เมื่อวันที่ 11 ก.พ. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพาน้องกลับมาเรียน ว่า ในช่วง 1 เดือนนับจากริเริ่มโครงการฯ ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกหน่วยงานได้ร่วมกันค้นหาและติดตามน้องๆให้กลับมาเรียนได้จำนวน 42,316 คน จากจำนวนที่ต้องหลุดจากระบบการศึกษา 110,755 คน ซึ่งจะนำกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาของแต่ละต้นสังกัดเดิม ซึ่งแตกต่างกันไปตามสถานะทางการศึกษาก่อนหน้า แต่ขณะเดียวกัน ได้มีการสำรวจเพิ่มเติมพบผู้พิการที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ที่หลุดจากการศึกษาอีก 41,013 คน จึงเป็นภารกิจที่ทุกสังกัดของ ศธ.ต้องร่วมกันติดตามเด็กและเยาวชนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา 109,452 คน
รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า ในเดือน มี.ค.นี้ จะสามารถสรุปตัวเลขการติดตามนักเรียนจากทุกสังกัดของ ศธ.ที่มีข้อมูลได้ครบ และจะทราบได้ว่าเหลืออีกจำนวนเท่าไหร่ที่ต้องขอความร่วมมือกับพันธมิตร 11 หน่วยงานในการติดตามต่อไป สำหรับเด็กและเยาวชนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา หรือที่กำลังจะจบในภาคการศึกษานี้ ซึ่งรวมถึงผู้พิการด้วย แต่ครอบครัวไม่มีความพร้อมในการสนับสนุนทางการเงินเพื่อศึกษาต่อหรือการย้ายถิ่นฐาน หรือสูญเสียผู้นำครอบครัวหากมีความประสงค์จะเข้ารับการศึกษาต่อสายอาชีพ ทาง ศธ. โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ เป็นทางเลือกในการเสริมสร้างสมรรถนะ และความรู้ เพื่อสามารถมีอาชีพสร้างรายได้
ด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เด็กและเยาวชนที่สามารถติดตามตัวกลับมาได้ และกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว สพฐ.มีแผนงานในการติดตาม และเยี่ยมเยียนเด็กถึงบ้าน โดยใช้ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้รับการศึกษาต่ออย่างเหมาะสม.
...