คน-น้ำ-ป่า เป้าหมายสำคัญของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อสร้างแนวรบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

“คน” คือ ชาวบ้านหรือราษฎร ที่จะต้องจัดสรรที่ดินทำกินภายใต้ นโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีและให้ “คนอยู่กับป่า” ได้

“น้ำ” คือ การบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือกับฤดูฝนและภัยแล้งอันเนื่องมาจากฝนทิ้งช่วง

“ป่า” คือ หัวใจสำคัญที่ต้องปลูกเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศไทย ในปี 2564 จำนวน 400,000 ไร่

“คน-น้ำ-ป่า ล้วนสัมพันธ์กัน จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ นี่คือ นโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. เพราะหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ของไทย มาจากความต้องการใช้พื้นที่ในการเพาะปลูก ทำเกษตรกรรมของชาวบ้าน ที่สำคัญ ปัญหาการบุกรุกป่ายังนำไปสู่ ความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐผู้ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาป่าอีกด้วย

...

ดังนั้น การแก้ปัญหาประชาชนไร้ที่ดินทำกิน ตามแนวทาง “คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ” หรือ คทช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คือ การอนุญาตให้ประชาชนทำกินในพื้นที่ของรัฐ เช่น เขตป่าและพื้นที่สาธารณประโยชน์อื่นๆ จึงเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดส่งเสริมให้ชุมชนมีสิทธิทำกิน มีกติการ่วมกัน ไม่บุกรุกป่าเพิ่ม และเป็นแนวร่วมอนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืน โดยในปี 2564 ทส.มีเป้าหมายการจัด คทช.ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 12.5 ล้านไร่ โดยเร่งรัดดำเนินงานในพื้นที่ลุ่มน้ำ 3, 4, 5 ก่อนปี 2545 จำนวน 3.9 ล้านไร่ เป็นอันดับแรก แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 1.8 ล้านไร่ กลุ่มที่สอง 2.1 ล้านไร่ โดยในเดือน ส.ค.2564 จะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบพื้นที่ คทช.ที่ได้รับอนุญาตเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยขณะนี้ ให้ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) ในพื้นที่ทำแผนให้เสร็จภายในวันที่ 20 มิ.ย.นี้” นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส.ในฐานะหัวเรือใหญ่กล่าวถึงการดำเนินงานของ ทส.ปัจจุบัน

ขณะที่เรื่องน้ำ ถ้ามีป่า แล้วไม่มีน้ำ ป่าก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้น ต้องมีการบริหารจัดการน้ำให้ดี ทั้งนี้ ทส.ต้องดำเนินการภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งจะมีการบูรณาการเชื่อมโยงการจัดการน้ำทั่วประเทศผ่าน 10 มาตรการ เพื่อรับมือฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 การคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่ เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ มาตรการที่ 2 การบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก มาตรการที่ 3 ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลาง และเขื่อนระบายน้ำ มาตรการที่ 4 ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน มาตรการที่ 5 ปรับปรุง แก้ไข สิ่งกีดขวางทางน้ำ มาตรการที่ 6 ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา มาตรการที่ 7 เตรียมความพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ มาตรการที่ 8 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ มาตรการที่ 9 สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ และมาตรการที่ 10 ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย

...

“ทส.อยู่ในมาตรการที่ 7 และ 8 โดยจะมีหน่วยงานที่ขับเคลื่อนหลัก คือ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมทรัพยากรน้ำ ในการบูรณาการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน เตรียมแผนรองรับปริมาณน้ำฝนให้การกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ มีประสิทธิภาพสูงที่สุด กระจายน้ำไปยังพื้นที่ที่ค่าน้ำฝนน้อยกว่าปกติ รวมถึงเตรียมแผนป้องกันน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากในบางพื้นที่ด้วย เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศมีน้ำไว้สำหรับอุปโภคบริโภคและใช้เพื่อการเกษตรได้ตลอดทั้งปี โดยได้สั่งการให้แต่ละจังหวัดเร่งจัดทำแผนในการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม น้ำแล้ง ซ้ำซาก” ปลัด ทส.กล่าวและว่า “วันนี้ ทส.ต้องเร่งทำงานให้เร็วที่สุด ใช้นโยบาย 6 จ. คือ เจาะ จก จูง จ่าย แจก และใจ รวมถึงเน้นสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชนด้วย ที่สำคัญ เราต้องมองสถานการณ์ให้ชัด ว่าแต่ละขั้นตอนอยู่ในจุดไหนของห่วงโซ่ระบบน้ำ การทำงานของ ทส.ไม่มีใครเป็นฮีโร่ มีแต่คำว่าทีม ภายใต้คำว่า ทส.เป็นหนึ่งเดียว เพื่อน้ำของประชาชน น้ำแห่งอนาคต ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

ส่วนเรื่องการปลูกป่า ทส.ได้ดำเนินการปลูกป่าพร้อมกันทั่วประเทศ 400,000 ไร่ เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็น “วันต้นไม้ประจำปีของชาติ” แบ่งเป็น ป่าสงวนแห่งชาติ 164,000 ไร่ ป่าอนุรักษ์ 150,000 ไร่ ป่าชุมชน 75,000 ไร่ ป่าชายเลน 10,000 ไร่ และ ป่าพรุ 1,000 ไร่ โดยมีการเตรียมกล้าไม้ไว้ 142,690,000 กล้า เป็นของกรมป่าไม้ เป็นกล้าไม้ปี 2564 จำนวน 88,470,000 กล้า และกล้าไม้ค้างปี 14,000,000 กล้า กรมอุทยานฯ 39,220,000 กล้า และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 1 ล้านกล้า มีทั้งพะยูง มะค่าโมง สัก ยางนา ประดู่ป่า ตะแบก ฯลฯ ขนาดความสูงของกล้าไม้ 40 เซนติเมตรขึ้นไป

...

“ทส.วางเป้าหมายปลูกป่าไว้ 2,680,000 ไร่ ในเวลา 8 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2570 เป็นป่าสงวนฯ 1,030,000 ไร่ ป่าอนุรักษ์ 990,000 ไร่ ป่าชุมชน 500,000ไร่ ป่าชายเลน 150,000 ไร่ และป่าพรุ 10,000 ไร่ แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 ปี 2563 จำนวน 10,000ไร่ ระยะที่ 2 ปี 2564-65 จำนวน 800,000 ไร่ ระยะที่ 3 ปี 2566-70 จำนวน 1,870,000 ไร่ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ทั้งป่าบกและป่าชายเลน ให้กลับคืนมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ภายในปี 2570 นี่คือเป้าหมายสำคัญที่จะต้องทำให้สำเร็จ” นายจตุพร กล่าว

ส่วนในระยะปัจจุบัน ขอเชิญชวนคนไทยร่วมกันปลูกต้นไม้พร้อมกันทั่วประเทศ สามารถลงทะเบียนร่วมปลูกต้นไม้ได้ที่เว็บไซต์กรมป่าไม้ https://plant.forest.go.th/statistic นอกจากนี้ กรมป่าไม้ได้จัดเตรียมกล้าไม้พันธุ์ดีไว้แจกจ่ายให้ประชาชน ไปขอรับได้ที่สถานีเพาะชำกล้าไม้ทั่วประเทศ หรือ สอบถามข้อมูลได้ที่ส่วนเพาะชำกล้าไม้ เบอร์โทรศัพท์ 0-2561-4292 ต่อ 5551

“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า การดำเนินการทั้งเรื่อง คน-น้ำ-ป่า ไปพร้อมกัน นับเป็นเรื่องที่ดี

...

แต่สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของงาน คือ ผลสัมฤทธิ์ ว่า ปลูกป่าได้ผลดีหรือไม่? การบริหารจัดการน้ำทั่วถึงหรือไม่? คนอยู่ร่วมกับป่าได้หรือไม่?

ถ้าไม่มีผลสัมฤทธิ์ชัดเจน แสดงว่าสิ่งที่ดำเนินการไป ก็เท่ากับสูญเปล่า.

ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม