าท่วมบ่อขยะโดยตรง และติดตั้งตาข่ายล้อมรอบเพื่อป้องกันไม่ให้มีขยะหลุดไปกับกระแสน้ำ
...

จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อคืนที่ผ่านมา ถนนคันคลองชลประทานใกล้ประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ด หมู่ 7 ต.รางจระเข้ อ.เสนา ถูกน้ำกัดเซาะจนถนนทรุดตัวกว้าง 8 เมตร น้ำไหลบ่าเข้าคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หนสู่พื้นที่ท้ายน้ำ อ.เสนา อ.บางซ้าย และ อ.ลาดบัวหลวง ต่อมาในช่วงเช้าเจ้าหน้าที่ระดมกำลังพร้อมเครื่องจักรกลลงพื้นที่เร่งซ่อมแซม นำหิน บรรจุถุงเกเบี้ยนไปวางบริเวณจุดที่ถนนขาดเพื่อชะลอ การไหลของน้ำและป้องกันการกัดเซาะถนนขาดเพิ่มขึ้น ต้องอุดรอยรั่วของน้ำให้เร็วที่สุดเพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอท้ายน้ำ ส่วนบ้าน ชาวบ้านที่อยู่ริมคลองเจ้าเจ็ดได้รับผลกระทบจาก ถนนคันคลองชลประทานทรุดพังครั้งนี้ทำให้มีระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 10-15 ซม.
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าพรรค ชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีพนังกั้นน้ำคลองเจ้าเจ็ด จ.พระนครศรีอยุธยาแตก จะส่งผลถึงทุ่งสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ว่า ขณะนี้พื้นที่ทุ่งผักไห่มีปริมาณน้ำ เกินความจุแล้ว ในที่สุดจะทะลักมาสู่ทุ่งเจ้าเจ็ดก่อนจะลงมายังทุ่งสองพี่น้องและพื้นที่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ขอฝากกรมชลประทานช่วยแก้ปัญหาในจุดที่พนังกั้นน้ำแตก เพราะขณะนี้อัตราการทะลักของมวลน้ำมีมหาศาลถึง 100 ลบ.ม.ต่อวินาที หากแก้ปัญหาช้าจะลามมาถึงทุ่งสองพี่น้องเหลืออีกไม่ถึง 20 ซม. ปริมาณน้ำจะเท่ากับปี 2564 ได้ประสาน กับจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดใกล้เคียงให้เร่งช่วยเหลือประชาชน
กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเรื่องพายุ “เนสาท” ฉบับที่ 5 ว่า เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 18 ต.ค. พายุไต้ฝุ่น “เนสาท” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 270 กม.ทางตะวันออกของเกาะไหหลำ ประเทศจีน มีความเร็ว ลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 140 กม.ต่อ ชม. กำลังเคลื่อนตัว ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ด้วยความเร็วประมาณ 15 กม. ต่อ ชม. มีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนช่วงวันที่ 20-21 ต.ค. ขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ จะทำให้พายุอ่อนกำลังลงตามลำดับอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อนึ่ง ช่วงวันที่ 18-22 ต.ค. ร่องมรสุมพาด ผ่านภาคใต้ตอนกลางประกอบกับลมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก คลื่นลม บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น