
กระแสกัญชา-กัญชง กำลังมาแรง มีงานวิจัยทยอยออกมามากมาย ล่าสุดมีงานวิจัยกัญชงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่ามีโปรตีนสูงมากเหมาะที่จะนำมาทำอาหารสัตว์ จึงเกิดความร่วมมือระหว่างองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และวิสาหกิจชุมชนพันธุ์บุรีรัมย์ นำกัญชงมาเป็นอาหารวัวนม

ข่าวแนะนำ
นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ อ.ส.ค.ทำการแทนผู้อำนวยการ เผยว่า จากที่มีการปลดล็อกกัญชง ให้ทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกร ภาครัฐ เอกชน ประชาชนทั่วไป สามารถขออนุญาตและนำกัญชงไปใช้ในทางการค้า การแพทย์ การศึกษาวิจัย พัฒนาและการผลิตเมล็ดพันธุ์รับรองได้ อ.ส.ค. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และสนใจในการนำทุกส่วนของกัญชงและของเหลือจากการเก็บเกี่ยว หรือการแปรรูปกัญชงมาศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มมูลค่าในการผลิตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะส่วนของกากเมล็ดกัญชงหลังจากที่บีบสกัดน้ำมันออกไปแล้ว
เพราะรายงานวิจัยเบื้องต้นพบว่า ส่วนกากเมล็ด มีโปรตีนและพลังงานสูง มีคุณค่าใกล้เคียงเทียบเท่ากากถั่วชนิดต่างๆ ที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยกากสกัดเมล็ดกัญชงมีโปรตีนรวม 29.15% ให้พลังงาน 4,785.24 แคลอรีต่อกรัม ยังพบเมื่อนำมาเป็นอาหารวัวนม นมที่ได้เพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะกรดไขมันที่ โดดเด่นอย่างโอเมก้า 3 และ 6 ปริมาณ 8.25 กรัมต่อกากเมล็ดกัญชง 100 กรัม รวมถึงกรดอะมิโนอีก 17 ชนิด ที่โดดเด่นคือ Glutamic acid, Leucine, Lysine และ Methionine ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในวัว ป้องกันโรคเต้านมอักเสบ

“เราจึงได้จับมือกับหน่วยงานพันธมิตร ดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆของกัญชงเป็นอาหารโคนม มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดการองค์ความรู้ในการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชงในรูปแบบต่างๆ เช่น การผลิตน้ำนมกัญชง การผลิตอาหารเสริมสำหรับโคนม ตลอดจนร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยไปยังเกษตรกร”
รองผู้อำนวยการ อ.ส.ค. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในเบื้องต้นจะใช้กากเมล็ดกัญชง ผสมในสูตรอาหารข้นเป็นอาหารวัว จากการศึกษาไม่พบผลกระทบต่อการทำงานของจุลินทรีย์ในกระเพาะรูเมนของวัว กระบวนการย่อยสลายโปรตีนในกระเพาะ และความสามารถในการย่อยอาหาร แต่กลับเพิ่มคุณภาพน้ำนม ให้มีกรดอะมิโน และโอเมก้าเพิ่ม ทำให้ราคานมวัวในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ที่สำคัญจะทำให้ลดการนำเข้ากากถั่วเหลืองจากต่างประเทศ และจะเป็นแนวทางในการนำไปผสมกับอาหารสัตว์ชนิดอื่นต่อไป.
