จะมีเกษตรกรสักกี่คนไม่เคยทำเกษตรมาก่อน พอเริ่มต้นพุ่งเป้าไปที่เกษตรอินทรีย์ แถมไปทำในดงที่มีการใช้สารเคมีกันอย่างกว้างขวาง จนโดนคนหาว่าบ้า...ที่สำคัญพื้นที่กว่า 11 ไร่ ทำกันแค่สองสามีภรรยา
“พื้นที่แถบนี้เดิมขึ้นชื่อเรื่องการใช้สารเคมีแห่งหนึ่งของประเทศ จนพ่อแม่ป่วยเป็นหลายโรคและเสียชีวิต ส่วนตัวมองว่าน่าจะมาจากการใช้สารเคมีต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน ที่ดินของครอบครัวเลยถูกปล่อยให้รกร้าง กระทั่ง 6-7 ปีที่แล้ว ตัดสินใจลาออกจากงานมาสานต่ออาชีพเกษตรกรรม พร้อมตั้งปณิธานจะไม่ใช้สารเคมีเกษตรอีก เพื่อให้คนในครอบครัวได้กินแต่อาหารปลอดภัย”

จงเจียม สายเพ็ชร เจ้าของไร่สายเพ็ชร ม.4 ต.หาดทนง อ.เมือง จ.อุทัยธานี หนึ่งในครัวเรือนต้นแบบในการน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน และแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ของกรมการปกครอง บอกถึงที่มาของการทำเกษตรอินทรีย์ จนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน

...
ถือเป็นสวนแรกในพื้นที่ที่ทำเกษตรโดยปราศจากสารเคมี 100% แรกๆเพื่อนบ้านเย้ยหยัน ทำแบบนี้ไม่มีทางได้กิน บางคนก็หาว่าเสียสติไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจ คิดเพียงว่าต้องการให้ครอบครัวได้กินอาหารปลอดภัยเป็นหลัก

จากนั้นเข้าอบรมตามศูนย์เรียนรู้ต่างๆ รวมถึงหาความรู้เพิ่มเติมจากโซเชียล เริ่มปลูกไผ่รอบสวนเป็นแนวกันชน ทำให้ได้หน่อไม้เป็นผลพลอยได้ ต่อมาเริ่มปลูกผักที่ชอบกิน ปลูกข้าวไว้กินเอง เหลือขายส่งแม่ค้าในตลาด ทำให้มีรายได้เฉลี่ยวันละประมาณ 300 บาท...เริ่มมีกำลังใจจากการมีรายได้จากผักที่ปลูก แม้จะไม่มาก แต่ก็ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อกิน

จากนั้นมองว่า ในพื้นที่น่าจะมีพืชที่หลากหลาย จึงออกแบบพื้นที่ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ แบ่งเป็นพื้นที่บ้าน 1 งาน นาข้าว 2 ไร่ ฝรั่งกิมจู 1.5 ไร่ กล้วยและมะม่วง 2.5 ไร่ ขุดสระเก็บน้ำและเลี้ยงปลา 1.5 ไร่ ผักปลอดสาร 2 ไร่ พื้นที่ปลูกไม้เศรษฐกิจ พื้นที่ทำน้ำหมักและปุ๋ย 2 ไร่

“เราพยายามอิงธรรมชาติให้มากที่สุด ใช้ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกบำรุงพืชบำรุงดิน รวมถึงแหนแดงที่เป็นได้ทั้งปุ๋ยและอาหารปลา ใช้ฟีโรโมนใส่ขวดน้ำล่อแมลงที่มาทำลายสวนฝรั่ง ใช้ทุกอย่างหมุนเวียนอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เศษผักผลไม้เหลือทิ้งนำมาเลี้ยงปลา เลี้ยงหมู แกลบเหลือทิ้งจากการสีข้าวก็นำมารองพื้นเลี้ยงหมู 2 เดือน เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนแกลบชุดใหม่ ชุดเก่าเอาไปทำปุ๋ย เป็ดปล่อยอิสระในนาข้าว ให้ช่วยแทะเล็มเพลี้ย แมลงต่างๆในนา แถมได้ไข่เป็ดอารมณ์ดี”

...
การปลูกพืชผสมผสานทำให้สวนแห่งนี้มีรายได้ทั้งรายวันรายสัปดาห์จากพืชผักสวนครัวหลากหลายชนิด มีรายได้จากพืชและไม้ผลตามฤดูกาลจากฝรั่ง กล้วย หน่อไม้ หมู เห็ด เป็ด ไก่ ปลา มีไม่ขาด แถมด้วยรายได้เสริมจากกิ่งตอนฝรั่ง ที่สำคัญมีเหลือยังแบ่งปันเพื่อนบ้าน ยิ่งในช่วงวิกฤติโควิดร่วมกับกรมการปกครองเอาผลผลิตส่วนหนึ่งไปบริจาคช่วยโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ เรียกได้ว่าได้ทั้งเงินได้ทั้งบุญ.
กรวัฒน์ วีนิล