ย้อนไปข่าวแรกของปีคือการพบไวรัสโรค “โควิด-19”...กลายพันธุ์ตัวใหม่ที่คลัสเตอร์เล็กๆในฝรั่งเศส ชื่อว่า B.1640.1 เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศแคเมอรูนจากผู้ป่วยรายแรก ไวรัสสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ทั้งหมด 46 ตำแหน่ง และมีส่วนที่ขาดหายไปของเบส (deletion) 37 ตำแหน่ง

ส่งผลให้มีกรดอะมิโนเปลี่ยนไปจากเดิม 30 ตำแหน่ง และ หายไป 12 ตำแหน่ง

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา สวทช. มองว่า ถ้าพิจารณาเฉพาะกรดอะมิโนบนโปรตีนหนามสไปค์ พบว่ามี 14 ตำแหน่งที่เปลี่ยน และ 9 ตำแหน่งที่หายไป

โดยตำแหน่งสำคัญที่พบรวมไปถึง N501Y และ E484K ด้วย การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้จากตำแหน่งที่กลายพันธุ์ไปคาดว่าจะมีผลเรื่องการหนีภูมิคุ้มกันได้คล้ายๆกับ...“โอมิครอน”

แต่...ขอจบด้วยข่าวดีว่า ไวรัสสายพันธุ์นี้คาดว่ามีแนวโน้มจะถูกกลืนด้วยโอมิครอน เพราะข้อมูลในฝรั่งเศสพบไวรัสสายพันธุ์นี้มาเกือบ 2 เดือนแล้ว ยังไม่ได้มีการพบการระบาดในประเทศมากขึ้นต่อจากคลัสเตอร์แรกที่พบ ซึ่งเมื่อเจอโอมิครอนที่วิ่งไวกว่า หนีภูมิอาจจะดีกว่า

...

“โอกาสของการกระจายตัวของไวรัสสายพันธุ์นี้ดูเหมือนน้อยลงไปด้วย...ยังไงก็ดี ข่าวนี้ทำให้เราเห็นว่าไวรัสแปลกๆพร้อมแสดงตัวได้ตลอดเวลาครับ”

ให้รู้ต่อไปอีกว่า...กลไกการเข้าสู่เซลล์เจ้าบ้านของไวรัสโรคโควิด-19 หรือ SARS-CoV2 เชื่อว่ามี 2 รูปแบบ คือ...หลังจากโปรตีนสไปค์จับกับโปรตีนตัวรับ ACE2 ที่ผิวเซลล์ ผิวอนุภาคของไวรัสจะหลอมรวมกับเยื่อหุ้มเซลล์และปลดปล่อยสารพันธุกรรมเข้าสู่เซลล์โดยตรง เรียกว่า Direct fusion

อีกกลไกหนึ่งคือ...หลังจากสไปค์จับกับ ACE2 แล้ว อนุภาคของไวรัสทั้งตัวจะถูกนำส่งเข้าสู่เซลล์ผ่านถุงเล็กๆเรียกว่า endosome และการหลอมรวมระหว่างผิวอนุภาคของไวรัสกับผิวของ endosome จะเกิดการปลดปล่อยสารพันธุกรรมของไวรัสออกมา เรียกว่า Endocytosis

ถึงแม้ว่าไวรัส SARS-CoV2 จะใช้ได้ทั้ง 2 กลไก แต่เนื่องจาก Direct fusion เกิดได้ไวกว่า ง่ายกว่า ไวรัสจึงเลือกใช้ช่องทางนี้เข้าสู่เซลล์ ไม่ว่าจะสายพันธุ์ดั้งเดิม Alpha Beta หรือ Delta ไม่แตกต่างกัน

ดังนั้นสารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งกลไก endocytosis อย่าง Hydroxychloroquine จึงใช้ไม่ค่อยได้ผลกับ SARS-CoV2

ข้อมูลที่ออกมาใหม่ค่อนข้างชัดเจนว่า “โอมิครอน”...แตกต่าง จากสายพันธุ์อื่น เพราะ โอมิครอนไม่เข้าสู่เซลล์ด้วยกลไก Direct fusion เหมือนสายพันธุ์อื่นๆ แต่ใช้ Endocytosis เป็นกลไกหลัก

ทำให้หลายคนเชื่อว่า อันนี้อาจเป็นสาเหตุที่โอมิครอนไปติดเซลล์แต่ละประเภทไม่เหมือนสายพันธุ์อื่นๆ เช่น ไปติดเซลล์ปอดได้ไม่ดีเท่า แต่ติดเซลล์หลอดลมได้ดีกว่า เป็นต้น

“อาจเป็นไปได้ว่าการรักษาที่ยับยั้งกลไก Endocytosis ที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดอาจจะถูกนำมาพิจารณาใช้รักษาการติดเชื้อโอมิครอนในอนาคตก็ได้ครับ ราคาถูกและไม่ต้องติดค่าสิทธิบัตรแพงๆ...ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าลุ้น น่าตื่นเต้นรับปีใหม่นี้เลยครับ”

พุ่งเป้าไปที่ไวรัสร้ายสายพันธุ์ “โอมิครอน”...ติดแล้วอาการไม่หนักอาจจะเป็นจริงสำหรับบางคน แต่ไม่ทุกคน โอมิครอนไม่ชอบติดเซลล์ปอดอาจจะเป็นจริงสำหรับบางคน แต่ก็ไม่ทุกคนเช่นเดียวกันครับ

ถ้าปล่อยให้ไวรัสติดกระจายเป็นวงกว้าง เชื้อไปได้ทุกกลุ่มความเสี่ยง จำนวนเคสผู้ติดเชื้อสูงขึ้น...ตัวเลขความสูญเสียจะไม่ต่างจากการระบาดช่วงที่เราคิดว่ารุนแรงกว่าโอมิครอนเลย

...

ที่ UK ตอนนี้มีเคสเสียชีวิตวันละ 334 ราย และ ป่วยเข้าโรงพยาบาลวันละ 2,258 ราย อาจจะดูไม่มากที่เทียบกับคนติดเชื้อวันละเป็นแสน ช่วง 7 วัน...คนเข้าโรงพยาบาลไป 11,005 คน มีผู้เสียชีวิตรวม 1,195 แสดงว่าอัตราเสียชีวิตในผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลสูงถึง 10% ทั้งๆที่ 61% ของประเทศได้วัคซีนเข็ม 3 กันแล้ว

“โอมิครอนจะรุนแรงน้อยลง เข้าโรงพยาบาลน้อยลงยังไง ความสูญเสียไม่ต่างและอาจสูงกว่า ถ้าเคสคนติดเพิ่มเป็นทวีคูณครับ ยังจะมีคนป่วยหนักและเสียชีวิตได้จากโอมิครอน อันนี้คือข้อเท็จจริงวันนี้ ส่วนภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดไม่เกิดเป็นสมมติฐานที่รอการพิสูจน์ไปอีก...กี่ปี?”

อาการ Long Covid ที่พบในผู้ป่วยโควิดที่หายแล้ว เป็นอีกประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่ง ดร.อนันต์ ย้ำว่า อาการลองโควิดพบได้ หลายรูปแบบครับ ที่มากที่สุดคือ...อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ผมร่วง นอนไม่หลับ และอื่นๆตามลำดับ

...

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเชิงลึกที่อธิบายได้ว่ากลไกใดหลังติดโควิดแล้วทำให้ผู้ป่วยมีอาการต่างๆเหล่านี้ได้ยาวนานหลังไวรัสหมดไปจากร่างกายแล้ว บางคน...เชื่อว่าเป็นผลจากแอนติบอดีบางชนิดที่ร่างกายสร้างขึ้นมาต่อต้านการติดเชื้อและผลพลอยได้ คือ ผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ

ข้อมูลที่ออกมาล่าสุดชัดเจนว่า Long Covid เกิดขึ้นในคนที่ได้รับวัคซีนครบ “น้อยกว่า” คนที่ไม่ได้รับวัคซีน แม้นว่าคนที่ได้รับวัคซีนอาจจะเคยติดเชื้อและมีอาการป่วยด้วย แสดงว่าภูมิจากวัคซีนมีส่วนช่วยยับยั้งหรือป้องกันกลไกการเกิด Long Covid ได้ในระดับหนึ่ง

ปัจจุบันข้อมูล Long Covid จาก “โอมิครอน” ยังไม่มีออกมาเปรียบเทียบกับโควิดตัวอื่นๆ แต่ด้วยจำนวนคนที่ติดโควิดมากกว่าการระบาดรอบก่อนๆ หลายคนเริ่มกังวลว่า Long Covid จะเป็นปัญหาหลักจากการติดโอมิครอน...หวังว่าภูมิจากวัคซีนจะช่วยลดปัญหานี้ลงได้ไม่มากก็น้อย

และ...ถ้าโชคดีจริงๆหวังว่าการกลายพันธุ์ของโอมิครอนจะทำให้กลไกการเกิด Long Covid เกิดได้น้อยลง...

...

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)” เสริมกรณี “โควิด-19” เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในเด็ก

รายงานล่าสุดจาก MMWR วันที่ 7 มกราคม 2022 ระบุว่า เด็กติดโควิด-19 รักษาหายแล้วมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มากขึ้นถึง 2.66 เท่า หรือ 166%

“การติดเชื้อไวรัสโรคทางเดินหายใจชนิดอื่นๆไม่ได้ทำให้เกิดลักษณะเช่นนี้”

ดูจะสอดคล้องกับแนวคิดที่ขณะนี้ทั่วโลกกำลังศึกษาว่า การติดเชื้อโควิดนั้นไม่ใช่ติดแค่เฉพาะระบบทางเดินหายใจ แต่จะก่อให้เกิดการอักเสบในระบบต่างๆของร่างกาย โดยจะก่อให้เกิดปัญหาในระบบหรืออวัยวะเหล่านั้นในเวลาต่อมา

“โรคเบาหวานในเด็ก”...ที่ติดเชื้อโควิดมาก่อนนั้น น่าจะเป็นตัวอย่างสำคัญของภาวะ Long COVID ที่จะส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังตลอดชีวิตได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองต้องช่วยกันดูแลเด็กๆ ลูกหลาน ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19 และควรพาไปฉีดวัคซีนนะครับ

“ไม่ติดเชื้อจะดีที่สุดครับ อย่าหลงกับคำล่อลวงหรือกิเลสให้ปล่อยปละละเลยหรือประมาท โควิด-19 ไม่กระจอก ไม่ธรรมดา สู้กับมันได้ อยู่กับมันได้ ถ้ายึดหลักวิชาการที่ถูกต้อง ไม่หลงต่อกิเลสความอยากได้อยากมีจนมองกงจักรเป็นดอกบัว”.