ปฏิบัติการรวมพลังบริหารจัดการน้ำรับมือ "ปรากฏการณ์เอลนีโญ" 

โลกร้อน คนละลาย...

นี่คือปรากฏการณ์ความแปรปรวนของสภาพอากาศจาก “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” ที่ทั่วโลกสัมผัสได้กันถ้วนหน้า โดยเฉพาะประเทศไทยที่ร้อนชนิดปรอทแทบแตก ทะลุเกิน 40 องศา ทุกภาคของประเทศ

และสิ่งที่ตามมาติดๆคือ ประเทศไทยปี 2562 ต้องประสบกับสถานการณ์ “ภัยแล้ง” หนักหนาสาหัสที่สุดในรอบ 30 ปี ตามการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ระบุว่า ฤดูร้อนปีนี้มาเร็วและนานกว่าทุกปี จากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่กินเวลาตั้งแต่เดือน ก.พ.ยาวจนถึงเดือน พ.ค. และมีอุณหภูมิร้อนมากกว่าค่าปกติราว 1-2 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำฝนและระดับน้ำในเขื่อน

จากข้อมูลล่าสุดของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่า ปีนี้มีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างมาก ในภาคอีสานตอนล่างมีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึง 40% โดยเฉพาะพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และบางส่วนของ จ.ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา และเลย ส่วนพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางก็มีฝนตกค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะ จ.สุโขทัย ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี และสุพรรณบุรี ทำให้น้ำไหลลงเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งในภาคอีสาน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางมีน้อยมาก

...

ขณะที่สถานการณ์น้ำใน 36 เขื่อนขนาดใหญ่ จากข้อมูลวันที่ 21 เม.ย.2562 ระบุว่า มีน้ำทั้งประเทศรวม 41,730 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุเก็บกัก โดยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อย ป่าสักฯ มีน้ำใช้การ 5,620 ล้าน ลบ.ม. แม้จะเพียงพอต่อการใช้น้ำตลอดช่วงฤดูแล้งและรองรับช่วงฝนทิ้งช่วงในเดือน มิ.ย.–ก.ค. แต่ก็ถือว่าเสี่ยง

สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ น้ำต้นทุนมีน้อย ปัจจุบันมีน้ำใช้การเพียง 19 ล้าน ลบ.ม.สถานการณ์ภัยแล้งจึงมีความเสี่ยง เพราะไม่เพียงร้อนมาก แล้งมาก แต่ฝนในฤดูฝนปีนี้จะมาช้าและมีฝนน้อย ลักษณะฝนในประเทศไทยไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยของเอลนีโญเท่านั้น แต่ยังมี 2 ดัชนีที่มีอิทธิพลต่อปริมาณฝนที่ตก ได้แก่ ดัชนีมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือและดัชนีมรสุมในฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจากการคาดการณ์ของ สสนก.ระบุว่า จะมีฝนน้อยกว่าเฉลี่ยและมีฝนตกน้อยบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

การรับมือภัยแล้ง จึงเป็นสิ่งสำคัญ หนึ่งในหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

“พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทส. สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำจัดเตรียมชุดผลิตน้ำประปาเคลื่อนที่จากน้ำผิวดินและใต้ดิน 2 ชุด ระบบผลิตน้ำประปาชนิด RO 2 ชุด เครื่องสูบน้ำ 311 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 63 คัน และจัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์น้ำ 12 แห่งทั่วประเทศ เพื่อติดตาม รายงาน และให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ ทั้งยังได้ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำ เพิ่มน้ำต้นทุน 17,827 แห่ง และระบบกระจายน้ำ 751 แห่ง ส่วนกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้สนับสนุนน้ำต้นทุนหรือจุดจ่ายน้ำถาวร 132 จุด พร้อมชุดเจาะบ่อน้ำบาดาล 85 ชุด ชุดปรับปรุงคุณภาพน้ำเคลื่อนที่ 18 ชุด และชุดซ่อมระบบประปาและเครื่องสูบ (หน่วยนาคราช) 37 ชุด เพื่อช่วยเหลือประชาชน” นายโสภณ ทองดี ผู้ตรวจราชการและโฆษก ทส.กล่าวถึงความพร้อม

นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ร่วมมือกับกองทัพบก การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ ปตท. ดำเนินการโครงการ “ราษฎร์รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง 62” โดยได้เปิดตัวไปแล้ว มีศูนย์ดำเนินการใน 8 แห่ง ได้แก่ มณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี จ.ลำปาง, มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่, กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ จ.พิษณุโลก, มณฑลทหารบกที่ 23 จ.ขอนแก่น, สโมสรร่วมเริงไชย จ.นครราชสีมา, กองทัพภาคที่ 4 จ.นครศรีธรรมราช, มณฑลทหารบกที่ 42 ค่ายเสนาณรงค์ จ.สงขลา และกองบัญชาการกองทัพบก กรุงเทพฯ

ด้าน นายสุวัจน์ เปี่ยมปัจจัย อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวเสริมว่า ปี 2562 กรมทรัพยากรน้ำได้รับงบประมาณจัดทำโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งน้ำ 274 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 29 โครงการ และโครงการระบบกระจายน้ำ 23 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 5 โครงการ นอกจากนี้ได้ช่วยเหลือเพื่อบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้ง โดยการสูบน้ำเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุน 24.274 ล้าน ลบ.ม. แจกจ่ายน้ำ 3,474,600 ลิตร แจกจ่ายน้ำดื่มสะอาด 393,339 ลิตร น้ำดื่มบรรจุขวด 13,652 ขวด ประชาชนที่ได้รับประโยชน์ด้านการอุปโภคบริโภค 330,028 ครัวเรือน พื้นที่เกษตรกรรม 84,250 ไร่ ซึ่งมีเครื่องมือพร้อมช่วยผู้ประสบภัย ประกอบด้วย รถบรรทุก 63 คัน เครื่องสูบน้ำ 311 เครื่อง และเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญเหตุวิกฤติน้ำกว่า 171 คน

...

“ล่าสุด พล.อ.สุรศักดิ์สั่งการให้เร่งแก้ปัญหาภัยแล้งใน 5 จังหวัดตามมติ ครม.วันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้แก่ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครราชสีมา ตราด และชลบุรี รวมทั้งอีก 25 จังหวัดแล้ง” นายโสภณระบุทิ้งท้าย

“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า สถานการณ์ร้อนแล้งปีนี้ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนค่อนข้างมากจริงอยู่ภัยแล้งเป็นภัยธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่เราคงต้องขอฝากไปถึงระดับผู้บริหารประเทศคือ ควรเร่งลงทุนการบริหารจัดการน้ำและระบบชลประทานโดยด่วน โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณด้านนี้เพิ่มขึ้นเพื่อพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่

อย่าปล่อยให้โลกร้อน ภัยแล้ง ที่วนเวียนมาทุกปีผ่านมาแล้วก็ผ่านไป มาตรการรับมือก็ยังคงเหมือนเดิม ไม่มีอะไรใหม่เลยและคนไทยต้องเผชิญกับภัยแล้งซ้ำซากทุกปี.

ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม