ลุ่มน้ำเจ้าพระยาน้ำท่วมทุกปี รัฐบาลได้มีการสำรวจและจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) จึงได้มีการจัดทำแผนแก้ปัญหา 9 โครงการ

โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร, โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน, โครงการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่รับน้ำนอง, โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง, โครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก, โครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่ 3 และโครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก

“หลายโครงการได้เริ่มดำเนินการแล้ว โครงการล่าสุดที่กำลังดำเนิน คือ โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร กรมชลประทานได้ดำเนินการวางแนวเขตเสร็จสิ้นแล้ว และที่ผ่านมาได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียด พร้อมดำเนินกระบวนการการมีส่วนร่วม ลงพื้นที่รับฟังข้อคิดเห็น ตลอดจนพบปะกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการฯมาอย่างต่อเนื่อง มีราษฎรได้รับผลกระทบยื่นขอรังวัด 482 แปลงจากทั้งหมด 740 แปลง ล่าสุดได้ดำเนินการจ่ายค่าที่ดินและค่ารื้อย้ายบริเวณปลายคลองระบายน้ำหลากแล้วจำนวน 52 แปลง” ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงความคืบหน้า

คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร มีความยาว 22.5 กม. สามารถตัดยอดน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ไม่ให้หลากเข้าท่วมเมืองพระนครศรีอยุธยาและพื้นเกษตร ยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ในคลองได้อีก 25 ล้าน ลบ.ม. โดยจะจัดสรรน้ำไว้ใช้เพื่ออุปโภค-บริโภค 15 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมให้กับพื้นที่ 362 หมู่บ้าน ที่เหลือจะเป็นน้ำต้นทุนสำรองให้พื้นที่เกษตรในช่วงฤดูแล้ง 230,000 ไร่

...

นอกจากนี้ คันคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ยังจะมีการสร้างถนนที่ได้มาตรฐาน สามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างอำเภอบางบาล-อำเภอบางไทรได้ และยังจะมีการปรับภูมิทัศน์ให้สอดคล้องกับพื้นที่ จะใช้ระยะเวลาดำเนินงานประมาณ 5 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566.


สะ-เล-เต