เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อม นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ รศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ หัวหน้าศูนย์มะเร็งรามาธิบดี ผศ.ดร.พญ.ณฐินี จินาวัฒน์ ประธานหลักสูตรเวชศาสตร์ปริวรรต และหัวหน้าธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร ร่วมกันแถลงข่าวลงนามความร่วมมือด้านธนาคารชีวภาพเพื่อโรคมะเร็งแบบครบวงจร
ศ.นพ.ปิยะมิตรกล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการนำความเชี่ยวชาญของ 2 หน่วยงานมาช่วยกันเก็บเลือดและเนื้อเยื่อมะเร็งชนิดต่างๆ เพื่อนำมาตรวจหาดีเอ็นเอ ลักษณะการดำเนินโรคการเกิดโรค การตอบสนองต่อยารักษาและวิธีรักษา ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การรักษาที่ตรงจุดมากที่สุด เป็นประโยชน์ต่อตัวคนไข้ที่เป็นเจ้าของเลือด หรือเนื้อเยื่อนั้นๆ นอกจากนี้ ยังจะเก็บเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อการศึกษาวิจัยหาโรคมะเร็งที่พบมากในไทย ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในจำนวนโรคมะเร็งที่มีจำนวนมากนั้น บางชนิดก็พบได้น้อยในชาติตะวันตก แต่พบมากในไทย อาทิ มะเร็งตับ มะเร็งที่ศีรษะและลำคอ ดังนั้นเราต้องมีการศึกษาโรคที่มีการพบในคนไทย อย่างไรก็ตามการเก็บเลือดและเนื้อเยื่อมะเร็งต้องมีการเอามาแช่แข็งในอุณหภูมิ-80 องศาเซลเซียส ซึ่ง รพ.รามาฯดำเนินการเรื่องนี้มาได้ 5 ปีแล้ว สามารถเก็บตัวอย่างเลือดและเนื้อเยื่อมะเร็งได้กว่า 2,000 ตัวอย่าง โดยในจำนวนนี้เป็นกลุ่มมะเร็งเต้านมร้อยละ 15 มะเร็งลำไส้ ร้อยละ 10 มะเร็งปอด ร้อยละ 10 และที่เหลือเป็นมะเร็งชนิดอื่นๆ ล่าสุดได้สร้างสถานที่เก็บเลือดและเนื้อเยื่อมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น จึงได้ร่วมมือกับสถาบันมะเร็งเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ในภาคใหญ่ขึ้น เป็นประโยชน์ในการวางแผนตรวจวิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาโรคได้ รวมถึงการพัฒนายารักษาที่ตรงจุดได้ในอนาคต และขณะนี้กำลังเล็งศึกษาโรคมะเร็งจอประสาทตาที่พบมากขึ้น
...
นพ.วีรวุฒิกล่าวว่า มะเร็งเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตในประชากรไทยมาตั้งแต่ปี 2541 และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีผู้ป่วยรายใหม่ 122,757 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 73,000 คน อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้ตรวจรักษามะเร็งได้อย่างแม่นยำขึ้น สามารถรักษาให้หาย และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ดังนั้น โรงพยาบาลต่างๆจึงมุ่งเน้นเรื่องการรักษาด้วยการแพทย์แม่นยำมากขึ้น.