นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ขึ้นต้น “คอลัมน์บอกเล่าเก้าสิบ เรื่องคารวะป้าบุญมี” นิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ว่า

คุณป้าบุญมีได้จากไปอย่างสงบ ท่ามกลางหมู่ญาติ เมื่อค่ำวันที่ 12 เมษายน ที่บ้านบางขุนไทร (อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี) อายุ 97 ปี 1 เดือน 7 วัน

ผมสะดุดใจ ภาพป้าบุญมีผู้หญิงสูงวัย ผมขาว สองมือถือไม้พลอง คำที่หมอเรียกป้า ก็ชาวบ้านธรรมดาๆ ป้าบุญมี ต้องมีอะไรดี ถึงขั้นคนอย่างหมอสุรเกียรติ เขียนเรื่องแสดงความอาลัย

จึงตั้งใจอ่านเรื่องต่อ

อายุราวๆ 50 ปี ป้าบุญมี ป่วยด้วยโรคกระดูกสันหลังเสื่อมทรุด และกระดูกทับเส้นประสาท เริ่มอาการหลังค่อมเดินเหินลำบาก หมอ รพ.บ้านแหลมเพียงให้ยาบรรเทา ให้ใส่เสื้อเกราะพยุงหลัง

วันหนึ่งดูทีวี เห็นผู้สูงอายุออกกำลังกายโดยการบริหารกล้ามเนื้อ และใช้ไม้โยน ป้าบุญมีก็ลองนำมาดัดแปลงทำท่าบริหารร่างกายด้วยไม้ และบริหารกล้ามเนื้อหัวเข่า ด้วยท่า “เขย่าเข่า”

ค่อยๆทำไปจนพบว่าต้องทำให้ได้ท่าละ 99 ครั้งจึงจะได้ผล

ทำแล้วก็คิดท่าขึ้นใหม่ จนได้ท่ารำไม้พลอง 12 ท่า

หลานสาวป้า อาจารย์ผุสดี สระทอง อาจารย์วิทยาลัยพยาบาล พระจอมเกล้า เพชรบุรี ได้เห็นเป็นประจักษ์ว่า การรำไม้พลอง ส่งผลให้ร่างกายป้าบุญมีฟื้นหายเป็นปกติ

สุขภาพโดยรวมดีขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ เดินเหินคล่องแคล่ว จิตใจแจ่มใส จึงลองสมัครเป็นศิษย์ ฝึกท่ารำไม้พลองกับป้า ต่อมาก็นำไปสอนกับผู้ป่วยเบาหวานโรงพยาบาลบ้านแหลม ซึ่งก็เห็นผลดี

ป้าบุญมีเริ่มเป็นที่ชื่นชอบของหมู่ลูกศิษย์ ซึ่งนับวันก็เพิ่มจำนวน

หลานสาวอีกคน ของป้าบุญมี อาจารย์บุญทิพย์ สิริธรังศรี อาจารย์สาขาพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นำท่ารำไม้พลองของป้า ไปสอนกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานในกรุงเทพฯ

...

นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ รู้เรื่องนี้จากอาจารย์บุญทิพย์จึงนำทีมหมอชาวบ้านไปขอสัมภาษณ์ป้า ที่บ้านบางขุนไทร ฝึกเรียนและถ่ายภาพ รำไม้พลอง

แล้วนำเรื่องราวตีพิมพ์ในหมอชาวบ้านฉบับพฤศจิกายน 2541

ผลที่ตามมา “หมอชาวบ้าน” ช่วยจุดความสนใจ ทำให้เกิดกระแสนิยมการรำไม้พลองขึ้นในวงกว้าง

สื่อมวลชนหลายแขนง ตามมาสัมภาษณ์ หน่วยงาน โรงพยาบาล สถานศึกษา อบจ. อบต. เอกชน เชิญป้าบุญมีไปสอน ไกลสุดถึงอุบลราชธานี

หลายปีที่ผ่านมา นพ.สุรเกียรติ ได้เห็นการรำไม้พลอง ตามสวนสุขภาพ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คราวหนึ่งหมอนำทีมรำไม้พลองที่สวนรถไฟ (กรุงเทพฯ) ไปคารวะ และขอเรียนกับป้าบุญมีเจ้าตำรับตัวจริงที่บางขุนไทร

กรมอนามัย เชิญป้า เป็นผู้แสดงสาธิตท่ารำไม้พลองถ่ายทำคลิปเผยแพร่ ทางยูทูบ

นพ.สุรเกียรติ ทิ้งท้ายข้อเขียนว่า...ป้าบุญมีเป็นนักเรียนรู้ในการสู้ชีวิต เอาชนะการเจ็บป่วยได้ด้วยตนเอง เป็นผู้สร้างภูมิปัญญาอันทรงค่า เป็นครูที่สอนคนให้หันมารักษาตนเอง เป็นแม่ดีเด่นเมื่อปี 2546

นับเป็น “หมอชาวบ้าน” โดยแท้

ผมอ่านเรื่องคารวะป้าบุญมีจบ...ก็หายข้องใจ ทำไมชาวบ้านธรรมดาๆเมื่ออยู่ก็มีแต่คนรัก เมื่อจากก็ได้รับการคารวะ รับการแสดงความอาลัยอย่างลึกซึ้งจริงใจจากผู้คนมากมาย โดยเฉพาะคนระดับหมอ

ไม่อยากคิดไปถึงคนบางคนเลยจริงๆ

เมื่ออยู่ฟังเหมือนว่าไม่สู้จะมีคนรัก ยังไม่ทันจะแก่ตาย ไปทางไหนก็มีแต่เสียงผลักไสไล่ส่ง.

กิเลน ประลองเชิง