สังคมคงเฝ้ารอบทสรุปการคลี่คลายคดีดัง “ดาราสาวแตงโมตกเรือกลางเจ้าพระยาเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ” ขณะล่องเรือกับเพื่อนชายหญิง 5 คน ที่การสืบสวนสอบสวนล่วงเลยผ่านมากว่า 1 เดือน

กลายเป็นปรากฏการณ์ “นักสืบไซเบอร์” ขุดคุ้ยหาหลักฐานตั้งข้อสันนิษฐานต่างๆนานาที่ “ไม่เชื่อเป็นอุบัติเหตุธรรมดา” แต่เป็นเผือกร้อนให้ตำรวจระดมทีมคลี่คลายไล่ล่าหาความจริงไขปริศนาตอบข้อสงสัยสังคม

ด้วยเหตุเพราะ “นักกฎหมาย” เข้ามาแนะนำแต่แรกแล้วยังมีประเด็นกล่าวอ้างโยงไปหา “ผู้มีอิทธิพลทางการเมือง” เข้ามาแทรกแซงรูปคดียิ่งทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยความผิดปกติที่เกิดขึ้นในการทำสำนวนนี้

หนำซ้ำยังเป็นกระแสตอกย้ำ “ความไม่ไว้ใจตำรวจในการทำคดีนี้” อันนำมาซึ่งเวทีเสวนา “ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม กรณีคดีแตงโมจมน้ำเสียชีวิต” จัดโดย อสมท และ ม.รังสิต เมื่อเร็วๆนี้

...

รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ บอกว่า เมื่อมีผู้เสียชีวิตต้องมีหลายฝ่ายตรวจสอบที่เกิดเหตุแล้วแพทย์ร่วมชันสูตรศพจะพิจารณาระบุว่า “กรณีนั้นเสียชีวิตผิดธรรมชาติหรือไม่” ถ้าตายผิดธรรมชาติก็เข้าข้อกฎหมาย “ต้องผ่าชันสูตรศพ” ตามมาเท่านั้น

เมื่อนำศพเข้าห้องชันสูตรขั้นตอนแรก “ถ่ายภาพนิ่ง-วิดีโอก่อนเสมอ” ทำความสะอาดศพตรวจดูบาดแผลภายนอกผ่าดูชั้นใต้ผิวหนังใช้เวลา 2 ชม. ทั้งตัดเนื้อเยื่อตรวจสภาพบาดเจ็บ 1-2 สัปดาห์ก่อนแจ้งญาติเบื้องต้น

ผลเป็นทางการส่งพนักงานสอบสวน 60 วัน ในส่วน “ศพจมน้ำหรือเสียชีวิตบนบก” ขั้นตอนชันสูตรไม่ต่างกัน ด้วยตั้งประเด็นฆาตกรรมหรือไม่เป็นสำคัญ ส่วนเสียชีวิตก่อนตกน้ำหรือตกน้ำแล้วสามารถสังเกตบาดแผลจากประสบการณ์บนหลักวิชาการบอกเบื้องต้นได้ ด้วยการนำหลักฐานวิทยาศาสตร์มาประกอบร่วมยืนยัน

ทว่าในแง่มุม “กฎหมายต่อความเป็นธรรม” เมื่อ 2-3 ปี หลายคนคงจำ “คดีจอร์จ ฟลอยด์” ถูกตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดคอเสียชีวิตจน “ปฏิรูปตำรวจในสหรัฐฯ” เพราะความไม่เท่าเทียมเกี่ยวกับสีผิว ตอนแรกผลการผ่าชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคประจำตัว และตำรวจผู้ก่อเหตุถูกดำเนินคดีประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิต

ต่อมา “ญาติจอร์จ ฟลอยด์ ไม่พอใจขอเปลี่ยนผ่าชันสูตรสถาบันเอกชน” ผลสรุปกลายเป็นว่า “เสียชีวิตถูกกดทับบริเวณจุดสำคัญขาดอากาศหายใจ” ทำให้ศาลมีคำสั่งลงโทษคดีฆ่าโดยไม่เจตนาจำคุก 40 ปี

“เรื่องนี้ย้อนกลับมาในไทยก็เริ่มพูดถึงการดำเนินคดีระหว่างคนจนและคนร่ำรวยมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากเหตุความไม่เท่าเทียมอันมีวิถีปฏิบัติต่างกันสะสมหลายกรณีช่วงที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนรู้สึกได้ ฉะนั้นการตัดสินให้เกิดความเป็นธรรมโดยเร็วในประเด็นสังคมสนใจอาจเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาก็ได้” รศ.นพ.วีระศักดิ์ว่า

เช่นเดียวกับ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผช.อธิการบดีฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต บอกว่า หลักนิติเวชมีความสำคัญต่อการตรวจสอบหาสาเหตุการเสียชีวิตมาก ส่วนการนำศพดาราสาวไปชันสูตรศพ 2 แห่ง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น

แล้วผลการชันสูตรศพ 2 แห่งก็ตรงกัน เพียงแต่ “สิ่งใดก็ตามเป็นความโปร่งใส” หน่วยงานกระบวนการยุติธรรมต้องปรับตัว มิเช่นนั้นจะเป็นเรื่องแคลงใจต่อสังคมส่งผลต่อความเชื่อมั่นตามมาก็ได้

...

ตามหลัก “ความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม” มักเกิดได้ต้องมีองค์กรภายนอกร่วมตรวจสอบนำมาปีที่แล้ว “ทีไอเจ” สำรวจประชาชนต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมคะแนนเต็ม 5 ลดลงเหลือ 2.01 คะแนนเมื่อมี “คดีอดีต ผกก.โจ้ ซ้อมผู้ต้องหาคดียาเสพติดเสียชีวิต” ความเชื่อมั่นลดจากเดิมเหลือ 1.29 คะแนน

คราวนั้น “ทีไอเจ” มีข้อเสนอคือ ปรับปรุงกลไกการตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจในการค้นหาความจริงชั้นสอบสวน และควรส่งเสริมพนักงานสอบสวนมีความเป็นวิชาชีพเฉพาะเป็นอิสระจากสายบังคับบัญชาปกติของหน่วยงาน ทั้งสร้างกระบวนการเปิดให้ภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลงานตำรวจได้ด้วย

สิ่งนี้ตอบโจทย์สำคัญ “ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม กรณีคดีแตงโมตกน้ำเสียชีวิต” จริงๆแล้วก่อนหน้านี้ถูกเชิญให้ความเห็นด้านอาชญาวิทยาในคดีนี้เช่นกัน ทำให้เห็นการทำงานของตำรวจหลายอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสืบสวนสอบสวน เรียกสอบปากคำบุคคลที่เกี่ยวข้อง พยานแวดล้อม พยานผู้เชี่ยวชาญ

ทั้งรวบรวมวัตถุพยานจากกล้องวงจรปิด ตรวจสอบโทรศัพท์มือถือ ติดตามจุดจีพีเอสเรือขณะเกิดเหตุ ด้วยการใช้เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ นิติวิทยาศาสตร์ เข้ามาช่วยคลี่คลายทุกประเด็นข้อสงสัยในคดี

คำถามคือ “ทำไมประชาชนยังไม่เชื่อมั่นต่อการทำงานในกระบวนการยุติธรรม...?” ทำให้ย้อนกลับไปถึงคดีดังเคยถูกเสนอข่าวไปแล้ว เช่น คดีทายาทเครื่องดื่มชูกำลังขับรถหรูชนนายดาบตำรวจ สน.ทองหล่อเสียชีวิตแล้วหลบหนี แม้แต่ “กรณีซื้อขายตำแหน่ง” ปรากฏผลสอบ “จเรตำรวจ” ก็พบมีมูลตามนั้นจริงๆ

...

อีกทั้งมีผลงาน “วิจัยของมหาวิทยาลัย และองค์กรอิสระ” สนับสนุนความเห็นตรงกันว่า “ระบบงานสืบสวนสอบสวนของตำรวจ” มักถูกแทรกแซงจากภายในและภายนอกองค์กรอยู่มากมาย

ทำให้กรณี “คดีดาราสาวตกเรือเสียชีวิต” เป็นเรื่องที่สังคมตั้งคำถาม “กระบวนการยุติธรรมที่มีตำรวจเป็นด่านแรก” เพราะผลการสืบสวนสอบสวนมักนำมาซึ่งความเห็นต่อการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษนี้เสมอ

จริงๆแล้วหลักสากลให้ความเห็นต่อการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับใช้กฎหมายไว้ 6 ประเด็น คือ 1.องค์ความรู้ในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งสืบสวนสอบสวนจับกุมผู้กระทำผิด 2.การปฏิบัติต้องเป็นมืออาชีพ 3.คุณธรรม จริยธรรมในวิชาชีพตำรวจ 4.วัฒนธรรมองค์กรตำรวจ 5.ความซื่อสัตย์ต่อองค์กรตำรวจ 6.บรรทัดฐานทางสังคมไทย

กรณีนำศพดาราสาวมาผ่าชันสูตรในสังกัด สตช.ก็มีประเด็นเกี่ยวกับทั้ง 6 ข้อนี้ โดยเฉพาะ “บรรทัดฐานทางสังคมเปลี่ยนไปเน้นตรวจสอบความโปร่งใสมากขึ้น” นั่นก็คือถ้ากระบวนการยุติธรรมทำงานแบบเดิม “มองข้ามความเป็นมืออาชีพ” ก็มักวกมาเรื่องความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมเช่นเดิม

...

เรื่องนี้อาจจำเป็นต่อ “การถอดบทเรียนกรณีพนักงานสอบสวนหรือไม่” เพราะหลายคนยังไม่เข้าใจว่า “พนักงานสอบสวน” มีโอกาสถูกโยกย้ายไปได้ทุกสายงานแล้วตำรวจสายงานอื่นก็อาจถูกย้ายมารับตำแหน่งนี้ได้เสมอ ผลตามมา “พนักงานสอบสวนบางคน” ไม่มีประสบการณ์ ทำงานไม่เป็นมืออาชีพ จนมองรูปคดีไม่ขาด

แนวคิดนี้ “องค์กรตำรวจถูกใช้มานานกว่า 100 ปี” ทำให้ตั้งข้อสังเกตว่า “จุดนี้หรือไม่เป็นอุปสรรคส่งผลต่อการใช้ดุลพินิจของตำรวจในการทำคดี” อันเป็นปัจจัยให้มีคำถามจากสังคมอยู่ในขณะนี้

ก่อนหน้ามีโอกาสเจอ “คนไทยเป็นตำรวจสหรัฐอเมริกา 30 ปี และอีกคนเป็นตำรวจอังกฤษ” พูดคุยกันเกี่ยวกับ “คดีดาราสาวตกน้ำ” ปรากฏว่าทั้ง 2 ท่าน ให้ความเห็นตรงกันว่า “คดีนี้ผิดปกติ” อย่างเช่นกรณีกล่าวอ้างว่า “แตงโมจับขาขณะปัสสาวะท้ายเรือ” ถ้าเป็นสหรัฐฯ จะทำการตรวจลายนิ้วมือที่ขาบุคคลนั้นทันที

ถัดมาคือ “แยกสอบสวนคนบนเรือหาข้อเท็จจริง” แม้ว่าทุกคนมีการแยกย้ายกันแล้ว ตำรวจสหรัฐฯก็ต้องเอาไปตามเรียกตัวถึงบ้าน “ถ้าไม่อยู่บ้าน หรือไม่ร่วมมือ” ก็ย่อมแสดงถึงความผิดปกติ

ประการสำคัญลือกันว่า “องค์กรตำรวจถูกแทรกแซงง่าย” ด้วย สตช.อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาฝ่ายการเมือง แน่นอนว่า “ตราบใดตำรวจไม่ได้รับความยุติธรรมเราก็มิอาจคาดหวังจะได้รับความเป็นธรรม” แล้วโครงสร้างตำรวจไม่ถูกแก้ไขเช่นนี้หากมี “คดีโยงใยข้าราชการระดับสูง” อาจมีคำถาม ถึงความเป็นธรรมเสมอ

ที่ผ่านมา... “มีคนพูดปฏิรูปตำรวจและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” ที่ต้องการโครงสร้างตำรวจให้ทำงานอย่างอิสระไม่ถูกกดดันแทรกแซงการทำงาน มีจุดปลายทางสร้างความสงบสุขต่อบ้านเมืองในอนาคต

อย่างกรณี “คดีดาราสาวตกน้ำเสียชีวิตปริศนา” อันมีเพื่อน 5 คนอยู่บนเรือขณะเกิดเหตุเป็นผู้รับรู้ความจริงทั้งหมด แต่หากว่า “กฎหมาย” ไม่อาจทำอะไรได้เลยเป็นแบบนี้ “สังคม” อาจจะเริ่มไม่สงบสุขขึ้นแน่ๆ

นี่เป็นเสียงสะท้อน “นักวิชาการ” จากการถอดบทเรียน “คดีดาราสาวตกน้ำเสียชีวิตปริศนา” เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพัฒนาต่อความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมที่จะเป็นแสงสว่างให้คนในอนาคต.