“สื่อโซเชียลมีเดียกลายเป็นช่องทางที่พวกมิจฉาชีพใช้หากิน โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เปรียบเหมือนประตูหน้าต่างเปิดให้คนร้ายเข้ามาอย่างไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับแก๊งโรแมนซ์สแกมวางอุบายหลอกเหยื่อให้โอนเงินให้ หากรู้เท่าทันโจรก็ไม่มีทางต้มเรากินได้”

แก๊ง Romance Scam หรือเรียกว่า แก๊งแสร้งรักออนไลน์ จากโจรสิบแปดมงกุฎต่างชาติต้มตุ๋นหลอกเหยื่อให้โอนเงิน แม้โดนตำรวจจับแล้วจับอีกก็ไม่สูญพันธุ์ยังออกอาละวาดสร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาล

ผู้ต้องหาที่ถูกจับได้ร้อยทั้งร้อยเป็นคนผิวสี มีวิธีใช้อุบายหลอกที่ดูเหมือนพื้นๆ ไม่น่าเชื่อกลับตรงกันข้ามได้ผลมาแล้วนักต่อนัก

โจรโรแมนซ์สแกมที่ทลายไม่หมด เพราะมีหลายคนแตกหน่อออกไป ลูกสมุนบางคนสะสมวิชาจนเจนจัดก็แยกวง ผันตัวเป็นหัวหน้าหาลูกน้องตั้งทีมขึ้นใหม่

จากการรวบรวมสถิติคดีโรแมนซ์สแกมของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) ตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.61 ถึงวันที่ 26 มี.ค.62 รวมระยะเวลา 9 เดือน ได้รับแจ้งเหตุจำนวน 296 คดี มีผู้ตกเป็นเหยื่อโดนหลอกให้โอนเงิน มูลค่าความเสียหายรวม 157,926,842 บาท

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มี.ค.62 ชุด ศปอส.ตร.สามารถอายัดเงินจากบัญชีธนาคารของคนร้ายได้ทัน นำเงินคืนให้ผู้เสียหายได้ 23 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,574,987 บาท

บ่งชี้ให้เห็นว่า ขนาดถูกจับถูกเปิดโปงเตือนให้ระวังก็ไม่วายมีคนตกเป็นเหยื่อจนได้

พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ ผบก.จร. บช.น. หนึ่งในชุดจับกุม แฉถึงวิธีการหลอกของคนร้ายว่า แก๊งแสร้งรักออนไลน์จำเป็นต้องอาศัยคนไทยเข้ามาช่วยอาจเป็นแฟนผู้ต้องหา หรือรับจ้างมา จัดแจงเปิดบัญชีธนาคารเอาไว้คอยท่า

เริ่มต้นด้วยการหาทางติดต่อเป้าหมายโดยใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย “เฟซบุ๊ก” มากที่สุด คนร้ายจะมาแอดขอเป็นเพื่อน ใช้โปรไฟล์รูปผู้ชายหรือผู้หญิงชาวต่างชาติหน้าตาดี ระบุข้อมูลประกอบอาชีพการงานที่มั่นคง เงินเดือนสูง อาทิ นักบิน ทหาร แพทย์ วิศวกร เชฟโรงแรมหรู เป็นต้น

...

สวมรอยอ้างตัวหลอกเหยื่อได้แนบเนียนไม่ว่า ผู้หญิงหรือผู้ชาย

ถ้าจับเหยื่อได้แล้วก็จะจีบป้อนคำหวานหลอกล่อใช้จิตวิทยาทำให้เกิดหลงรัก ติดต่อกันโดยใช้โปรแกรมไลน์ หรือแชตข้อความกันทางเฟซบุ๊ก น้อยมากที่จะโทรศัพท์คุยกัน

ใช้เวลาสานความสัมพันธ์กันไม่ต่ำกว่า 3 เดือน

พอเหยื่อตายใจหลงเชื่อก็ใช้อุบายหลอกว่า จะส่งของไปให้ เช่น แหวนเพชร หรือของมีค่ามาหมั้น เพราะต้องการเดินทางไปใช้ชีวิตคู่อยู่ที่เมืองไทยด้วยกัน

ถัดไปไม่กี่วันก็มีคนโทร.ไปหาเหยื่อ อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ หรือพนักงานบริษัทส่งพัสดุ แจ้งว่ามีผู้ส่งพัสดุมาให้จากต่างแดน เป็นสิ่งของที่มีราคาแพงมูลค่าหลายล้านบาท

ผู้รับต้องจ่ายเงินค่าภาษีก่อน จำนวนตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสนบาท

ซ้ำยังพูดกดดันว่า ต้องจ่ายวันนี้เป็นวันสุดท้ายถ้าไม่รีบตัดสินใจ พัสดุจะถูกตีกลับไปต้นทางที่ต่างประเทศ และบอกด้วยว่า มีกรณีพิเศษถ้าโอนสตางค์ด่วนจะดำเนินการวิธีลัดให้ พร้อมแนบใบเสร็จส่งของอย่างรวดเร็วเพียง 3 ชั่วโมงก็ถึงบ้านเหยื่อรอรับของเก้อ สุดท้ายถึงรู้ตัวว่าถูกหลอก

ผู้ตกเป็นเหยื่อแต่ละรายมียอดโอนเงินขั้นต่ำ 3 หมื่นบาท มีรายหนึ่งมากที่สุดจำนวน 26 ล้านบาท หลายรายไม่แจ้งความเพราะกลัวคู่ชีวิตรู้เข้าเกรงว่าเรื่องบานปลายเกิดปัญหาในครอบครัว

คนร้ายมักพูดคุยหลอกถามเก็บข้อมูลดูว่า เหยื่อมีฐานะร่ำรวย ทำธุรกิจหรือไม่ ต้องการหลอกเอาเงินให้ได้จำนวนมากที่สุด มันหว่านแหขอเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กหลายร้อยคน วันๆเพียงนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์หรือกดสมาร์ทโฟน

จ้องรอเวลาตะครุบเหยื่อเพียงแค่นี้ก็กวาดรายได้นับร้อยล้าน

จุดตายที่หลายคนต้องกลายเป็นเหยื่อเพราะความรัก ความหลง ความโลภ ไม่ทันคน โดยเฉพาะหญิงโสดวัยตั้งแต่ 50 ขึ้นไปโดนหลอกมากที่สุด

“ถามว่าข่าวออกโครมๆ แต่ทำไมยังมีคนตกเป็นเหยื่อเรื่อยๆ เพราะเขาไม่รู้เป็นคนละกลุ่มกัน ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร อย่าง แก๊งตกทอง แก๊งตกพระ เกิดขึ้นมามากกว่า 50 ปี แต่ปัจจุบันทำไมก็ยังเอาไปใช้ตุ๋นเหยื่อได้อยู่ แก๊งโรแมนซ์สแกมก็ไม่ต่างกัน” พล.ต.ต.นิธิธร บอก

คนผิวสีแก๊งโรแมนซ์สแกม มักมีจิตวิทยาสูง มีวาทศิลป์ดี และความอดทนสูง วางเพทุบายจุดหมายหลอกเหยื่อโอนเงินให้แล้วก็เชิดเงินหนี

เจ้าตัวบอกว่า ขณะนี้ชุด ศปอส.ตร. ปราบปรามกวาดล้างจับกุมผู้ต้องหาแก๊งโรแมนซ์สแกมไปได้จำนวนมาก ตอนนี้คนโดนหลอกลดน้อยลงคนแจ้งเบาะแสมีมากกว่า เพราะบางคนแค้นแฉข้อมูลกระจายข่าวลงในโลกออนไลน์ ประกาศเตือนไม่ให้ใครกลายเป็นเหยื่อพวกมันอีกต่อไป

การป้องกันที่ดีสุดต้องใช้สื่อมวลชนแถลงข่าวป่าวประกาศช่วยได้ดีที่สุด คนที่ไหวตัวทันถูกคนร้ายติดต่อมาก็แจ้งเบาะแสให้ตำรวจทราบ สิ่งสำคัญใครที่รู้ก็บอกเตือนต่อๆกันไปทำให้ต่างคนต่างมีภูมิคุ้มกันโจร

วิธีการหลีกเลี่ยง การโดนหลอก ทางโซเชียล ต้องจับผิดให้ได้ว่าใช่คนเดียวกันหรือเปล่ามี 3 ข้อหลักดังนี้

1.สังเกต-โปรไฟล์ นางฟ้า/เทพบุตร ชีวิตติดหรู-มีเพื่อนเยอะไหม มีใครมา “แท็ก” หรือ “เมนต์” บ้างไหม-วันเกิด มีเพื่อนอวยพร หรือแท็กรูปบ้างไหม

2.ค้นหา-นำชื่อโปรไฟล์ ไปเสิร์ช “กูเกิล” อาจจะเจอผลลัพธ์ที่มากมายดูว่าสอดคล้องกันหรือไม่-เซฟรูปที่มีในเฟซบุ๊ก ไปกูเกิล เลือก “ค้นรูป” อาจโป๊ะแตกเจอเจ้าของภาพตัวจริง

3.จู่โจม-ชวนเปิดกล้องไปเลย VDO Chat กล้าไหม-ย้อนศร จะส่งของไปให้ ขอที่อยู่ บัญชีธนาคารถ้าไม่ตรงฟันธงเลยว่า “ปลอม”

กรณีผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงแต่ยังไม่ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ สามารถรีบมาแจ้งได้ที่ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ถนนพระราม 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โทร.0-2251-9793

...

แอปพลิเคชันไลน์ (ศปอส.ตร.) หรือเฟซบุ๊ก ของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบช.สตม.

หากรู้ตัวว่าถูกหลอกให้รีบแจ้งที่สายด่วนโทร.1155 และโทร.1710 โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการอายัดเงินไว้

พวกแก๊งต้มตุ๋นหากรู้แกวพวกมันเสียก่อนแล้ว

ไม่ว่ามันมาไม้ไหน...ก็ไม่มีวันตกเป็นเหยื่อโจร.