บทที่เจ็ด ปราชญ์ “หยางจู” ในหนังสือ “ตูน ปรัชญาเต๋า” (ไช่จื้อจง เขียน สุรัติ ปรีชาธรรม โชติช่วง นาดอน แปล) เริ่มต้นว่า หยางจูร่ำเรียนกับเหลาจื่อ คนทั่วไปมักเข้าใจเขาเป็นนักลัทธิเต๋า แต่ความจริงหลักสอนหยางจูต่างกับลัทธิเต๋า
ต่างกันแค่ไหน อย่างไร อ่านเรื่อง ชื่อเสียงไม่ใช่ของจริง ของจริงไม่มีชื่อเสียง ต่อไปนี้
วันหนึ่งผู้แซ่เหมิงถามว่า “ทำไมคนเรามักกระหายแต่ชื่อเสียง” หยางจูตอบว่า “พอมีชื่อเสียงแล้ว ความร่ำรวยก็ตามมา” ผู้แซ่เหมิงถามต่อ “ทำไมคนร่ำรวยแล้วจึงไม่รู้จักพอ...”
คำตอบจากหยางจู “เมื่อร่ำรวยแล้ว อยากได้ยศศักดิ์อีกไงเล่า!”
คนแซ่เหมิงรำพึง “แต่คนสูงศักดิ์ก็มักไม่รู้จักพอ” หยางจู ว่า “คนสูงศักดิ์แล้ว ก็ต้องเตรียมตัวไว้สำหรับตอนตาย”
“ตายแล้วก็แล้วกัน ต้องไปคิดเตรียมอะไรด้วย” “อ้าว ก็ตระเตรียมเอาไว้ให้ลูกหลาน” “ชื่อเสียงมีประโยชน์ให้ลูกหลานยังไง?” “ทำให้ลูกหลานได้รับความเคารพนับถือ”
ถามตอบกันมาถึงตอนนี้ หยางจูก็แนะวิธีการมีชื่อเสียง “ภายนอกต้องดูสมถะ ไม่โลภมาก ฉะนั้นก็จึงดูยากจน แล้วก็จะได้ชื่อเสียงในแง่สมถะมักน้อย”
“ผู้แสวงชื่อเสียงต้องน้อมใจถ่อมถอย จึงอยู่อย่างต่ำต้อย เพราะอยู่อย่างต่ำต้อย จึงมีชื่อเสียง ในแง่ถ่อมตัวไม่ทะเยอทะยาน”
หยางจูยกตัวอย่าง เมื่อก่วนจงเป็นสมุหนายกแคว้นฉีองค์ราชากับสมุหนายกมีนิสัยคล้ายกันคือฟุ้งเฟ้อทะเยอทะยาน แคว้นฉีจึงเติบใหญ่เข้มแข็งเป็นประมุขเหนือแคว้นต่างๆ
แต่ครั้นตายไป เขาก็เหลือแต่ชื่อเสียงอันว่างเปล่าจอมปลอม
...
เมื่อเถียนเหิงเป็นสมุหนายกแคว้นฉีนั้น องค์ราชันหยิ่งผยอง แต่เถียนเหิงถ่อมถอย องค์ราชันรีดนาทาเร้นจากราษฎร แต่เถียนเหิงเผื่อแผ่บุญคุณช่วยเหลือราษฎร ราษฎรจึงจงรักภักดี
เถียนเหิงลูกหลานวงศ์ตระกูลจึงได้รับความเคารพรัก
จากคำสอนนี้ หยางจูนำไปสู่คำสอนข้อใหม่ “คนร่ำรวยที่แท้จริง ดูภายนอกจะเหมือนยากจน ส่วนคนที่ภายนอกดูร่ำรวยนั้น ที่แท้ช่างแสนยากจน ของจริงไม่มีชื่อเสียง มีชื่อเสียงไม่ใช่ของจริง”
ชื่อเสียงเป็นเพียงเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์เท่านั้น
“พระเจ้าเหยา” แกล้งกล่าวมอบแผ่นดินนี้ให้สวี่โหยว (สี่อิ้วล้างหู) ดูราวกับว่า พระเจ้าเหยาได้ชื่อเสียงดีเหลือเกินทั้งๆที่ท่านไม่ได้เสียแผ่นดินไปซักกะหน่อยเลย
กูจู๋จวิ่นยกราชสมบัติให้ป๋ออี๋กับซูฉี สองคนนั้นจึงหลบหนีไป แล้วในที่สุดก็ต้องอดตายอยู่แถบดอยโส่วหยาง ทั้งสองมิได้คิดดอกว่าจะได้ชื่อเสียงอันบริสุทธิ์ในภายหลัง
คุยกันมายืดยาว ในที่สุดหยางจูผู้ปราชญ์ ก็มีบทสรุปให้คนแซ่เหมิง “จะจำแนกจริงแท้ จอมปลอม ต้องมองอย่างนี้...”
“โลกนี้ไม่มีเรื่องใดพร้อมสมบูรณ์ทุกด้าน เมื่อมีส่วนได้รับก็ต้องมีส่วนหนึ่งเสียไป ปรารถนาจะเข้าถึงแก่นเที่ยงแท้ ก็อย่าหลงชื่อเสียง
หากต้องการชื่อเสียง ก็ต้องยอมสูญเสียความผาสุกที่แท้แห่งแก่นสัจธรรม”
อ่านเรื่องนี้จบ ผมขอสารภาพ อ่านเรื่องของผู้รู้จีนระดับ “จื่อ” มาก็มากมายหลายคน เพิ่งเจอเรื่องของ “หยางจู” เรื่องเดียว...ทั้งอึ้งทั้งทึ่งทั้งซึ้ง จนตั้งใจจะหามาเล่าต่อไปทุกครั้งที่อ่านเจอ.
กิเลน ประลองเชิง